ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “ธ. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” ที่ “A-” หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ “BBB” และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น “Stable” จาก “Positive”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 26, 2019 19:30 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.99% โดย บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “BBB” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Positive” หรือ “บวก” ด้วย ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนถึงระยะเวลาที่เกินความคาดหมายของทริสเรทติ้งในการที่ธนาคารจะได้รับประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank) ประเทศไต้หวัน ทั้งในส่วนของการขยายฐานลูกค้า การเพิ่มสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และ/หรือการลดการกระจุกตัวของสินเชื่อลง

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากธุรกิจของธนาคารที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก รวมถึงการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าเงินกู้รายใหญ่ และการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากฐานลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ในระดับสูง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

แนวทางใหม่ในการเติบโต

แม้ว่าการพัฒนาธุรกิจจะมีความก้าวหน้าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ทริสเรทติ้งก็ยังคาดหวังว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และบริษัทลูกอื่น ๆ ในกลุ่มบริษัทแอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จะสามารถขยายธุรกิจและเพิ่มความหลากหลายของแหล่งที่มาของรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ในระยะยาว ทริสเรทติ้งก็คาดหวังว่าสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิต่อรายได้รวมของธนาคารจะขยายตัวจากระดับ 4.7% ในปี 2561

ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทแอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าซึ่งประกอบด้วยบริการการค้าระหว่างประเทศ บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา บริการบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ และบริการบัญชีเงินเดือนพนักงาน ในขณะเดียวกัน ทางกลุ่มยังได้ดำเนินกลยุทธ์ใหม่ไปพร้อมกับการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ เช่น บริการทางการเงินสำหรับลูกค้าสถาบัน (Business Banking) บริการด้านธุรกรรมธนาคาร (Transaction Banking) และบริการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ตัวอย่างสำหรับบริการด้านธุรกรรมธนาคารนั้นคือกลยุทธ์ที่ทางกลุ่มจะได้รับประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับ “QFPay” ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินออนไลน์จากประเทศจีนด้วยการใช้แพลตฟอร์มของ “QFPay” เพื่อเข้าถึงร้านค้าจำนวนมากที่เป็นผู้เช่าในห้างสรรพสินค้า Terminal 21 และโรงแรมในเครือ Grande Centre Point ซึ่งเป็นธุรกิจที่ บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด เป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารงาน บริษัท

แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล เป็นบริษัทลูกของ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิต “A+/Stable” จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทแม่ของบริษัทแอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ทั้งห้างสรรพสินค้า Terminal 21 และโรงแรมในเครือ Grande Centre Point ต่างก็มีสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างการทำธุรกรรมการจ่ายเงินในปริมาณมากอันจะเสริมความสามารถในการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีแผนนำเสนอบริการของธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจจัดการกองทุนผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อขยายการนำเสนอบริการให้แก่กลุ่มลูกค้าบริหารความมั่งคั่งของธนาคารอีกด้วย

เป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก

ธุรกิจใหม่ ๆ จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่มีขนาดเล็กได้ ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ระดับ 1.3% และเงินฝากที่ระดับ 1.4% ณ สิ้นปี 2561 มูลค่าสินทรัพย์รวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 238,658 ล้านบาท

ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 11 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 11 แห่ง

เงินกองทุนยังคงแข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะคงรักษาเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งไว้ได้ โดยประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะอยู่ที่ระดับ 17%-18% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งเพียงพอต่อการรองรับการเติบโตของธุรกิจ โดยทริสเรทติ้งมีสมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับประมาณ 6% ต่อปีและอัตราส่วนเงินปันผลที่ระดับ 40% ของรายได้สุทธิ ทั้งนี้ เงินกองทุนชั้นที่ 1 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 85% ของเงินกองทุนรวมของธนาคาร ณ สิ้นปี 2561 บ่งชี้ถึงคุณภาพเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง

คุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่งแม้จะมีลูกค้าที่กระจุกตัวสูง

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีการกระจุกตัวของสินเชื่อสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดเล็กและขนาดกลางอื่น ๆ ที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง โดยมีลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารไม่กี่รายที่มีสัดส่วนสินเชื่อและเงินฝากรวมในระดับสูง การกระจุกตัวของสินเชื่อเป็นผลมาจากการให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 75% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2561 ธนาคารยังขาดฐานเงินฝากของลูกค้ารายย่อยที่กระจายตัวและยังไม่มีแหล่งเงินทุนที่มีความหลากหลาย

กระนั้น ธนาคารก็ยังมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ชาวไทยที่มีคุณภาพสูงและแสวงหากลุ่มธุรกิจที่เป็นของชาวไต้หวันในประเทศไทย ธนาคารนิยมที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงและสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารที่รวมรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินอยู่ที่ระดับ 1.92% ณ สิ้นปี 2561 เทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.1%

มีการตั้งสำรองที่แข็งแกร่งและมีการสูญเสียทางเครดิตที่คงที่

ธนาคารมีอัตราการสูญเสียทางเครดิตที่ดีกว่าอุตสาหกรรม โดยธนาคารมีต้นทุนทางเครดิตอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ธนาคารมีต้นทุนทางเครดิตอยู่ที่ระดับ 0.4% ในปี 2561 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 1.4% สัดส่วนปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 107% ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากระดับ 80% ในปี 2557 และระดับ 90% ในปี 2558 ธนาคารมีการขายหนี้เสียจำนวน 343 ล้านบาทออกไปในปี 2561 (เทียบกับ 512 ล้านบาทในปี 2560) และตัดหนี้สูญที่ประมาณ 63 ล้านบาทจากการประเมินในปี 2560 (เทียบกับ 14.5 ล้านบาทในปี 2559)

เงินทุนปรับตัวดีขึ้น

แหล่งเงินทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดยรวมยังอ่อนแอกว่าแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แต่ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา กล่าวคือ เงินฝากของธนาคารขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 เงินฝากของธนาคาร ณ สิ้นปี 2560 มีสัดส่วน 83% ของแหล่งเงินทุน ซึ่งสูงกว่าระดับ 60%-70% ของธนาคารขนาดเล็กอื่น ๆ ที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง เงินทุนจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account – CASA) ของธนาคารก็ดีขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 48% ของเงินฝากรวม ณ สิ้นปี 2561 จากช่วงระดับประมาณ 40% ในระหว่างปี 2557-2559 อันเป็นผลมาจากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝาก “Biz Saving” สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ทริสเรทติ้งยังมองว่าการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำและการลดลงของเงินกู้ยืมในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นผลเนื่องมาจากการปฏิบัติตามเกณฑ์การดำรงแหล่งที่มาของเงินให้สอดคล้องกับการใช้ไปของเงิน (Net Stable Funding Ratio -- NSFR) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเพื่อเป็นการบริหารต้นทุนทางการเงินของธนาคาร อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ระดับ 96% ณ สิ้นปี 2561 จากระดับ 107% ในปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากการขยายตัวของเงินฝาก ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ระดับ 100% ณ สิ้นปี 2561 อยู่เล็กน้อย

สภาพคล่องที่เพียงพอ

สภาพคล่องของธนาคารอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยธนาคารมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 33% ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งเทียบเคียงได้กับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ ในขณะที่สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 158% ของธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดเล็กกว่า และที่ระดับ 184% ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบโดยอ้างอิงข้อมูลจาก ธปท.

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III

อันดับเครดิตในระดับ “BBB” สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (LHBANK255A) ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ได้รับการชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. โดยตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดได้หากวันไถ่ถอนมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิที่ด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวจะถูกตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณาเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้

สมมุติฐานกรณีพื้นฐาน

ต่อไปนี้คือสมมุติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในระหว่างปี 2562-2564

• อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6%

• ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.4%

• อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ระดับ 2.2%-2.3%

• อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะอยู่ที่ระดับ 17%-18%

• อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะยังคงได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนด้านธุรกิจและเงินกองทุนจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ CTBC Bank โดยน่าจะเห็นเป็นรูปธรรมจากการขยายตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การขยายฐานลูกค้า และการเพิ่มสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ในขณะที่การกระจุกตัวของสินเชื่อนั้นน่าจะลดลงได้ในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในการขยายธุรกิจและรายได้ ในการนี้ ทริสเรทติ้หวังจะเห็นความสำเร็จในการดำเนินงานของธนาคารที่มีมากขึ้นทั้งในส่วนของการมีฐานลูกค้าที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากที่เพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการต่อรายได้รวมที่เพิ่มสูงขึ้น และการกระจุกตัวของสินเชื่อที่ลดลง ในขณะเดียวกัน ธนาคารก็ควรจะรักษาคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งเงินกองทุน และความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในสภาพที่ดีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากเงินกองทุนถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ และ/หรือคุณภาพสินทรัพย์หรือความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงอย่างชัดเจน ทริสเรทติ้งก็อาจจะทำการปรับลดอันดับเครดิตลง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการในการจัดอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์, 30 มีนาคม 2560

- Group Rating Methodology, 10 กรกฏาคม 2558

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH BANK)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
LHBANK255A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2  4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568                                               	BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต:	Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ