ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ทรู คอร์ปอเรชั่น” ที่ “BBB+” และหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 26, 2018 17:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ "A-" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมที่ครบวงจร ด้วยสถานะทางการตลาดที่มั่นคงและมีโครงข่ายที่ครอบคลุมในธุรกิจธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) และธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ อันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหวังว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจะยังคงให้การสนับสนุนแก่บริษัทอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีปัจจัยกดดันอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลักและความเสี่ยงทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

สถานะทางการตลาดของธุรกิจ โทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับตัวดีขึ้น

ความพยายามของบริษัททั้งในเรื่องของการลงทุนจำนวนมากในด้านคลื่นความถี่และความครอบคลุมของโครงข่าย ตลอดจนการส่งเสริมการตลาดที่ต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการแข่งขันและผลการดำเนินงานของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มปรากฏผลสำเร็จ การถือครองคลื่นความถี่ที่มากและครอบคลุมกว่าคู่แข่งทำให้บริการทรูโมบาย (True Mobile) ของบริษัทสามารถดึงผู้ใช้บริการมาจากคู่แข่งได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้บริษัทก้าวขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 2 ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยในปี 2560 ในด้านของรายได้ โดยในไตรมาสแรกของปี 2561 ทรูโมบายมีส่วนแบ่งทางการตลาดของจำนวนผู้ใช้บริการคิดเป็นสัดส่วน 30.9% ของอุตสาหกรรมและมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้ในสัดส่วน 27.6% รายได้จากการให้บริการของทรูโมบายซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge -- IC) เติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม กล่าวคือ ในช่วงปี 2556-2560 รายได้ค่าบริการของบริษัทซึ่งไม่รวมค่า IC เติบโตเฉลี่ย 17% ต่อปีเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่อัตรา 4.3% ต่อปี ซึ่งการเติบโตอย่างมากดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการในการใช้งานด้านข้อมูลที่เติบโตสูง นอกจากนี้ ฐานผู้ใช้บริการที่ใหญ่ขึ้นทำให้บริษัทได้ประโยชน์มากขึ้นจากทรัพยากรที่ลงทุนไปด้วยทุนจำนวนมากทั้งในด้านคลื่นความถี่และโครงข่าย

ทริสเรทติ้งมองว่าทรูโมบายจะยังคงเติบโตต่อไปในอนาคตแต่ด้วยอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงกว่าช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการเติบโตจะเกิดจากความต้องการการใช้งานด้านข้อมูลเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ยที่ระดับ 8%-9% ต่อปีในช่วงปี 2561-2563

รายได้ต่อผู้ใช้บริการยังคงต้องเพิ่มขึ้นต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทยังต้องเพิ่มค่าบริการต่อผู้ใช้งาน (Average Revenue Per User -- ARPU) ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ค่าบริการต่อผู้ใช้งานโดยเฉลี่ยของบริษัททั้งในระบบโทรศัพท์แบบเติมเงินและรายเดือนยังต่ำกว่าคู่แข่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้ส่วนแบ่งผู้ใช้บริการระบบเติมเงินมาจากคู่แข่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริษัทมีความพยายามย้ายลูกค้าในกลุ่มนี้ไปเป็นระบบรายเดือนเพื่อเพิ่มรายได้และผลกำไรโดยรวม

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการเพิ่ม ARPU จะส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากบริษัทได้ใช้เงินทุนจำนวนมากไปในการเพิ่มคลื่นความถี่และขยายโครงข่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ซึ่งควรได้รับการชดเชยด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้น

แม้ว่าบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงได้จากมาตรการต่าง ๆ แต่กำไรของบริษัทก็ยังต่ำกว่าคู่แข่ง บริษัทมีความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่องในขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรยังคงเป็นความท้าทายของบริษัท

การแข่งขันยังคงเป็นประเด็นกดดันผลการดำเนินงาน

ความพยายามของบริษัทที่จะทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นได้รับแรงกดดันจากสภาวะการแข่งขัน อย่างไรก็ดี การแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มลดลง จากการที่ผู้ประกอบการทุกรายหันไปมุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรโดยมีให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนให้มากขึ้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการด้านข้อมูลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการก็ยิ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพของการให้บริการและการย้ายลูกค้าที่อยู่ในระบบเติมเงินไปเป็นระบบรายเดือน

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศว่าจะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ในเดือนสิงหาคม 2561 อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนในการปฏิบัติตามแผน และหากมีการจัดประมูลคลื่นความถี่และมีผู้ประมูลได้คลื่น อาจกระตุ้นให้การแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและจะส่งผลกดดันต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในที่สุด

นอกจากนี้ ในระยะปานกลางผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมยังจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยี 5G (Fifth Generation) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการจะต้องมีการลงทุนใหญ่อีกครั้งด้วย

คงความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็ว

ทรูออนไลน์ (TrueOnline) ยังคงความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้เป็นอย่างดีจากการที่บริษัทมีโครงข่ายส่งสัญญาณ Fiber to the Home (FTTH) ที่ครอบคลุมกว่า 13 ล้านครัวเรือน (จากทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ) โดย ณ เดือนมีนาคม 2561 บริษัทมีลูกค้าที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตรวมประมาณ 3.3 ล้านราย

ทรูออนไลน์มีรายได้ที่ไม่รวมการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (Digital Telecommunications Infrastructure Fund -- DIF) จำนวน 2.33 หมื่นล้านบาทในปี 2560 และ 5.7 พันล้านบาทใน

ไตรมาสแรกของปี 2561 ซึ่งลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การลดลงของรายได้ในไตรมาสแรกของปี 2561 มีสาเหตุหลักมาจากการสิ้นสุดสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในเดือนตุลาคม 2560 ในขณะที่รายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังเติบโตในอัตราเลข 2 หลัก

แม้การแข่งขันในเมืองใหญ่จะทวีความรุนแรงโดยเฉพาะจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าธุรกิจ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทจะยังคงเติบโตจากการมีข้อได้เปรียบจากโครงข่าย FTTH ที่บริษัทได้ลงทุนไปก่อนหน้าคู่แข่ง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของทรูออนไลน์จะเติบโตโดยเฉลี่ย 5%-8% ต่อปีในช่วงปี 2561-2563

บริการทรูวิชั่นส์ (TrueVisions) สนับสนุนกลยุทธ์ Convergence

ผลการดำเนินงานของทรูวิชั่นส์ (TrueVisions) ได้รับแรงกดดันเป็นอย่างมากจากการแข่งขันในระยะหลายปีที่ผ่านมาทั้งในรูปแบบ Over-the-top (OTT) AIS Playbox และจากช่องทีวีดิจิทัล การแข่งขันเกิดขึ้นทั้งในรูปแบบของการจัดหารายการ (Content) และการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโฆษณาในจากทุก ๆ ช่องทาง ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของ ทรูวิชั่นส์จะคงตัวในระหว่างปี 2561-2563 โดยอยู่ที่ระดับ 9-10 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าบทบาทของทรูวิชั่นส์จะเป็นไปเพื่อส่งเสริมกลยุทธ์ Convergence และสนับสนุนสถานะในการแข่งขันของกลุ่มเป็นสำคัญ

ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทดีขึ้นในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาจากการประหยัดจากขนาดจากการให้บริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ โทรศัพท์เคลื่อนที่ หากไม่รวมรายได้จากการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลแล้ว บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 8% โดยอยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาทในปี 2560 และเพิ่มขึ้น 3% ในไตรมาสแรกของปี 2561 โดยอยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท รายได้ที่เติบโตมีปัจจัยสนับสนุนจากผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งของธุรกิจ โทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 25.1% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 29.5% ในปี 2560 และ 33.6% ในไตรมาสแรกของปี 2561 อัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากจากการประหยัดต่อขนาดที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจ โทรศัพท์เคลื่อนที่รวมทั้งความพยายามที่จะลดต้นทุนดำเนินงาน

ในช่วงปี 2561-2563 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ย 3%-4% มาอยู่ที่ 1.39-1.54 แสนล้านบาทต่อปี ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจะอยู่ที่ระดับ 30%-34% ต่อปีและเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 2.3-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

การขายสินทรัพย์ให้ กองทุนรวมฯ ลดความกังวลเรื่องภาระค่าใบอนุญาต

บริษัทได้เสร็จสิ้นธุรกรรมการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลเป็นครั้งที่ 3 โดยกลุ่มทรูได้รับเงินสดสุทธิจากธุรกรรมดังกล่าวทั้งสิ้น 5.06 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งคาดว่าจะถูกสำรองไว้เพื่อชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ โดยบริษัทมีภาระในการจ่ายชำระค่าใบอนุญาต จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2561 จำนวน 4 พันล้านบาทในปี 2562 และจำนวน 6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 เงินที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมฯ ในครั้งนี้ช่วยลดความกังวลในเรื่องการจ่ายชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ลงไปได้พอสมควร โดยเฉพาะคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์งวดสุดท้ายที่จะต้องจ่ายชำระในปี 2563 ในระยะกลางบริษัทอาจจะขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมฯ เพิ่มอีกหากบริษัทมีความจำเป็นต้องใช้เงิน

ภาระหนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูง

ความเสี่ยงทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันอันดับเครดิตของบริษัท บริษัทมีฐานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นแต่ความเสี่ยงทางการเงินยังสูงจากภาระหนี้ที่เกิดจากต้นทุนใบอนุญาตคลื่นความถี่และการลงทุนขยายโครงข่ายในระยะที่ผ่านมา โดย ณ เดือนมีนาคม 2561 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 67% และมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดต่อ กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 6 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง)

ภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจากการมีภาระจ่ายชำระค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวนมาก ตลอดจนค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ และภาระผูกพันจากการเช่าดำเนินงาน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนขยายโครงข่าย FTTH และโครงข่าย 4G จำนวนมาก โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นการชำระค่าลงทุนจากคู่ค้าเป็นเวลา 2 ปีและจะแบ่งชำระในระยะ 5 ปีโดยจะเริ่มในปี 2561 ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทยังคงสูงอยู่ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีภาระด้านค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนรวม 3.7-3.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2563

มูลค่าปัจจุบันของภาระผูกพันจากการเช่าดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 7.1-8.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า และคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 60%-63% และมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดต่อ EBITDA อยู่ที่ 5-6 เท่าในช่วงปี 2561-2563

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่ตึงตัวแต่คาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการได้ แหล่งสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับไม่น้อยกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ เดือนมีนาคม 2561 อีกประมาณ 8.6 พันล้านบาท บริษัทมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 3.75 หมื่นล้านบาทและค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอีกประมาณ 5.1-5.3 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมค่าใบอนุญาตที่ต้องชำระตามกำหนด ทั้งนี้ โดยภาระหนี้ที่จะครบกำหนดจำนวน 2 หมื่นล้านบาทเป็นหนี้ของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ซึ่งจะชำระโดยการออกหุ้นกู้ทั้งจำนวน บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่วนเงินที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมฯ ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าจะถูกสำรองไว้เพื่อใช้ชำระค่าใบอนุญาตในปี 2563 บริษัทก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทได้ในกรณีที่จำเป็น

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดและมีผลการดำเนินงานที่ดีในกลุ่มธุรกิจหลักซึ่งได้แก่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักของบริษัททั้ง 2 รายคือเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนคุณภาพเครดิตของบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาถึงฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันซึ่งมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดต่อ EBITDA เกินกว่า 7 เท่าอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TRUE22NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วน 8,330 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ