ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม” ที่ “AAA” หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ที่ “AA” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 13, 2020 18:03 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ที่ระดับ “AAA” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ “AA” ด้วย ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของ ปตท.สผ. อยู่ 2 ขั้นสะท้อนถึงลักษณะการด้อยสิทธิและความเสี่ยงที่ผู้ถือตราสารอาจถูกเลื่อนการชำระดอกเบี้ยตราสารดังกล่าวออกไปได้ นอกจากนี้

ทริสเรทติ้งยังคงแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ให้แก่บริษัทด้วยเช่นกัน

อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. ยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยของบริษัท ตลอดจนการมีความเสี่ยงด้านการตลาดที่ต่ำเนื่องจากบริษัทมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) การมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำจากแหล่งปิโตรเลียมเดิมของบริษัท รวมทั้งการมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง และฐานะการเงินที่มีความแข็งแกร่ง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ราคาน้ำมันอยู่ภายใต้ภาวะกดดัน

ในการประชุมระหว่างองค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (Organization of the Petroleum Exporting Countries -- OPEC) และประเทศพันธมิตรเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาไม่สามารถหาข้อสรุปในการลดกำลังการผลิตน้ำมันได้ ส่งผลให้เกิดการปะทุของสงครามราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงมากกว่า 30% เหลือประมาณ 32 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในวันที่ 9 มีนาคม 2563 นอกจากสถานการณ์อุปทานส่วนเกินแล้ว การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ยังทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำหรับการเดินทางและการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ลดลงอีกด้วย การที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่มีการทำสงครามราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตนเองเอาไว้จึงทำให้อุปทานน้ำมันดิบยังไม่น่าจะลดลงตามภาวะอุปสงค์ โดยราคาน้ำมันดิบอาจจะยืนอยู่ที่ระดับนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือน

ปริมาณจำหน่ายที่เป็นก๊าซธรรมชาติ 70% ช่วยให้กระแสเงินสดมีเสถียรภาพ

โครงสร้างรายได้ของบริษัทประกอบด้วยการขายจากก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของปริมาณจำหน่ายรวม ส่วนที่เหลืออีก 30% จะเป็นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate) สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับ ปตท. ช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทมีเสถียรภาพ โดยผู้ซื้อจะรับผิดชอบซื้อปริมาณก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำต่อปีตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือชำระเงินในจำนวนที่เทียบเท่า การทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้บริษัทสามารถจำหน่ายปิโตรเลียมได้ถึงประมาณ 70% ของปริมาณการจำหน่ายปิโตรเลียมของบริษัทในแต่ละปี

สูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นช่วยจำกัดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันให้แก่ ปตท.สผ. ซึ่งราคาขายก๊าซธรรมชาตินั้นมีความผันผวนน้อยและช่วยรักษาดุลยภาพให้แก่ราคาขายเฉลี่ยของบริษัท ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติจะอ้างอิงกับราคาน้ำมันเตาที่ประมาณ 30%-50% โดยที่สูตรการคำนวณราคายังได้รวมการปรับปรุงค่าความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเอาไว้ด้วย ทั้งนี้ สูตรการคำนวณดังกล่าวจะใช้เวลาในการปรับราคาช้ากว่าราคาน้ำมันประมาณ 3 เดือนถึง 1 ปี

ในปี 2562 ราคาขายเฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 1.2% เป็น 47.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบแม้ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะลดลง 8.8% เหลือ 63.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลก็ตาม ราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับราคาขายก๊าซธรรมชาติที่มีการปรับราคาตามราคาน้ำมันเมื่อ 3 เดือนถึง 1 ปีที่แล้ว

เป็นผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย

บริษัทเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติ นอกจากนี้ ปตท. ยังเป็นผู้จำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยและยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80%-85% ของยอดขายของบริษัทอีกด้วย ดังนั้น บริษัทจึงแทบจะไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิตจากลูกค้ารายใหญ่เลย ในขณะเดียวกัน ปตท. ก็ถือหุ้น 65.3% ในบริษัทด้วย ทั้ง ปตท. และบริษัทต่างก็มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของไทยตามกฎหมาย

กลยุทธ์ธุรกิจในปี 2562 ช่วยยืดอายุปริมาณสำรองปิโตรเลียม

ณ สิ้นปี 2562 ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางธุรกิจของบริษัท ในช่วงปี 2557-2561 บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียม (Reserve Life) เพียงพอสำหรับการผลิตเพียงประมาณ 5 ปี ในขณะที่อัตราส่วนการจัดหาปริมาณสำรองเฉลี่ย 5 ปีเพื่อทดแทนการผลิต (5-year Average Reserve Replacement Ratio) นั้นอยู่ต่ำกว่า 1 เท่า อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์ที่เน้นการขยายการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ (Coming Home Strategy) และกลยุทธ์เสริมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจผ่านการร่วมทุนกับผู้ดำเนินการชั้นนำของโลก (Strategic Alliance Strategy) ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วเพิ่มขึ้น 68% เป็น 1,140 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ส่งผลให้มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ปี โดยปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่มาจากการซื้อสินทรัพย์ของ Murphy ในประเทศมาเลเซีย รวมถึงการซื้อสินทรัพย์ของ Partex ในประเทศโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในโครงการ Mozambique Offshore Area 1 และโครงการ Algeria HBR รวมถึงการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตในโครงการบงกชและเอราวัณในปี 2562 ก็ช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทด้วยเช่นกัน

ปริมาณขายคาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ยอดขายของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อและดำเนินงานสินทรัพย์ของโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ในปี 2562 บริษัทมีปริมาณขายเพิ่มขึ้น 14.8% เป็น 3.5 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันจากการซื้อสินทรัพย์ของ Murphy ในช่วงกลางปี 2562 เป็นสำคัญ ปริมาณขายนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3.8-4.3 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นนี้มีพื้นฐานมาจากการดำเนินงานเต็มปีของสินทรัพย์ที่ซื้อมาจาก Murphy และ Partex ในปี 2562 รวมถึงการเริ่มดำเนินงานของโครงการ Algeria HBR ในปี 2564 และโครงการเอราวัณและบงกชในช่วงปี 2565-2566

ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทอาจจะเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินงานโดยเฉพาะโครงการที่บริษัทมีความคุ้นเคยน้อยเช่นโครงการ Mozambique อย่างไรก็ตาม โครงการที่จะมีสัดส่วนสร้างรายได้มากที่สุดในอีก 2-3 ปีข้างหน้าคือโครงการเอราวัณและโครงการบงกช ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ดำเนินงานโครงการบงกชในขณะเดียวกันยังมีสัดส่วนการลงทุนในโครงการเอราวัณด้วย ดังนั้น บริษัทจึงมีความคุ้นเคยกับสภาพทางธรณีวิทยาของโครงการทั้งสองดังกล่าวซึ่งช่วยลดความกดดันต่อความเสี่ยงในการดำเนินงาน

ต้นทุนการผลิตมีความยืดหยุ่น

บริษัทได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการปรับต้นทุนการผลิตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจนอยู่ในระดับที่สูงกว่า 70% ทั้งนี้ จะเห็นได้ในปี 2558 ที่บริษัทลดต้นทุนที่เป็นเงินสดทั้งหมดลง 27% จนเหลือประมาณ 15.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยของบริษัทลดลง 28% บริษัทมีต้นทุนที่เป็นเงินสดทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 16 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2562 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปิโตรเลียม (Lifting Cost) ยังคงอยู่ในระดับประมาณ 4-5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

ความสามารถในการทำกำไรยังคงแข็งแกร่ง

รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2562 ที่ระดับ 16% เป็น 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561 ในขณะที่กำไรยังคงแข็งแกร่ง อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 74.7% กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นและราคาขายเฉลี่ยที่สูงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในขณะที่ต้นทุนยังค่อนข้างคงที่ ทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561

แม้ว่าสัญญาแบ่งปันผลผลิตของโครงการบงกชและโครงการเอราวัณอาจจะทำให้ราคาขายเฉลี่ยของบริษัทลดลงโดยจะเริ่มต้นในปี 2565 แต่บริษัทก็มีแผนการที่จะรักษาอัตรากำไรโดยการลดต้นทุนการผลิตในทั้ง 2 โครงการ การรวม 2 โครงการเข้าด้วยกันจะช่วยลดต้นทุนได้ส่วนหนึ่งจากการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะมีความยืดหยุ่นในการรักษาอัตรากำไรให้สูงเกินกว่า 65% ตลอดช่วงประมาณการได้ซึ่งบริษัทได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วจากโครงการลดต้นทุนในช่วงปี 2558-2559

สถานะสภาพคล่องมีความแข็งแกร่ง

บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2562 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 746 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจำนวน 265.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นเป็นวงเงินกู้ที่ธนาคารมีภาระผูกผันจัดหาให้ตามกำหนดเวลา (Committed Credit Line) ในขณะที่บริษัทไม่มีภาระที่จะต้องชำระคืนเงินกู้ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2563 บริษัทได้ซื้อคืนหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2564 ดังนั้น บริษัทจึงไม่มีภาระที่จะต้องชำระคืนหุ้นกู้ในปี 2564 ในขณะที่บริษัทมีแผนสำหรับเงินลงทุนประมาณ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 และอีก 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 ดังนั้น เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมทั้งเงินทุนจากการดำเนินงานจึงคาดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช่จ่ายลงทุนสำหรับปี 2563

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2563 และ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 และปี 2565

• ต้นทุนที่เป็นเงินสดทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 16-17 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตลอดระยะเวลาประมาณการ

• ประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วงประมาณ 3-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วงปี 2563-2565

• ในช่วงปี 2563-2565 บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า ปตท.สผ. จะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่ท้าทาย ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความสามารถในการปรับต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายเพื่อตอบสนองต่อราคาน้ำมันดิบที่ลดลง การมีสภาพคล่องที่เพียงพอและความสามารถในการปรับแผนค่าใช้จ่ายลงทุนจะช่วยให้บริษัทผ่านพ้นช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยในเชิงลบที่จะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันดิบคงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือหากบริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการกู้ยืมเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 12 กันยายน 2561

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- Rating Methodology for Government-Related Entities, 6 มิถุนายน 2560

- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)

อันดับเครดิตองค์กร: AAA

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

PTTEP296A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AAA

PTTEP12PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 5,000 ล้านบาท AA

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ