ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ทีพีไอ โพลีน” ที่ “BBB+” เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” จาก “Stable” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 10, 2019 18:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Positive” หรือ “บวก” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ด้วย โดยการปรับดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากโรงไฟฟ้าทุกโรงของบริษัทดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” อีกด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้นี้ไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่มีอยู่เดิม

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศไทย รวมถึงแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลาย และกระแสเงินสดที่แข็งแรงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงไปบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจปูนซีเมนต์และพลาสติก รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived Fuel -- RDF) อีกทั้งยังมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของแหล่งกู้ยืมเงินอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจปูนซีเมนต์

บริษัทเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ โดยมีกำลังการผลิตเท่ากับ 13.5 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 23% ตามกำลังการผลิตของทั้งประเทศ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทประกอบด้วยการมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ การเติบโตในแนวดิ่ง (Vertical Intergration) ของธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ และการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปูนซีเมนต์นั้นมีความเสี่ยงหลายประการ อาทิ วงจรอุตสาหกรรมที่ขึ้นลง การแข่งขันที่รุนแรงจากสินค้าโภคภัณฑ์ และความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาถ่านหินที่เป็นเชื้อเพลิง

แหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลาย

สถานะเครดิตของบริษัทเกิดจากการมีแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลายจากธุรกิจหลักทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์ ธุรกิจพลาสติก และธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยในปี 2561 รายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์คิดเป็นสัดส่วน 51% ของรายได้รวม ในขณะที่ธุรกิจพลาสติกและธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนประมาณ 19% และ 17% ตามลำดับ

ธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้มากที่สุด โดยสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของกำไรทั้งหมด การกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจช่วยทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดโดยรวมที่มั่นคงเนื่องจากกระแสเงินสดที่มีความเสถียรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นสามารถลดผลกระทบจากความผันผวนจากธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติกลงได้

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจ

สถานะทางธุรกิจของบริษัทนั้นมีความแข็งแกร่งมากขึ้นจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีสถานะเครดิตแข็งแกร่งที่สุดในบรรดาธุรกิจหลักของบริษัททั้ง 3 ประเภท ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์อีกทั้งยังให้ผลกำไรที่สูงจากการได้รับส่วนเพิ่มของราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ส่งผลให้การจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. นั้นมีความมั่นคงในระยะยาวซึ่งจะช่วยยกระดับฐานกระแสเงินสดและเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอีกด้วย

อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการมีตำแหน่งทางการตลาดที่เข้มแข็งของบริษัทในตลาดผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะด้วยเช่นกัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทดำเนินการโดย บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นจำนวน 70.24% บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้งหมด 7 โรงด้วยกำลังการผลิตติดตั้งรวม 440 เมกะวัตต์ ในบรรดาโรงไฟฟ้าที่บริษัทมีอยู่ทั้งหมดนั้น จำนวน 4 โรง (180 เมกะวัตต์) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 3 ฉบับที่จะต้องจำหน่ายกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 163 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. โดยได้รับ Adder ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งช่วยเพิ่มอัตรากำไรให้อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม โรงงานทั้ง 4 แห่งนี้ใช้เชื้อเพลิงจากขยะและความร้อนทิ้งจากโรงงานปูนซีเมนต์ซึ่งมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่สูงอันเนื่องมาจากปริมาณความร้อนทิ้งและคุณภาพของขยะนั้นมีความไม่แน่นอนและสม่ำเสมอ ในส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออยู่อีก 260 เมกะวัตต์นั้น บริษัทได้นำไปใช้ภายในสำหรับกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์

?

ผลการดำเนินงานเริ่มฟื้นตัว

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2561 เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตลาดปูนซีเมนต์ที่กำลังเริ่มฟื้นตัวและธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. มากขึ้น อัตรากำไรของธุรกิจปูนซีเมนต์เริ่มขยายตัวเนื่องจากราคาปูนซีเมนต์ที่เริ่มปรับตัวขึ้นในปี 2561 หลังจากลดลงในช่วงปี 2558-2560 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็น 36,800 ล้านบาทในปี 2561 เพิ่มขึ้นคิดเป็นประมาณ 20% จาก 30,700 ล้านบาทในปี 2560 ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทก็มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 5,900 ล้านบาทจาก 3,300 ล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวม) เพิ่มขึ้นเป็น 15.8% ในปี 2561 จาก 10.5% ในปี 2560 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ 7.6 เท่าในปี 2561 จากสัดส่วนที่สูงกว่า 10 เท่าเมื่อช่วง 2 ปีก่อน

ส่วนในด้านโครงสร้างเงินทุนของบริษัทนั้นยังคงอ่อนแอลงจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 46.9% ในปี 2561 จาก 41.7% ในปี 2560

คาดว่าสถานะทางการเงินจะปรับตัวดีขึ้น

แนวโน้มในเชิงบวกสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของบริษัทน่าจะดีขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ธุรกิจปูนซีเมนต์น่าจะฟื้นตัวจากแนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ทริสเรทติ้งคาดว่าต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทจะลดลงด้วยเนื่องจากโรงไฟฟ้า 2 โรง ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินและเชื้อเพลิงขยะขนาด 70 เมกะวัตต์กับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์จะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ ในขณะเดียวกัน ปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ กฟผ. ก็จะเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะขนาด 70 เมกะวัตต์จะเริ่มผลิตได้เต็มปีในปี 2562 นี้ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะโรงอื่น ๆ ก็คาดว่าจะเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังจากผ่านการปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์มาแล้วหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

เงินลงทุนของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2562 โดยบริษัทวางแผนจะลงทุนประมาณ 7,200 ล้านบาทในปี 2562 และประมาณ 1,700 ล้านบาทในปี 2563 ในการนี้ เงินลงทุนจะใช้สำหรับการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น (1) เป็นเงินค้างชำระสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์ (2) ใช้ในการติดตั้งหม้อไอน้ำใหม่จำนวน 3 ชุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงไฟฟ้า และ (3) ใช้ซื้อที่ดินสำหรับโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทภายใต้การดำเนินงานของบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ นั้นก็กำลังอยู่ในช่วงประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ 2 แห่งของกรุงเทพมหานครด้วย โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 20

เมกะวัตต์ต่อโรงและจะสร้างในพื้นที่บริเวณหลุมฝังกลบขยะในเขตอ่อนนุชและหนองแขม ส่วนเงินลงทุนในแต่ละโครงการนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,500-4,000 ล้านบาท

ในประมาณการพื้นฐานระหว่างปี 2562-2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะชนะการประมูลโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะทั้ง 2 โครงการ โดยทริสเรทติ้งยังคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีต่อ ๆ ไปแม้ว่าจะช้ากว่าที่

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อเงินทุนของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% อย่างไร

ก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 6 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ความเสี่ยงด้านลบอาจเกิดจากการฟื้นตัวของธุรกิจปูนซีเมนต์ที่ช้ากว่าที่คาดการณ์และภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าอื่น ๆ อีกในอนาคต

การกระจุกตัวของแหล่งเงินกู้

อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่บริษัทพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากหุ้นกู้เป็นหลักซึ่งแสดงถึงการขาดความหลากหลายของแหล่งเงินกู้ ทั้งนี้ บริษัทมีการใช้เงินทุนจากหุ้นกู้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยสัดส่วนของหุ้นกู้คิดเป็นประมาณ 80% ของยอดหนี้คงค้างรวมของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2561

นอกจากนี้ บริษัทยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านการรีไฟแนนซ์ เนื่องจากบริษัทมีหุ้นกู้จำนวนมากที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทมียอดชำระคืนหุ้นกู้อยู่ที่จำนวน 7,200-7,700 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 17,200 ล้านบาทในปี 2564 เพื่อที่จะชำระคืนหนี้หุ้นกู้จำนวนมากที่จะครบกำหนดในปี 2564 ให้ได้ บริษัทจะต้องใช้ความสามารถในการรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดรวมถึงต้องพึ่งพาสภาวะตลาดตราสารหนี้ที่เอื้ออำนวยเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีประวัติที่ดีในการเข้าถึงตลาดทุน แต่การรีไฟแนนซ์หุ้นกู้จำนวนมากเช่นนี้ก็สร้างความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญให้แก่บริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• รายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5%-5.0% ในระหว่างปี 2562-2564

• รายได้จากธุรกิจพลาสติกจะคงที่

• รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 17% ในปี 2562 และ 3%-5% ในปี 2563-2564

• อัตรากำไรจากการดำเนินงานโดยรวมจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 19%-20%

• เงินลงทุน (ซึ่งรวมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่กำลังประมูลอยู่ 2 โครงการ) จะอยู่ที่ระดับ 11,200 ล้านบาทในปี 2562 ส่วนในปี 2563 จะอยู่ที่ระดับ 5,700 ล้านบาท และในปี 2564 ที่ระดับ 1,300 ล้านบาท

?

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะดียิ่งขึ้นจากแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจปูนซีเมนต์และกระแสเงินสดที่ประมาณการได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติกจะยังคงเดิม ในขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจต่อไปและยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม และเมื่อกระแสเงินสดแข็งแกร่งขึ้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากธุรกิจปูนซีเมนต์ของบริษัทฟื้นตัวและโรงไฟฟ้าสร้างกระแสเงินสดจำนวนมาก รวมถึงบริษัทสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ตามแผน การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้ต่ำกว่า 6 เท่าได้เป็นระยะเวลานาน และบริษัทมีแหล่งการกู้ยืมเงินที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะเป็นผลบวกต่ออันดับเครดิตอาจจะเกิดจากการที่บริษัทมีภาระหนี้สินลดลงหรือมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าคาดด้วยเช่นกัน

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทด้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ/หรือบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้เงินกู้เกินตัว การสูญเสียส่วนทุนจำนวนมากจากคดีความทางกฎหมายที่ดำเนินอยู่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญซึ่งอาจทำให้อันดับเครดิตปรับลดลงได้เช่นกัน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550

บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TPIPL197A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB+
TPIPL198A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,750 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB+
TPIPL201A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TPIPL207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TPIPL208A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,205 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TPIPL214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TPIPL214B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TPIPL218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TPIPL221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,530 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TPIPL224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TPIPL228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TPIPL234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,645 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 5 ปี BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ