ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB-” ในขณะเดียวกันยังได้จัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB-” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2563
อันดับเครดิต “BBB-” สะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทยและความแข็งแกร่งของตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ “ดั๊บเบิ้ล เอ” อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นและลงของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ อุปสงค์ของกระดาษพิมพ์เขียนในระดับโลกและในประเทศที่ชะลอตัวเล็กน้อย รวมถึงการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทที่กำลังดำเนินอยู่
ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ระดับ 25.9% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 จากต่ำสุดที่ระดับ 4.3% ในปี 2558 เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 4.8 พันล้านบาทในปี 2561 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกำไรและรายได้ของบริษัทจะลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงแข็งแรง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะอยู่ในช่วง 17%-22% และเงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะอยู่ในช่วง 2.7-3.6 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานโดยรวมน่าจะอยู่ในระดับที่มากกว่า 19 พันล้านบาทต่อปี
ทริสเรทติ้งคาดว่าการก่อหนี้ของบริษัทอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทกำลังพัฒนาโรงงานผลิตเยื่อกระดาษแห่งใหม่ที่ใช้กระดาษใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบโดยใช้เงินลงทุนที่ประมาณ 900 ล้านบาท เมื่อพิจารณาถึงรายจ่ายอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงภาระหนี้ที่ต้องชำระรายปีร่วมด้วยแล้ว เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทไม่น่าจะมีเพียงพอสำหรับรายจ่ายทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทสามารถขายสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหลักของบริษัทเพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่ง
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม โดยบริษัทไม่มีแรงกดดันในด้านสภาพคล่องมากนักในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้จำนวนประมาณ 4.4 พันล้านบาทจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2563 ทำให้บริษัทจะต้องหาแหล่งเงินทดแทนบางส่วนด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่
หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดในการดำรงอัตราส่วนทางการเงินในส่วนของอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า แต่อัตราส่วนดังกล่าว ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 อยู่ที่ 1.2 เท่า จึงถือว่าบริษัทปฏิบัติได้ดีกว่าข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดนี้ได้ตลอดช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนเอาไว้ได้ ในขณะที่การปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทจะไม่ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลกำไรของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทไม่ทำให้กระแสเงินสดและสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทและกระแสเงินสดลดลงจากการคาดการณ์หรือหากโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง สถานะเครดิตของกลุ่มบริษัทและสมาชิกในกลุ่มบริษัทจะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตตราสารหนี้ของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562