ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” ที่ “BBB+” และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” จาก “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 10, 2019 18:05 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกันยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Positive” หรือ “บวก” จากเดิม “Stable” หรือ “คงที่” ตามการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าสถานะทางการเงินของบริษัททีพีไอ โพลีนนั้นจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากโรงไฟฟ้าทุกโรงของบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ดำเนินงานได้อย่างเต็มที่

อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงที่บริษัทได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดจนการมีอัตรากำไรที่สูงจากส่วนเพิ่มของราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และการมีต้นทุนเชื้อเพลิงที่สามารถแข่งขันได้ทั้งจากเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived Fuel -- RDF) และจากความร้อนทิ้ง อย่างไร

ก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากการมีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะดังกล่าว

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

อันดับเครดิตมีกรอบจำกัดจากอันดับเครดิตของบริษัทแม่

บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ เป็นบริษัทย่อยของบริษัททีพีไอ โพลีน (ได้รับอันดับเครดิต “BBB+/Positive” จากทริสเรทติ้ง) เมื่อพิจารณาถึงสถานะของบริษัทโดยไม่รวมบริษัทแม่แล้ว (Stand-alone Basis) บริษัทจะได้รับอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A” ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าบริษัทแม่ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทมีกรอบที่จำกัดให้ไม่เกินอันดับเครดิตของบริษัทแม่ซึ่งอยู่ที่ระดับ “BBB+” ตามระเบียบวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่มของทริสเรทติ้ง

อันดับเครดิตที่มีกรอบจำกัดนั้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของบริษัทแม่และบริษัทลูก โดยบริษัททีพีไอ โพลีน ซึ่งเป็นบริษัทแม่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 70.24% นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแม่ยังมีส่วนร่วมในคณะกรรมการและมีอำนาจในการควบคุมที่มีนัยสำคัญต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทอีกด้วย

ทริสเรทติ้งจัดให้บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ เป็นบริษัทลูกรายสำคัญเนื่องจากบริษัทสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 70% ให้แก่กลุ่ม อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยสนับสนุนสถานะเครดิตของกลุ่มอีกด้วย

การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงระดับของการบูรณาการที่มีนัยสำคัญระหว่างบริษัทและบริษัทแม่ด้วย การพึ่งพากันในเชิงธุรกิจนี้ทำให้บริษัทมีข้อจำกัดในการปฏิบัติงานและส่งผลให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานะเครดิตของบริษัทแม่และความผันผวนของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ถึงแม้ว่า กฟผ. ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA” จากทริสเรทติ้งจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าหลักของบริษัท แต่บริษัททีพีไอ โพลีน ก็เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าอีกรายหนึ่งและเป็นผู้จำหน่ายพลังงานความร้อนทิ้งแต่เพียงรายเดียวให้แก่บริษัทด้วยเช่นกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของการดำเนินงานของบริษัทแม่ เช่น กำลังการผลิตที่ลดลงหรือการหยุดเดินเครื่องโรงงานปูนซีเมนต์ก็จะส่งผลทำให้ความต้องการไฟฟ้าและปริมาณความร้อนทิ้งของบริษัทแม่ลดลงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทบางส่วนด้วย

กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.

บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้งหมด 7 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 440 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมด 4 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 180 เมกะวัตต์มีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในขณะที่กำลังการผลิตที่เหลืออยู่นั้นจำหน่ายให้แก่บริษัทแม่เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์

ความเข้มแข็งทางเครดิตของบริษัทนั้นมาจากกระแสเงินสดที่มั่นคงซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. โดยเงื่อนไขภายในสัญญานั้นช่วยลดความเสี่ยงในด้านอุปสงค์ กล่าวคือ บริษัทจะได้รับรายได้อย่างต่อเนื่องตราบเท่าที่โรงไฟฟ้ายังสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ได้ นอกจากนี้ ราคารับซื้อไฟฟ้าที่ระบุไว้ในสัญญายังให้ส่วนเพิ่มจากราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) อีก 3.50 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 7 ปีซึ่งช่วยยกระดับอัตรากำไรของบริษัทให้สูงขึ้นอีกด้วย

ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะขนาด 70 เมกะวัตต์ของบริษัทได้เริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2561 ปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ กฟผ. เพิ่มขึ้นเป็น 967 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในปี 2561 จาก 575 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2560 โดยในปี 2561 รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. คิดเป็น 80% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท และกำไรขั้นต้นที่ได้รับจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. อยู่ที่ 95% ซึ่งเกือบเท่ากับกำไรขั้นต้นทั้งหมดของบริษัท

?

มีต้นทุนเชื้อเพลิงที่สามารถแข่งขันได้

ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สามารถแข่งขันได้ทั้งจากขยะและความร้อนทิ้งถือเป็นจุดแข็งของบริษัท โดยต้นทุนเชื้อเพลิงขยะนั้นค่อนข้างต่ำเนื่องจากบริษัทสามารถผลิตได้จากขยะฝังกลบและขยะชุมชน ซึ่งขยะชุมชุนส่วนใหญ่ที่บริษัทจัดหาได้นั้นไม่มีต้นทุน ในขณะที่ความร้อนทิ้งซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ก็ถือเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันเฉพาะตัวของบริษัทเนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ใกล้กับโรงปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ ถึงแม้ว่าต้นทุนของความร้อนทิ้งนั้นจะมีราคาถูกมาก แต่ปริมาณพลังความร้อนทิ้งก็มีความไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับสภาวะการผลิตของโรงงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่

ความเสี่ยงในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง

โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงขยะมีความซับซ้อนมากกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซหรือถ่านหินโดยทั่วไปเนื่องจากคุณภาพและค่าความร้อนของเชื้อเพลิงขยะนั้นมีความเสถียรต่ำ คุณภาพของขยะที่นำมาใช้ทำเชื้อเพลิงนั้นมีความหลากหลายแตกต่างกันเป็นอย่างมากซึ่งทำให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นที่มีคุณภาพที่เสถียรกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะจึงมีโอกาสที่จะหยุดเดินเครื่องบ่อยครั้งกว่าโรงไฟฟ้าแบบทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่สูงก็ลดทอนลงจากประวัติผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะที่ผ่านการพิสูจน์แล้วของบริษัท และการปรับปรุงโรงงานหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้จ่ายเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับการบำรุงรักษาและการดัดแปลงโรงงานเพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน อีกทั้งยังได้ปรับปรุงเสถียรภาพของโรงงานด้วยการติดตั้งหม้อไอน้ำสำรอง ให้แก่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะทุกโรงที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ซึ่งจะช่วยลดช่วงเวลาในการหยุดซ่อมบำรุงและเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้า

คาดว่า EBITDA จะปรับตัวสูงขึ้นไปที่ระดับ 6,500 ล้านบาท

EBITDA ของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากกำลังการผลิตและปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 ปริมาณไฟฟ้าที่บริษัทจำหน่ายทั้งหมดอยู่ที่ 1,248 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจาก 327 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2558 ในขณะเดียวกัน EBITDA ก็เพิ่มขึ้นเป็น 4,200 ล้านบาทในปี 2561 จาก 1,300 ล้านบาทในปี 2558 ในขณะเดียวกัน อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ก็อยู่ในระดับสูง โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 50%-55% ในช่วงเวลาดังกล่าว

กำลังการผลิตรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 440 เมกะวัตต์หลังจากที่โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์ได้เริ่มดำเนินงานในเดือนมกราคม 2562 ในขณะนี้บริษัทยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงโรงไฟฟ้าใหม่อีกสักระยะหนึ่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าโรงไฟฟ้าใหม่จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับและน่าจะดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้ภายในปี 2563 ภายใต้สมมติพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจนถึง 6,500 ล้านบาทต่อปีภายในปี 2563 โดยบริษัทจะมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับประมาณ 50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

สัดส่วนหนี้สินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้น โดยบริษัทวางแผนเงินลงทุนไว้ที่จำนวน 6,700 ล้านบาทในระยะ 3 ปีข้างหน้า ในส่วนของเงินลงทุนดังกล่าวนั้นบริษัทวางแผนจะใช้สำหรับการดำเนินงานต่าง ๆ ดังนี้ (1) เป็นเงินค้างชำระสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์ (2) ใช้ในการติดตั้งหม้อไอน้ำใหม่จำนวน 3 ชุดเพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้า และ

(3) ใช้สำหรับการจัดหาที่ดินสำหรับโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง

นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังแสวงหาโอกาสในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ เพื่อที่จะรักษาอัตราการเติบโตของรายได้อีกด้วย ล่าสุดบริษัทกำลังประมูลโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ 2 แห่งของกรุงเทพมหานคร โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ซึ่งมีกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ต่อโรงนั้นจะก่อสร้างในพื้นที่บริเวณหลุมฝังกลบขยะในเขตอ่อนนุชและหนองแขม ทั้งนี้ แต่ละโครงการคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,500-4,000 ล้านบาท

ในกรณีที่บริษัทชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ 2 โครงการดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8,000 ล้านบาท เป็นประมาณ 14,700 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 33% ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 2 เท่า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• รายได้จากการดำเนินงานโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2562-2564

• อัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 50%

• เงินลงทุนทั้งหมดซึ่งรวมเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะทั้ง 2 โรงที่กำลังประมูลคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาทในปี 2562 และประมาณ 5,000 ล้านบาทในปี 2563 ในขณะที่เงินลงทุนในปี 2564 น่าจะอยู่ในระดับต่ำ

• อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ประมาณ 90%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” นั้นเปลี่ยนตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัททีพีไอ โพลีน ซึ่งเปลี่ยนเป็น “Positive” หรือ “บวก” จาก “Stable” หรือ “คงที่” การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่นั้นสะท้อนถึงความคาดหวังว่าสถานะทางการเงินของบริษัทแม่จะปรับตัวดีขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าซึ่งเกิดจากกระแสเงินสดที่มากขึ้นและคาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ เป็นหลัก ทริสเรทติ้งคาดว่าการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งในระยะยาว

ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัททีพีไอ โพลีน ต่อไป ทั้งนี้ ด้วยความสัมพันธ์แบบบริษัทแม่และบริษัทลูก การเปลี่ยนแปลงใดใดที่จะมีต่ออันดับเครดิตของบริษัทแม่ก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นอย่างมากจนทำให้สถานะทางการเงินของกลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้น ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่ำกว่าที่คาดไว้ หรือหากบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้จำนวนมาก นอกจากนี้ อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงได้ด้วยเช่นกันหากทริสเรทติ้งมีการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัททีพีไอ โพลีน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550

บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (TPIPP)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TPIPP21NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ