ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ซิงเกอร์ประเทศไทย” ที่ “BBB-” และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น “Negative” จาก “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 12, 2018 17:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่ “BBB-” ในขณะเดียวกันยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ด้วย โดยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงจนส่งผลกระทบต่อสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัท

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความเข้มแข็งของบริษัทจากการมีตราสัญลักษณ์สินค้าในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ตลอดจนการมีเครือข่ายสาขาและตัวแทนจำหน่ายที่กว้างขวางทั่วประเทศ และผลงานที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ยังมีข้อจำกัดจากการที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ภาระหนี้ของบริษัทก็อาจเพิ่มสูงขึ้นจากแผนการขยายธุรกิจ ประการสุดท้าย บริษัทได้เริ่มขยายสู่ธุรกิจใหม่คือสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักประกันซึ่งความเสี่ยงทางด้านเครดิตของธุรกิจนี้ยังต้องใช้เวลาติดตามผลต่อไป

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลประกอบการมีความผันผวน

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนแอลงมาตั้งแต่ปี 2560 จากความเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์ที่บริษัทสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2560 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2561 ส่งผลทำให้ผลกำไรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญจำนวนมากถึง 372 ล้านบาทในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้น 102% จาก 184 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2559 สำรองหนี้สูญที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากการที่บริษัทเปลี่ยนระบบการเก็บเงินค่าผ่อนชำระสินค้าจากเดิมที่ผู้แทนขายเป็นผู้เก็บเงินและบริการลูกค้าถึงบ้านมาเป็นการให้ลูกค้าชำระเข้าบัญชีของบริษัทโดยตรง (Direct Payment System -- DPS) โดยผ่านตัวแทนรับชำระ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าระบบดังกล่าวอาจจะยังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท ระบบการชำระเงินแบบใหม่นี้จำเป็นต้องให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมในการจ่ายชำระและต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ความมีประสิทธิภาพของระบบ

บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 184 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่สูงถึง 202 ล้านบาทเนื่องจากบริษัทตัดสินใจตัดหนี้สูญจากลูกหนี้บัญชีเก่าที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้และยังคงไม่มีความสามารถในการชำระหนี้

ผลประกอบการของบริษัทพลิกกลับมาเป็นดีขึ้นหลังจากการเปลี่ยนระบบการเก็บเงินมาเป็น DPS ระยะที่สอง ซึ่งผู้แทนขายเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บเงินและดูแลคุณภาพของลูกหนี้ บริษัทมีผลกำไร 42 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนของความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเก็บเงินและผลกระทบจากการมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลง

รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมีสัดส่วน 14% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2560 และครึ่งแรกของปี 2561 โดยรายได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากค่าตอบแทนจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (แอร์ไทม์) รายได้จากการเป็นนายหน้าสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด รายได้ค่าธรรมเนียมของสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักประกัน และรายได้อื่น ๆ

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าผลกำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีเป็นต้นไปถึงแม้ว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญจำนวนมากในไตรมาสแรกของปี 2561 ก็ตาม ในขณะที่รายได้รับจากดอกเบี้ยเช่าซื้อน่าจะมากขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ

คุณภาพสินทรัพย์ยังไม่คงที่

ทริสเรทติ้งค่อนข้างกังวลกับคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัท ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเป็น 20.3% ณ สิ้นปี 2559 ภายหลังจากการนำระบบ DPS มาใช้ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวลดลงเหลือ 12% ณ สิ้นปี 2560 หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของการชำระหนี้ของลูกค้าจำนวนมาก อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 17.2% ณ เดือนมิถุนายน 2561 เนื่องจากลูกหนี้บัญชีเก่ายังคงไม่มีความสามารถในการชำระงวดที่ค้างเดิม

ความเพียงพอในการตั้งสำรองของบริษัทอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับเพียง 58% ณ เดือนมิถุนายน 2561 เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของบริษัทเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ บริษัทจึงควรรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงจากผลประกอบการของบริษัทเมื่อสินเชื่อที่บริษัทปล่อยกลายเป็นหนี้เสีย

พอร์ตสินเชื่อกระจายตัวเพิ่มขึ้น

บริษัทยังได้ขยายพอร์ตสินเชื่อให้ครอบคลุมไปถึงสินค้าเช่าซื้อที่หลากหลายมากขึ้น ได้แก่ การจำหน่ายสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์หลากหลาย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 บริษัทได้นำเสนอสินเชื่อใหม่ที่เรียกว่า “รถทำเงิน” ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักประกัน

บริษัทมีรายได้จากยอดขายลดลงเนื่องจากนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นในช่วงการปรับปรุงระบบใหม่ โดยรายได้จากยอดขายลดลงมาอยู่ที่ 1,376 ล้านบาท หรือลดลง 18% ในปี 2560 จาก 1,675 ล้านบาทในปี 2559 บริษัทรักษามูลค่าลูกหนี้เช่าซื้อให้อยู่ที่ระดับ 2,000 ล้านบาทในช่วงปี 2558-2560 จากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้เช่าซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ รายได้จากยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 888 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยที่ลูกหนี้เช่าซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง

บริษัทมีสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักคือการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน มูลค่าลูกหนี้เช่าซื้อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2,333 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2561 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% จากสิ้นปี 2560 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 มูลค่าลูกหนี้เช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วนหลักที่ 52% ของลูกหนี้เช่าซื้อทั้งหมด ลูกหนี้เช่าซื้อที่เหลือประกอบด้วยลูกหนี้สินค้าตราสัญลักษณ์อื่น 21% และสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักประกัน 27% ซึ่งการขยายตัวของสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักประกันนี้จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญตราบเท่าที่บริษัทยังคงมีการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดอยู่

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการปรับปรุงกระบวนการทำงานมาเป็นระบบใหม่ที่ผ่านทำให้บริษัทได้รับประโยชน์หลายประการ ได้แก่ กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็วและละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้น มีการติดตามสถานะลูกหนี้ที่ทันท่วงทีมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานลูกค้าที่กระจายตัวหลากหลายและมีพนักงานขายที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความคุ้นเคยกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอีกด้วย จุดแข็งดังกล่าวเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทได้เป็นอย่างดี

ภาระหนี้ปรับตัวสูงขึ้น

บริษัทมีฐานทุนที่แข็งแรง บริษัทมีข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือหุ้นกู้ที่ต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนไม่เกิน 6 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2561 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนอยู่ที่ 1.5 เท่า ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 0.82 เท่า ณ สิ้นปี 2560 ภาระหนี้ของบริษัทที่ระดับนี้จึงถือว่าอยู่ในระดับเพียงพอที่จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายพอร์ตสินเชื่อต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนที่ต่อเนื่องอาจจะลดความแข็งแกร่งของฐานทุนของบริษัทลงได้

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง หากคุณภาพสินทรัพย์ยังคงเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องต่อไปก็อาจส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลงต่อไปโดยไม่มีสัญญาณที่จะปรับตัวดีขึ้นในขณะที่ผลการดำเนินงานถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเปลี่ยนกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้หากบริษัทสามารถปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องโดยที่ยังคงความแข็งแกร่งทางการเงินเอาไว้ได้

บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ