ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ในขณะเดียวกัน ยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปีของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วยเช่นกัน
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยเสริมมาจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน รวมทั้งความชำนาญทางด้านการจัดการความเสี่ยงทางด้านเครดิต ซึ่งช่วยให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทดีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรมีการยกระดับจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสถานะความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันนั้นเทียบเท่ากับอันดับเครดิตองค์กร
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดที่เข้มแข็ง
สถานะทางการธุรกิจที่เข้มแข็งมาจากความมั่นคงทางรายได้อันเนื่องมาจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทไว้ได้ อันได้แก่ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพและแบรนด์ที่แข็งแกร่ง
บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 12% ของสินเชื่อบัตรเครดิต และ 6% ของสินเชื่อส่วนบุคคลในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยลูกค้าของบริษัทซึ่งไม่รวมการเบิกเงินสดล่วงหน้าก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวถึง 10% เทียบเท่ากับระดับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
เงินให้สินเชื่อรวมของบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วเป็น 8.58 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเท่ากับ 10% จากสิ้นปี 2561 บริษัทมีสินเชื่อคงค้างซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อบัตรเครดิตคิดเป็นสัดส่วน 66% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด และสินเชื่อส่วนบุคคล 34% ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า เงินให้สินเชื่อรวมของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 6%-8% ต่อปีในช่วงปี 2563-2565 เนื่องจากการออกบัตรเครดิตใหม่และการขยายฐานของสินเชื่อบุคคล ในปี 2563 บริษัทมีเป้าหมายในการออกบัตรเครดิตใหม่จำนวน 350,000 บัตรและอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมที่ 10% ทริสเรทติ้งคาดว่าการใช้จ่ายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยบรรเทาการใช้จ่ายที่ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงรวมทั้งผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ขณะที่บริการด้านสินเชื่อใหม่ ๆ ได้แก่ สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Secured Personal Loan หรือ Title Loan) และสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด หรือพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) ยังคงเสนอให้กับกลุ่มลูกค้าที่จำกัดเท่านั้น
การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงไทย
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 49.1% และให้การสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและธุรกิจแก่บริษัท ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการสนับสนุนที่แข็งแกร่งสะท้อนความเป็นไปได้ที่บริษัทจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเป็นกรณีพิเศษจากธนาคารกรุงไทยเมื่อบริษัทร้องขอ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดในการเพิ่มทุนจากธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นระดับที่ไม่ทำให้บริษัทกลายเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
ในด้านของความร่วมมือทางธุรกิจนั้น บริษัทได้วางกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของกลุ่มธนาคารกรุงไทย บริษัทใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการขยายฐานลูกค้า บริษัทยังใช้เครือข่ายดังกล่าวเป็นช่องทางในการจ่ายและชำระเงินรวมถึงการให้บริการด้านอื่น ๆ ด้วย บริษัทบัตรกรุงไทยและธนาคารกรุงไทยมีความร่วมมือด้านการตลาดระหว่างกันและใช้แบรนด์ร่วมกัน ทั้งนี้ จำนวนเฉลี่ย 37% ของบัตรเครดิตที่ออกใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้รับการแนะนำจากธนาคารกรุงไทย นอกจากนี้ ระบบบริหารความเสี่ยงของบริษัทยังได้รับการบูรณาการรวมอยู่ในระบบบริหารความเสี่ยงของธนาคารกรุงไทยด้วย
ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับปานกลาง
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ การรักษาระดับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่ลดลงและการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้อยู่ในระดับคงที่
ทริสเรทติ้งประเมินว่าความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับปานกลาง โดยพิจารณาจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยในการประเมินความสามารถในการทำกำไร กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 5.52 พันล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้น 7% จากปี 2561 ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น 13% จะถูกชดเชยจากรายได้ที่เข้มแข็งขึ้น เราคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานของบริษทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 2-3 ปีข้างหน้า โดยค่าเฉลี่ยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยที่ 5.4% และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ 7.2%
ในระยะยาว ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรของบริษัทยังคงแข็งแรง ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานบัญชีจากการตัดหนี้สูญที่เข้มงวดขึ้น หลังจากมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS9) ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน จะตัดหนี้สูญออกจากบัญชีได้หลังจาก 24 เดือนหรือจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถเก็บเงินได้ เมื่อเทียบกับเดิมที่สามารถตัดหนี้สูญได้ตั้งแต่ 6 เดือน ทำให้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจากรายได้หนี้สูญรับคืนซึ่งคิดเป็น 15% ของรายได้ในปี 2562 จะค่อย ๆ ปรับลดลงตั้งแต่ปี 2564 อย่างไรก็ตาม เราคาดว่ากำไรในปี 2563 ยังคงแข็งแรง โดยได้รับการสนับสนุนจากรายได้หนี้สูญรับคืนจากการตัดหนี้สูญในปีก่อนหน้า และค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่ลดลงจากแบบจำลองความเสี่ยงภายใต้ TFRS9 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและการควบคุมต้นทุนจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรด้วย
การบริหารความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าสถานะความเสี่ยงของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากนโยบายการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของบริษัทมีความเข้มแข็งและมีการยกระดับระบบการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมให้อยู่ที่ระดับ 1.1% ได้ เมื่อรวมอัตราส่วนการตัดหนี้สูญกลับเข้าไปจะอยู่ระหว่าง 8.9%-11.0% ในช่วง 2559-2562 ในช่วง 2 ปีข้างหน้าสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) เมื่อรวมการตัดหนี้สูญกลับเข้าไปน่าจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) สามารถตัดออกจากบัญชีได้ช้าลงจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชีใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายมากกว่าคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง ภายหลังช่วงการเปลี่ยนแปลงผ่านพ้นไปคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อค้างชำระรวมอัตราส่วนการตัดหนี้สูญจะค่อย ๆ ปรับลดลงจนสู่ภาวะปกติ
มีฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้นและภาระหนี้อยู่ในระดับต่ำ
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ฐานทุนของบริษัทซึ่งวัดโดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแรง เราเชื่อว่าฐานทุนมีเพียงพอต่อแผนการขยายธุรกิจในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งก็คาดว่าส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจะเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากกำไรเข้มแข็งและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระมัดระวัง เราคาดการณ์ว่าค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงในช่วงปี 2563-2565 ที่ 17.8% ในขณะเดียวกันภาระหนี้ของบริษัทค่อนข้างต่ำ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 3.3 เท่า ณ สิ้นปี 2562 เมื่อเทียบกับข้อกำหนดที่สำคัญของหุ้นกู้ตามที่จะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเอาไว้ไม่เกิน 10 เท่า เมื่อพิจารณาความสามารถในการทำกำไรที่ระดับปานกลางประกอบกัน ทำให้ทริสเรทติ้งประเมินว่าฐานทุน การก่อหนี้ และการสร้างกำไรของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอ
การระดมทุนและสภาพคล่อง
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง การระดมทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ สภาพคล่องของบริษัทไม่ได้เป็นประเด็นที่น่ากังวลถึงแม้ว่าอัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่องจะอยู่ในระดับอ่อนแอ เนื่องจากบริษัทได้รับการสนับสนุนทางด้านสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงไทยในรูปแบบของวงเงินที่ไม่สามารถยกเลิกได้ บริษัทได้รับวงเงินกู้จากธนาคารกรุงไทยจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มีการเบิกใช้ไปแล้ว 19% ณ เดือนธันวาคม 2562 ซึ่งคิดเป็น 61% เมื่อเทียบกับยอดเงินกู้โดยรวมจากสถาบันการเงินอื่น ๆ บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากตลาดทุนโดยการออกหุ้นกู้ที่เสนอขายให้กับกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ณ 2 เมษายน 2563 บริษัทมีหุ้นกู้ระยะยาว 47.2 พันล้านบาท โดย 6.19 พันล้านบาทจะถึงกำหนดไถ่ถอนในปี 2563 ซึ่งบริษัทมีแผนรองรับการกู้ใหม่แล้ว ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพที่ 73.6% ซึ่งเพียงพอในมุมมองของทริสเรทติ้ง โดยแหล่งเงินทุนเป็นเงินกู้ยืม 20% และหุ้นกู้ 80% ซึ่งแบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 31% และเงินกู้ยืมระยะยาว 69%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ในช่วงปี 2563-2565
• ลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 6%-8% ต่อปี
• อัตราผลตอบแทนอยู่ในช่วง 16%-17%
• ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญอยู่ในในช่วง 13%-17%
• ต้นทุนทางการเงินอยู่ในช่วง 2.7%-3.2%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแรงต่อไปในขณะที่ยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาด รวมถึงมีแฟรนไชส์ที่เข้มแข็งจากการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่า บริษัทจะมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและฐานทุนที่ยังแข็งแรง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังเชื่อว่าธนาคารกรุงไทยจะยังคงให้การสนับสนุนในด้านการเงินแก่บริษัทต่อไปเมื่อบริษัทมีความจำเป็น
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถปรับเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและ/หรือสถานะทางการตลาดของบริษัทได้อย่างมั่นคงต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่ยังรักษาคุณภาพของสินเชื่อภายใต้การควบคุมได้ภายหลังเข้าไปสู่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงที่มากขึ้นขณะที่ได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ หากคุณภาพสินทรัพย์ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและสถานะฐานทุนของบริษัท
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงระดับการให้การสนับสนุนที่ธนาคารกรุงไทยมีต่อบริษัท หรือการเปลี่ยนแปลงสถานะของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทยก็จะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- การจัดอันดับเครดิตบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558