ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตพันธบัตรรัฐบาลวงเงินไม่เกิน 11,000 ล้านบาท “สปป. ลาว” ที่ระดับ “BBB+/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 8, 2016 17:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตพันธบัตรของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) มูลค่ารวมในวงเงินไม่เกิน 11,000 ล้านบาทที่ระดับ “BBB+” พร้อมทั้งยังคงอันดับเครดิต สปป. ลาว และพันธบัตรที่ออกโดย สปป. ลาว ที่ระดับ “BBB+” ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการออกพันธบัตรดังกล่าวจะนำไปใช้เพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้จากธนาคารพาณิชย์

อันดับเครดิตสะท้อนถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ สปป. ลาวที่แข็งแกร่งแม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้างในปีที่ผ่านมา ตลอดจนการมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่เป็นสากลและขจัดความยากจน อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตถูกจำกัดจากภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการส่งออกและรายได้ของรัฐบาลที่ชะลอตัวลง ข้อจำกัดของระบบข้อมูลของภาครัฐ การเกิดใหม่ของตลาดทุนในประเทศ และการพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่ารัฐบาล สปป. ลาว จะมีความสามารถและความตั้งใจในการชำระหนี้ภายใต้สมมติฐานที่หนี้ต่างประเทศของภาครัฐจะอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 40 ถึง 50 ของ GDP นอกจากนี้ ภาระหนี้รายปีที่ต้องชำระก็คาดว่าน่าจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 45 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระยะปานกลาง อย่างไรก็ดี อัตราส่วนดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอนาคตเมื่อเงินกู้และเงินช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศถูกแทนที่ด้วยเงินกู้จากนักลงทุนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” ยังสะท้อนถึงความคาดหมายว่ารายได้ของรัฐบาลจากภาษีอากรจะยังคงเพิ่มขึ้นและรายได้จากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าตามสัญญาที่ทำไว้

ในทางตรงกันข้าม หากภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลเพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับร้อยละ 60 ของ GDP อย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของ สปป. ลาว เพิ่มขึ้นอย่างมากและรัฐบาลลาวก็จะเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย ความสามารถในการชำระหนี้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศจะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การลดลงของรายได้ทั้งที่มาจากภาษีและที่ไม่ได้มาจากภาษีของรัฐบาล การลดลงของรายได้จากการส่งออก หรือการลดลงของการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสองประการหลังจะเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากการลดลงของหนี้ต่างประเทศของภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง รวมทั้งเมื่อมีการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือการลดลงของภาระหนี้ที่ต้องชำระเป็นเงินตราต่างประเทศ

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ซึ่งประเมินจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) ขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตที่แท้จริงประมาณร้อยละ 7 ต่อปี ในปีงบประมาณ 2558/2559 โดยลดลงจากปี 2557 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 7.8 และคาดว่าจะเท่ากับ 12.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 ในขณะเดียวกัน รายได้ต่อหัวของประชากรในปี 2558 เท่ากับ 1,821 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 1,690 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 อย่างไรก็ดี รายได้ของรัฐบาลในปี 2558 ลดลงเล็กน้อยภายหลังจากที่เคยมีอัตราเพิ่มมากกว่าร้อยละ10 ต่อปีอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาในช่วงระหว่างปี 2553 ถึงปี 2556

หนี้ต่างประเทศของภาครัฐของ สปป. ลาว ในปี 2558 มีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 53.8 ของ GDP และคาดว่าอาจสูงขึ้นเป็นร้อยละ 54.67 ในปี 2559 ก่อนที่จะลดลงในปีถัดๆ ไปเนื่องจากการนำเงินจากการออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อใช้ชำระคืนหนี้เดิม หนี้ของรัฐบาลส่วนมากใช้ไปเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งนี้ ในปี 2558 มากกว่าร้อยละ 80 ของหนี้ต่างประเทศภาครัฐเป็นหนี้เงินกู้จากองค์การระหว่างประเทศและหนี้เงินกู้ทวิภาคีระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ภาระหนี้ที่ต้องชำระ (Debt Service) จะสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 59.5 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ สปป. ลาว ณ สิ้นปี 2559 นี้และคาดว่าจะลดลงในปี 2560 และปี 2561 จากการนำเงินกู้ที่ได้จากการออกพันธบัตรที่มีอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำกว่ามาชำระคืนหนี้เงินกู้เชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า

จากข้อมูลของกระทรวงการเงินแห่ง สปป. ลาว ระบุว่ารัฐบาลกู้เงินเพียงส่วนน้อยจากในประเทศ ซึ่งเท่ากับประมาณร้อยละ 15 ของ GDP ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นและยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะปานกลางเนื่องจากรัฐบาลของ สปป. ลาว ยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในโครงการของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐในขณะที่แหล่งเงินทุนในประเทศในปัจจุบันยังมีจำกัด ภาระหนี้ต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้รัฐบาล สปป. ลาวมีความเสี่ยงในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวนี้ลดทอนลงบางส่วนเนื่องจากหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล สปป. ลาว ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้ซึ่งเป็นทวิภาคีและองค์การระหว่างประเทศ

แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปของ สปป. ลาว จะชะลอตัวในปี 2558 แต่กระทรวงการเงินแห่ง สปป. ลาว ยังคงคาดว่ารายได้จากภาษีอากรในปีงบประมาณ 2557/2558 จะยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.3 ในขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ภาษีมีอัตราเพิ่มที่ชะลอตัวลงเนื่องจากรายได้ในรูปของเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ลดลงเป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2557/2558 ซึ่งลดลงร้อยละ 12.5 จากปีก่อนหน้า

ค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระคืนหนี้เงินกู้จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในระยะปานกลางเนื่องจากหนี้เงินกู้จากองค์การระหว่างประเทศจะทยอยครบกำหนดและถูกแทนที่ด้วยหนี้เงินกู้เชิงพาณิชย์ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ทั้งนี้ คาดว่าภาระหนี้ต่างประเทศที่ต้องชำระในแต่ละปีจะสูงกว่าร้อยละ 35 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัฐบาลในระยะ 3-5 ปีข้างหน้านี้

สปป. ลาว มีเสถียรภาพทางการเมืองมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและสถาปนาประเทศใหม่เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการในปี 2518 ระบบการปกครองประเทศประกอบด้วยพรรคเดียวคือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยมีสภาแห่งชาติแห่ง สปป. ลาว (National Assembly of the Lao PDR) เป็นคณะผู้มีอำนาจบริหารประเทศเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ๆ โดยความเห็นชอบของสภาแห่งชาติแห่ง สปป. ลาว การเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดใน สปป. ลาว ที่จัดขึ้นในช่วงต้นปี 2559 ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางการเมืองของ สปป. ลาว ทั้งนี้ การเมืองที่มีเสถียรภาพสูงทำให้รัฐบาลมีความต่อเนื่องในการนำนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
อันดับเครดิตประเทศ: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MOFL186A: พันธบัตรรัฐบาล 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปีพ.ศ. 2561 BBB+
MOFL206A: พันธบัตรรัฐบาล 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปีพ.ศ. 2563 BBB+
MOFL256A: พันธบัตรรัฐบาล 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปีพ.ศ. 2568 BBB+
MOFL25DA: พันธบัตรรัฐบาล 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปีพ.ศ. 2568 BBB+
MOFL27DA: พันธบัตรรัฐบาล 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปีพ.ศ. 2570 BBB+
พันธบัตรรัฐบาลมูลค่าไม่เกิน 11,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี พ.ศ. 2571 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ