ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. อาปิโก ไฮเทค” ที่ “BBB+/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 5, 2016 13:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลำดับที่ 1 ในประเทศไทย ตลอดจนการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายราย โครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้น อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ค่อนข้างสูง และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากอัตรากำไรที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำของชิ้นส่วนรถยนต์แบบปั๊มขึ้นรูปและธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทยมีจำนวนไม่มาก และลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมรถยนต์

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลัก รวมถึงสถานะทางการเงินที่ยอมรับได้เอาไว้ได้

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากความสามารถในการทำกำไรหรือโครงสร้างทางการเงินของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน ซึ่งอาจเห็นได้จากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ลดลงต่ำกว่า 5% หรืออัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงเกินกว่า 50% เป็นระยะเวลานาน

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับขึ้นหากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจไปสู่สินค้าที่มีอัตรากำไรสูงขึ้น โดยอาจพิจารณาได้จากอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 15% เป็นระยะเวลานาน

บริษัทอาปิโก ไฮเทค เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย โดยบริษัทก่อตั้งในปี 2539 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 ณ เดือนมีนาคม 2559 ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท 2 รายประกอบด้วยตระกูลเย็บ (Yeap) และโซจิทสึ คอร์ปอเรชั่น (Sojitz Corporation - Sojitz) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 39.9% และ 15.8% ตามลำดับ

สถานะทางธุรกิจของบริษัทค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยบริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Original Equipment Manufacturer - OEM) และธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โดยชิ้นส่วนรถยนต์หลักที่บริษัทผลิต ได้แก่ โครงช่วงล่างรถกระบะ และชิ้นส่วนปั๊มขึ้นรูป ส่วนธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นั้น บริษัทจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ดและมิตซูบิชิในประเทศไทยและจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในประเทศมาเลเซีย ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สร้างรายได้ 60%-70% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจในประเทศไทยมีสัดส่วนประมาณ 70%-80% ของรายได้ทั้งหมด ตามด้วยธุรกิจในประเทศมาเลเซียประมาณ 15%-25% และประเทศจีนประมาณ 3%-5% ของรายได้ทั้งหมด

บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในประเทศไทย เช่น อีซูซุ ออโต้อัลลายแอนซ์ (บริษัทร่วมทุนระหว่างฟอร์ดและมาสด้า) ฟอร์ด นิสสัน โตโยต้า ฮอนด้า เจนเนอรัล มอเตอร์ และมิตซูบิชิ เป็นต้น สถานะการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลำดับที่ 1 ของบริษัทได้รับการปกป้องจากการมีอุปสรรคสูงในการเข้าสู่ตลาด เช่น การลงทุนที่สูงและต่อเนื่อง การมีประวัติการดำเนินงานที่ดี และการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์ ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทคือ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (อีซูซุ) ซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนลูกค้าหลักรายอื่น ๆ ได้แก่ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (ออโต้อัลลายแอนซ์) และ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (นิสสัน) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% และ 6% ของรายได้ทั้งหมดตามลำดับ ทั้งนี้ ยอดการผลิตรถยนต์รวมเฉพาะของอีซูซุ ฟอร์ด มาสด้า และนิสสันนั้นครอบคลุมส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีขนาดใหญ่ของลูกค้าเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างสอดคล้องกับอุปสงค์ของรถยนต์ในประเทศไทยและในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของบริษัทถูกลดทอนบางส่วนจากการมีอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบปั๊มขึ้นรูปและธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ รวมถึงความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าเนื่องจากการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่จำนวนน้อยราย

รายได้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาทในปี 2558 ลดลงเล็กน้อยจากประมาณ 15,200 ล้านบาทในปี 2557 โดยรายได้ของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ลดลง 5.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการอ่อนค่าของเงินริงกิตมาเลเซียเมื่อเทียบกับเงินบาท อย่างไรก็ตาม รายได้ของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ยังขยายตัวได้เล็กน้อย 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าหลักของบริษัท รายได้ของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ประมาณ 3,900 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักโดยเพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีซูซุ ฟอร์ด และมาสด้ารายงานปริมาณขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 โดยปริมาณขายของอีซูซุเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ฟอร์ดเพิ่มขึ้น 22.2% และมาสด้าเพิ่มขึ้น 28.6% จากการออกรถรุ่นใหม่ๆ อย่างอีซูซุ ดี-แม็กซ์ และฟอร์ด เอเวอร์เรสต์ และจากผลของความต้องการซื้อที่ยังแข็งแกร่งในรถบางรุ่น เช่น มาสด้า 2 และฟอร์ด เรนเจอร์ ซึ่งช่วยหนุนรายได้ของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัท ในขณะที่รายได้ของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการอ่อนค่าของเงินริงกิตมาเลเซีย ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 16,000 ล้านบาทในปี 2561 ความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัทซึ่งยังแข็งแกร่งจะช่วยหนุนรายได้ของบริษัทให้เพิ่มขึ้นได้แม้จะอยู่ภายใต้ภาวะชะลอตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ โรงงานแห่งใหม่ของฟอร์ดซึ่งมีกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปีก็น่าจะช่วยสนับสนุนให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเมื่อฟอร์ดเร่งการผลิตเพิ่มขึ้น

สถานะทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจจากความพยายามในการลดภาระหนี้สินและการลดต้นทุนต่าง ๆ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน) ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.9% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จาก 7.6% ในปี 2558 การฟื้นตัวของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนความพยายามในการลดต้นทุนต่าง ๆ ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และการเปลี่ยนแปลงส่วนผสมธุรกิจ โดยธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ให้อัตรากำไรต่ำมีสัดส่วนรายได้ที่ลดลงเมื่อเทียบกับรายได้รวม ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 8%-10% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 55.3% ในปี 2554 เป็น 33.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 โดยนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่เข้มงวดมากขึ้นส่งผลทำให้ความต้องการเงินทุนลดต่ำลง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องและทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ในช่วงปี 2560-2561 เนื่องจากบริษัทไม่มีแผนลงทุนขนาดใหญ่ แผนการเติบโตหรือ “TURBO” Plan ของบริษัทที่จะเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นเท่าตัวเป็น 30,000 ล้านบาทภายในปี 2563 ไม่น่าจะทำให้มีการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเงินลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ถาวรคาดว่าจะอยู่ที่ปีละประมาณ 400-500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า และแม้ว่าบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรหรือการลงทุนอื่นๆเพิ่มเติม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50%

สภาพคล่องของบริษัทมีเพียงพอ โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่มากกว่า 20% สะท้อนระดับที่ยอมรับได้ตามการประเมินของทริสเรทติ้ง อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 34.6% (ปรับปรุงเป็นรายปีโดยคิด 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จาก 28.5% ในปี 2558 อันเนื่องมาจากความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นและระดับการก่อหนี้ที่ลดลง ในขณะที่อัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 10.6 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จาก 7.5 เท่าในปี 2558 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 35%-45% และอัตราส่วนกำไรต่อดอกเบี้ยจ่ายจะทรงตัวอยู่ในระดับมากกว่า 8 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ปีละ1,100-1,300 ล้านบาทซึ่งสามารถรองรับเงินกู้ที่ครบกำหนดในแต่ละปีและแผนลงทุนในสินทรัพย์ถาวรรวมกันปีละ 1,000-1,500 ล้านบาทได้เกือบทั้งจำนวน นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินสดและสินทรัพย์ในความต้องการของตลาดอีกกว่า 300 ล้านบาทและวงเงินหมุนเวียนที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 เอาไว้เป็นแหล่งเงินทุนอีกส่วนหนึ่งด้วย

บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) (AH)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
AH184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ