ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. มั่นคงเคหะการ” ที่ “BBB” และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น “Negative” จาก “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 12, 2019 17:05 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ในขณะเดียวกันก็ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” โดยแนวโน้มที่ปรับลดลงสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของบริษัทที่จะอ่อนแอลงจากการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ในขณะที่อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความยอมรับในตราสินค้าของบริษัทในโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบและรายได้จากการจำหน่ายที่อยู่อาศัยที่เติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่ค่อนข้างผันผวนและระดับการก่อหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูงซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ตลอดจนผลกระทบจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อาจส่งผลต่อการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงจากการขยายกิจการเชิงรุกสู่ธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าระดับภาระหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีกจากการขยายกิจการเชิงรุกไปยังหลากหลายธุรกิจ ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจที่สร้างรายได้สม่ำเสมอตามกลยุทธ์ของบริษัท โดยในปี 2558 บริษัทได้ซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าภายในโครงการบางกอกฟรีเทรดโซน (Bangkok Free Trade Zone -- BFTZ) ต่อมาบริษัทก็ได้พัฒนาโครงการพาร์ค คอร์ท (Park Court) ซึ่งเป็นโครงการแบบผสม (Mixed-use) ระหว่างอพาร์ทเมนท์ให้เช่าและคอนโดมิเนียมเพื่อจำหน่ายด้วย

การขยายไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ส่งผลให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 47% ในปี 2559 จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2560 และเป็น 55% ในปี 2561 จากระดับ 20% ในปี 2557 อย่างไร

ก็ตาม ผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าวยังคงต่ำ โดยบริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.75% ในปี 2561 จาก 7.21% ในปี 2558

ในอนาคตบริษัทมีแผนจะขยายกิจการไปสู่ธุรกิจสำนักงานให้เช่า รวมถึงธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ และธุรกิจโรงแรมซึ่งจะต้องใช้งบลงทุนในการก่อสร้างประมาณ 3,900 ล้านบาทในระหว่างการพัฒนาโครงการในปี 2562-2564 อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนจะขายที่ดินเปล่าและโครงการคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วมูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการก่อสร้าง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีความกังวลเกี่ยวกับแผนการลงทุนในครั้งนี้ของบริษัทเนื่องจากผลงานของคณะผู้บริหารในธุรกิจเหล่านี้ยังมีค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม บริษัทจะร่วมกับกลุ่มโรงพยาบาลที่มีประสบการณ์ในธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพมาอย่างยาวนาน ในการนี้ เงินลงทุนที่สูงในช่วงพัฒนาโครงการจะเป็นปัจจัยที่กดดันต่อฐานะการเงินของบริษัท ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 60% ในระหว่างปี 2562-2563 และจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 57% ในปี 2564

ฐานรายได้มีขนาดเล็กแต่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

บริษัทมีขนาดเล็กกว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง โดยบริษัทมีรายได้จำนวน 3,000-4,500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อจำหน่ายยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของรายได้ในแต่ละปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าทั้งจากโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าภายในโครงการบางกอกฟรีเทรดโซนและจากโครงการอพาร์ทเมนท์ให้เช่าบริเวณถนนสุขุมวิท 77 ยังคงมีไม่มาก อย่างไรก็ตาม รายได้จากสินทรัพย์ให้เช่าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากโครงการในเขตบางกอกฟรีเทรดโซนพัฒนาแล้วเสร็จทั้งหมด

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นโดยอยู่ในช่วงประมาณ 4,500-5,300 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2564 อันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อจำหน่ายและรายได้จากธุรกิจที่สร้างรายได้สม่ำเสมอที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่บริษัทสามารถดำเนินงานได้เต็มที่แล้ว ทั้งนี้ สัดส่วนของรายได้ที่มาจากธุรกิจที่สร้างรายได้สม่ำเสมอคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20% ของรายได้จากการดำเนินงานโดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

ตราสินค้าเป็นที่ยอมรับ

ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทภายใต้ตราสินค้า “ชวนชื่น” นั้นได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าที่มีรายได้ในระดับปานกลางถึงต่ำ โดยผู้บริหารชุดใหม่ได้มีการพัฒนารูปแบบและคุณภาพของสินค้าในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อจำหน่ายเติบโตเป็นที่น่าพอใจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อจำหน่ายที่ไม่รวมรายได้จากการจำหน่ายที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ที่ 2,654 ล้านบาทในปี 2560 และ 2,854 ล้านบาทในปี 2561 จาก 2,296 ล้านบาทในปี 2559

?

ในอนาคต รายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อจำหน่ายซึ่งไม่รวมรายได้จากการจำหน่ายที่ดินคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในช่วง 3,200-3,600 ล้านบาทในปี 2562-2564 การเติบโตของรายได้จะมาจากทั้งโครงการเดิมและโครงการใหม่ที่จะเปิด ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2561 บริษัทมีโครงการที่ยังไม่ได้จำหน่ายจำนวน 25 โครงการซึ่งประกอบด้วยโครงการแนวราบ 24 โครงการและโครงการคอนโดมิเนียมพาร์ค คอร์ท อีก 1 โครงการซึ่งมีมูลค่ารวม 5,762 ล้านบาท บริษัทมีแผนจะเปิดโครงการใหม่อีก 4 โครงการซึ่งมีมูลค่ารวม 4,560 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทมียอดจำหน่ายรอการรับรู้รายได้ที่มีขนาดเล็กเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบแบบกึ่งสร้างเสร็จหรือแบบสร้างเสร็จ ดังนั้น รายได้ของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างยอดจำหน่ายใหม่ในปีนั้น ๆ

อัตรากำไรค่อนข้างผันผวนแต่มีแนวโน้มดีขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทค่อนข้างผันผวนเนื่องจากการมีรายจ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารภายหลังที่คณะผู้บริหารชุดใหม่เข้ามารับผิดชอบ โดยในช่วง 2-3 ปีแรก คณะผู้บริหารใหม่เน้นการปรับปรุงโครงการที่มีอยู่ให้ดีขึ้นและระบายโครงการเก่าที่ค้างอยู่ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นซึ่งได้แก่ การพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสาธารณูปโภคส่วนกลางในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ การด้อยค่าของสินทรัพย์ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายที่ดินทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มสูงขึ้นและอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดต่ำลง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 16% ในปี 2560-2561 จาก 19% ในปี 2559

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวในช่วง 3 ปีข้างหน้าเนื่องจากค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นประจำ อีกทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจให้เช่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรจากการที่ธุรกิจดังกล่าวมีอัตรากำไรที่สูงกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 17%-23% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าตามสมมติฐานของทริสเรทติ้ง

ความกังวลต่อหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูง

อุปสงค์ของอสังหาริมทรัพย์มีลักษณะเป็นวงจรขึ้นลงและได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศส่งผลให้อุปสงค์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ หนี้ภาคครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูงก็ยังส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอีกด้วย โดยธนาคารทั้งหลายยังคงมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคาปานกลางถึงต่ำซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท อย่างไรก็ตาม สินค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นบ้านสร้างเสร็จที่พร้อมอยู่อาศัยและบริษัทยังมีกระบวนการตรวจสอบฐานะการเงินของผู้ซื้อที่เข้มงวดด้วย จึงส่งผลให้อัตราการปฏิเสธการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ธนาคารต่าง ๆ พิจารณาให้แก่ลูกค้าของบริษัทนั้นลดลงเหลือเพียง 1% ในปี 2561 จากประมาณ 5% ในปี 2560

ได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่

ทริสเรทติ้งคาดว่ามาตรการใหม่นี้จะกระทบบริษัทเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มบังคับใช้เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ภายใต้เกณฑ์ใหม่นี้ ผู้ซื้อบ้านสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 70%-80% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับสัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และหลังถัด ๆ ไป ซึ่งลดลงจากเดิมที่สามารถกู้ได้ถึง 90%-100% ของมูลค่าหลักประกัน ทริสเรทติ้งคาดว่าเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาตรการใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมมากกว่าความต้องการซื้อโครงการแนวราบเนื่องจากผู้ซื้อคอนโดมิเนียมมักเป็นผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือหลังที่ 3 ในขณะที่โครงการส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบและลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังแรก ดังนั้น มาตรการใหม่นี้จึงไม่น่าจะกระทบต่อยอดจำหน่ายของบริษัทมากนัก อย่างไรก็ตาม มีลูกค้าบางส่วนที่ต้องการสินเชื่อเกินกว่า 100% ของมูลค่าหลักประกันเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการโอน ซึ่งทำให้ผู้ซื้อบ้านอาจต้องการเวลาเพิ่มขึ้นในการออมเงินเอาไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจจะต้องยืดเวลาในการผ่อนดาวน์ให้แก่ผู้ซื้อบ้านบางรายเพื่อให้พอดีกับเวลาที่ผู้ซื้อต้องการออมเงิน

สภาพคล่องของบริษัทมีความตึงตัว

สภาพคล่องของบริษัทยังคงตึงตัว ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นทำให้กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนตัวลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.7% ในปี 2559 และ 5.8% ในปี 2560-2561 จากระดับ 35.2% ในปี 2557

ณ เดือนธันวาคม 2561 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 2,860 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 1,346 ล้านบาท ตั๋วแลกเงินจำนวน 987 ล้านบาท และวงเงินกู้อื่น ๆ อีกจำนวน 527 ล้านบาท บริษัทคาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาทในปี 2562 และอีกราว 600-700 ล้านบาทในระหว่างปี 2563-2564 บริษัทจะจ่ายเงินปันผลประมาณ 110 ล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินปันผล 11 ล้านบาทและหุ้นปันผลมูลค่า 99 ล้านบาท สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทนั้นประกอบด้วยเงินสดจำนวน 88 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 500 ล้านบาท และวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกอีก 771 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะจำหน่ายที่ดินบางส่วนมูลค่าประมาณ 1,100 ล้านบาทอีกด้วยเพื่อเสริมสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทจำเป็นจะต้องก่อภาระหนี้เพิ่มสำหรับการลงทุนตามแผน ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 60% ในช่วงปี 2562-2563 และหลังจากนั้นจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 57% ในปี 2564

บริษัทมีข้อกำหนดทางการเงินตามเงื่อนไขหุ้นกู้และตามสัญญาเงินกู้ในการที่จะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2 เท่าและดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในระดับที่ต่ำกว่า 1.5 เท่า ในขณะที่บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าว ณ เดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 1.2 เท่าและ 1.4 เท่าตามลำดับ ดังนั้น บริษัทควรบริหารโครงสร้างเงินทุนอย่างระมัดระวังในขณะที่ขยายธุรกิจเพื่อที่จะปฏิบัติให้ได้ตามข้อกำหนดดังกล่าว

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• รายได้ของบริษัทคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ราว ๆ ปีละ 4,500-5,300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564

• อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 31%-37% และอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 17%-22% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

• เงินทุนสำหรับซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ 800 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564

• เงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,700 ล้านบาทในปี 2562 และราว 600-700 ล้านบาทในปี 2563-2564

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนความกังวลของทริสเรทติ้งที่มีต่อการลงทุนเชิงรุกของบริษัทในหลากหลายธุรกิจ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นแต่น่าจะต่ำกว่าระดับ 60% อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินไม่น่าจะต่ำกว่าระดับ 5% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ที่ 2-3 เท่า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีรายได้ชดเชยที่สมดุลกันก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทประสบความสำเร็จในการสร้างความหลากหลายทางธุรกิจโดยขยายไปสู่ธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้สม่ำเสมอและ/หรือหากบริษัทสามารถลดระดับการก่อหนี้ลงได้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550

บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) (MK)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ