ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น” ที่ “A” หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ที่ “BBB+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 18, 2019 18:10 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Stable” หรือ “คงที่”

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน รวมถึงสถานะทางการตลาดที่มั่นคงในธุรกิจการตลาดเชื้อเพลิง และประโยชน์ที่ได้รับจากการกระจายความหลากหลายของธุรกิจ ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงบางส่วนจากความผันผวนของราคาน้ำมันและการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการลงทุนของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของโรงกลั่นน้ำมัน

อันดับเครดิตสะท้อนความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายกำลังการกลั่นน้ำมัน (Debottleneck) เพื่อที่จะเพิ่มค่าการกลั่น (Gross Refinery Margin -- GRM) ของบริษัท ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ของบริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงในส่วนที่จำเป็น ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จก็จะช่วยให้โรงกลั่นมีค่าสาธารณูปโภคที่ลดลง อีกทั้งโรงกลั่นจะมีเสถียรภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจะช่วยขยายระยะเวลาสำหรับรอบในการซ่อมบำรุงโรงกลั่นให้นานยิ่งขึ้น

นอกจากประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทส่วนหนึ่งยังมาจากความสามารถในการจัดหาน้ำมันดิบที่มีความเหมาะสม โดยรวมแล้วผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ของบริษัทส่วนใหญ่เป็นน้ำมันชนิดกลาง (Middle Distillate) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 65% ของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ น้ำมันชนิดกลางดังกล่าวประกอบไปด้วยน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้กำไรสูงสุด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปประเภทนี้มี Crack Spread หรือส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปชนิดนั้น ๆ กับราคาน้ำมันดิบ อยู่ที่ประมาณ 13-15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทมีสัดส่วนการกลั่นน้ำมันชนิดหนักได้ประมาณ 10%-15% ของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ ซึ่งโดยปกติน้ำมันชนิดนี้จะมีส่วนต่างราคาที่ติดลบ แต่บริษัทสามารถจำหน่ายน้ำมันประเภทนี้โดยได้รับราคาส่วนเพิ่ม (Premium) เนื่องจากน้ำมันเตาที่บริษัทผลิตได้นั้นมีส่วนประกอบของกำมะถันในระดับต่ำ

ค่าการกลั่นสูงกว่าอุตสาหกรรม

ค่าการกลั่นของบริษัทสูงกว่าโรงกลั่นน้ำมันของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงครึ่งแรกของปี 2562 ค่าการกลั่นเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ 6.19 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงกว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 5.36 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ความพยายามของบริษัทที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่นน้ำมันจะช่วยให้ค่าการกลั่นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงหน่วย Hydrocracker และการก่อสร้างหน่วย Continuous Catalyst Regeneration ใหม่ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นรวมถึงช่วยขยายระยะเวลาของรอบในการซ่อมบำรุง ในการนี้ บริษัทคาดว่าการปรับปรุงนี้จะช่วยเพิ่มค่าการกลั่นให้อยู่ที่ระดับประมาณ 1.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้หลังจากที่การดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

ธุรกิจการตลาดช่วยเพิ่มอัตรากำไรโดยรวม

ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยังเกิดจากประโยชน์ของการบูรณาการของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจการตลาดซึ่งช่วยเพิ่มอัตรากำไรโดยรวมให้แก่บริษัทเนื่องจากบริษัทได้รับค่าการตลาดเพิ่มเติมจากค่าการกลั่น สถานะของธุรกิจการตลาดที่แข็งแกร่งช่วยให้บริษัทสามารถกลั่นน้ำมันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีค่าการกลั่นสูงสุดเนื่องจากสัดส่วนการส่งออกน้ำมันซึ่งขายในราคาส่วนลดนั้นมีน้อยลง

บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจค้าเชื้อเพลิงโดยยอดขายในประเทศมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate -- CAGR) ที่ระดับ 5.1% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ยอดขายของบริษัทผ่านธุรกิจการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 5,813 ล้านลิตรในปี 2561 จาก 4,772 ล้านลิตรในปี 2557 ในช่วงเวลาเดียวกันอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 2.5% อัตราการเติบโตของยอดขายผ่านทางธุรกิจการตลาดที่สูงส่วนใหญ่มาจากการจำหน่ายผ่านสถานีบริการของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65%-70% ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ยอดขายผ่านสถานีบริการของบริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 7.5% เพิ่มขึ้นเป็น 4,020 ล้านลิตรในปี 2561 จาก 3,016 ล้านลิตรในปี 2557 อัตราการเติบโตในระดับสูงนี้สะท้อนถึงการรับรู้ถึงตราสินค้า “บางจาก” รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากน้ำมันที่ให้บริการในสถานีบริการน้ำมันของบริษัท บริษัทยังคงเป็นผู้ค้าปลีกน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2562

ในช่วงปี 2559-2561 ธุรกิจการตลาดของบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายประมาณ 2.0-2.5 พันล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจการตลาดนี้จะยังคงเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนให้แก่บริษัทเนื่องจากค่าการตลาดมีความผันผวนน้อยกว่าค่าการกลั่น

ผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมัน

แม้ว่าธุรกิจการกลั่นน้ำมันของบริษัทจะมีความแข็งแกร่ง แต่ความผันผวนของราคาน้ำมันยังคงเป็นความเสี่ยงหลักต่ออัตรากำไรของบริษัท กล่าวคือ บริษัทได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 เช่นเดียวกับโรงกลั่นน้ำมันอื่น ๆ แม้ว่าค่าการกลั่นฐาน (Market GRM) ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2561 แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรุนแรงก็ส่งผลให้บริษัทเกิดการขาดทุนจากสต็อก (Inventory Loss) 1.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ค่าการกลั่นรวมของบริษัทลดลงเหลือ 5.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2561 จาก 7.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปีก่อนหน้า Crack Spread ของน้ำมันเบนซินที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ส่งผลทำให้ค่าการกลั่นฐานของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 4.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ค่าการกลั่นฐานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 5.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเนื่องจาก Crack Spread ของน้ำมันเบนซินและน้ำมันชนิดกลางปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีผลขาดทุนจากสต็อกประมาณ 1.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่งผลให้ค่าการกลั่นรวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็น 1.41 แสนล้านบาทอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายเป็นส่วนใหญ่ ในการนี้ บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้อยู่ที่ระดับ 4.98% ลดลงจากระดับ 7.87% ในช่วงเดียวกันของปี 2561

การฟื้นตัวของค่าการกลั่นเริ่มปรากฏผลในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าการกลั่นฐานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นโดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นของบริษัท นอกจากนี้ การห้ามการใช้น้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูงของ International Marine Organization (IMO) ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 นั้นก็ยังเป็นปัจจัยบวกสำหรับบริษัทเนื่องจากบริษัทสามารถผลิตน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำกว่ามาตรฐานของ IMO

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าช่วยให้กำไรของบริษัทมีเสถียรภาพ

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการขยายธุรกิจเชิงกลยุทธ์ของบริษัทช่วยเสริมสร้างความสามารถในการรองรับความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่นได้ ในช่วงปี 2559-2561 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายให้แก่บริษัทได้ประมาณ 2.5-3.0 พันล้านบาทต่อปี บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าหลากหลายประเภทผ่านบริษัทย่อย (บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)) โดย ณ เดือนกันยายน 2562 โรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วของบีซีพีจีมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้น 404 เมกะวัตต์ เนื่องจากโรงไฟฟ้าของบีซีพีจีมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ซื้อที่มีความน่าเชื่อถือและยังมีการดำเนินงานที่มั่นคง ดังนั้น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจึงจะยังคงช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันต่อการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทต่อไปได้

ในอีกด้านหนึ่ง ทริสเรทติ้งเห็นว่าการที่บริษัทขยายไปสู่ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วยการลงทุนในบริษัทสัญชาตินอร์เวย์คือ OKEA ASA (OKEA) นั้นอาจจะทำให้บริษัทได้รับผลกระทบต่อความผันผวนของราคาน้ำมันมากขึ้น ดังนั้นในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำบริษัทอาจจะต้องควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพื่อรักษาอัตรากำไรสำหรับธุรกิจนี้ ในขณะที่การลงทุนในเหมืองลิเธียมนั้นก็ยังต้องใช้ระยะเวลาในการรับรู้ผลการดำเนินงานเนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะกลางของบริษัท โดยคาดว่าเหมืองลิเธียมนี้จะเริ่มเปิดดำเนินงานในช่วงต้นปี 2564

ภาระหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

จากความพยายามในการขยายธุรกิจอื่นๆ บริษัทมีแผนจะลงทุนในธุรกิจสีเขียวให้มากขึ้น บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนนับพันล้านบาทสำหรับธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพไปจนถึงปี 2567 โดยแผนการลงทุนประกอบด้วยการซื้อโรงไฟฟ้ารวมถึงการขยายกำลังการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทมีโอกาสที่จะซื้อโรงไฟฟ้ามากที่สุดเพื่อชดเชยกับ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่มีแนวโน้มจะลดลดเนื่องค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยจะเริ่มหมดอายุในช่วงปี 2565-2567

ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับปี 2562-2565 คาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาทสำหรับการลงทุนที่มีภาระผูกพันและการลงทุนที่มีความเป็นไปได้ โดยที่ทริสเรทติ้งยังไม่ได้พิจารณารวมไปถึงการเพิ่มทุนหรือแผนการนำบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับ 50%-55%

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 9.5 พันล้านบาทถึง 1.45 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2565 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายน่าจะอยู่ในระดับ 4-6 เท่าไปจนถึงปี 2564 ก่อนที่จะลดลงต่ำกว่า 4 เท่าในปี 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะไม่มีการลงทุนจำนวนมากหากบริษัทไม่มีการเพิ่มทุนเพื่อรักษาระดับโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสมได้

สถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

บริษัทมีสภาพคล่องเป็นที่น่าพอใจ โดย ณ เดือนกันยายน 2562 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดประมาณ 6.7 พันล้านบาท อีกทั้งยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 1.52 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 8.0 พันล้านบาท ในขณะเดียวกันกับที่บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระทั้งเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่ประมาณ 8.4 พันล้านบาท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• ทริสเรทติ้งประมาณการราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลสำหรับช่วงที่เหลือของปี 2562 และสำหรับปี 2563 และจะลดลงเหลือ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลหลังจากนั้น

• ค่าการกลั่นฐานของบริษัทจะอยู่ที่ 5.5-7.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปี 2562-2565

• ยอดจำหน่ายผ่านสถานีบริการของบริษัทจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ประมาณ 5%-6% ในช่วงปี 2562-2565

• ประมาณการเงินลงทุนสำหรับปี 2562-2565 จะอยู่ที่ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการผลิต การขยายธุรกิจการตลาด การซื้อโรงไฟฟ้าและขยายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น และการขยายกำลังการผลิตในธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

• ประมาณการดังกล่าวยังไม่รวมแผนการนำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รวมถึงแผนการนำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นขายเข้ากองทุนในอนาคต

• การลงทุนใน OKEA อยู่บนพื้นฐานของส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนเท่านั้น

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจกลั่นน้ำมันและธุรกิจการตลาดของบริษัทเอาไว้ได้ ในขณะที่การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้านั้นคาดว่าจะสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนให้แก่บริษัทซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันได้บางส่วน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยที่มีผลในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ได้แก่ การที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจำนวนมากได้อย่างสม่ำเสมอจากการกระจายธุรกิจโดยที่ไม่ส่งผลกระทบทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นจากการที่โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจากการลงทุนขนาดใหญ่โดยการก่อหนี้เป็นหลัก หรือการที่บริษัทประสบผลขาดทุนอย่างมากจากการดำเนินงานหรือจากการลงทุน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 12 กันยายน 2561

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BCP208A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
BCP214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
BCP224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
BCP238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
BCP244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
BCP258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
BCP273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
BCP28DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
BCP303A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A
BCP19PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 10,000 ล้านบาท BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ