ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ไทยเบฟเวอเรจ” ที่ “AA” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 7, 2019 16:15 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนการมีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ และแหล่งรายได้ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากภาระหนี้ที่สูงของบริษัท การแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงกฎระเบียบที่เข้มงวด และการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจเครื่องดื่มภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มภายในประเทศของบริษัทปรับตัวลดลงในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากธุรกิจภายในประเทศกลับเพิ่มขึ้น 8.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตมาจากการฟื้นตัวของความต้องการของทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลให้อัตราการทำกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 15.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 เมื่อเทียบกับ 14.3% ในปีงบประมาณ 2561 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความต้องการของตลาดภายในประเทศจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการใช้งบประมาณที่มากขึ้นของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศประกอบกับการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นของภาคการเกษตร ดังนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่า รายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณ 8% ในปีงบประมาณ 2562 และ 3% ในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 อีกทั้งยังประเมินว่าอัตราการทำกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 16% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

สถานะทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นจากการซื้อกิจการครั้งล่าสุด

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการลงทุนที่สำคัญ 3 รายการซึ่งประกอบด้วยการซื้อกิจการของกลุ่ม Grand Royal (GRG) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสุรารายใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมา Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation (Sabeco) ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม และกิจการร้าน KFC ในประเทศไทย การซื้อกิจการดังกล่าวเพิ่มรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายมากกว่า 30% ทั้งนี้ การขยายธุรกิจไปในประเทศเมียนมาและเวียดนามจะช่วยให้บริษัทลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดภายในประเทศ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 รายได้จากต่างประเทศมีสัดส่วนเป็น 28% ของยอดขาย เมื่อเทียบกับที่ระดับ 3% ของยอดขายในปีงบประมาณ 2560

ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศเมียนมาและเวียดนามยังไม่อิ่มตัวและมีแนวโน้มเติบโตที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศไทย การเข้าไปสู่ตลาดประเทศเมียนมาและเวียดนามจะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตที่สำคัญของบริษัทในช่วง 5 ปีถัดไป จากรายได้ในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่า ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนรายได้ที่มาจากนอกประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและจะช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดภายในประเทศ

สถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่ม

บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในทุก ๆ ตลาด บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานาน โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามปริมาณการขายสำหรับสุรามากกว่า 90% และเบียร์ประมาณ 40% นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มและน้ำดื่ม และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายสำคัญในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ อีกด้วย สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น Sabeco เป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนามซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 40% ในขณะที่กลุ่ม Grand Royal ก็เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสุราสีรายใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมาซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากว่า 70% ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะที่แข็งแกร่งทางการตลาดไว้ได้เนื่องจากมีตราสินค้าที่แข็งแกร่งประกอบกับการมีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง

มีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง

บริษัทมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางซึ่งครอบคลุมร้านค้าปลีกในประเทศไทยมากกว่า 400,000 ร้าน โดยมีศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ 4 แห่ง และมีรถขนส่งสินค้า 6,800 คัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีช่องทางจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายกว่า 300 รายและมีพนักงานขายมากกว่า 1,300 คน อีกทั้งยังขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนผ่านบริษัทในเครือที่สำคัญ ๆ ด้วย อาทิ Fraser and Neave Ltd. (F&N) ซึ่งมีสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดของตนเองในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ส่วนการซื้อกิจการล่าสุดดังที่กล่าวมาแล้วนั้นช่วยเพิ่มเครือข่ายในการกระจายสินค้าในประเทศเมียนมา และเวียดนาม

กฎระเบียบภาครัฐจำกัดการเติบโตในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับผลกระทบจากการควบคุมดูแลที่เข้มงวดของภาครัฐ กล่าวคือ หน่วยงานภาครัฐมีการออกกฎระเบียบมากมาย อาทิ การจำกัดการโฆษณาและการทำกิจกรรมทางการตลาด การกำหนดเวลาในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น กฎระเบียบดังกล่าวทำให้การเพิ่มยอดจำหน่ายและการทำการตลาดในกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ กระทำได้ยากแม้ว่าจะมีการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างมากก็ตาม นอกจากนี้ การเก็บภาษีสรรพสามิตยังเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ภาครัฐนำมาใช้เพื่อลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย โดยรัฐมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตค่อนข้างบ่อย ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการขึ้นภาษีสรรพสามิตถึง 5 ครั้ง ในอดีตนั้นบริษัทสามารถรักษาอัตราการทำกำไรโดยการส่งผ่านภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้บริโภคซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายลดลงชั่วคราว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาที่อยู่ในระดับต่ำ อัตราการทำกำไรหรือปริมาณการจำหน่ายของบริษัทจึงมีโอกาสที่จะสูงมากกว่าระดับในปัจจุบันหากมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตที่ไม่บ่อยเกินไป

คาดว่าภาระหนี้จะลดลง

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงในช่วง 3 ปี ข้างหน้า ทั้งนี้ ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 2.158 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 และปรับตัวลงลงเป็น 2.062 แสนล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทปรับลดลงเป็น 5.0 เท่า (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 จาก 6.4 เท่าในปีงบประมาณ 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.0 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 เมื่อเทียบกับ 3.39 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 ทั้งนี้

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินกู้จำนวนมากในช่วง 3 ปีข้างหน้าเนื่องจากผู้บริหารของบริษัทได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดภาระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับ 3.5 เท่าในปีงบประมาณ 2564

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดจำนวน 2.41 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 33 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า รวมทั้งยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมสภาพคล่องทั้งหมดของบริษัทแล้วคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้และการลงทุนของบริษัทในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้สินระยะยาวที่จะต้องชำระประมาณ 6.0 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีภาระหนี้ระยะสั้นจำนวน 1.40 หมื่นล้านบาท ในขณะที่จะต้องใช้งบลงทุนจำนวนประมาณ 7.0 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2563

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ เดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ 1.50 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ที่ 3 เท่า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2562-2564 ดังต่อไปนี้

• รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 8% ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ในปี 2563 และ ในปี 2564 ตามลำดับ

• อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 16%

• งบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงประมาณการ

• อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับ 3.5 เท่าในปีงบประมาณ 2564

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะที่แข็งแกร่งทั้งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศและต่างประเทศได้ต่อไป อีกทั้งจะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ลดลงได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับลดต่ำกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากแผนในการลดภาระหนี้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ThaiBev)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TBEV203A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 AA
TBEV213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA
TBEV233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA
TBEV253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 9,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA
TBEV283A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 14,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA
TBEV213B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 31,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA
TBEV243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA
TBEV293A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 10,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ