ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & พันธบัตร “สปป. ลาว” ที่ “BBB” และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น “Negative” จาก “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 15, 2020 16:20 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และอันดับเครดิตพันธบัตรที่ออกโดย สปป. ลาว ที่ระดับ “BBB” และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่”

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากภาระการจ่ายชำระคืนหนี้ของ สปป. ลาว ในช่วงเวลา 12-24 เดือนข้างหน้าอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแอลงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 รวมไปถึงสถานะดุลการค้าระหว่างประเทศที่ถดถอยลง ฐานะเงินกองทุนระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และการอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องของค่าเงินกีบของ สปป. ลาว

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนสถานะเครดิตของ สปป. ลาว ในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กซึ่งมีศักยภาพในการขยายตัวสูงแม้ว่าจะมีความเปราะบางจากแรงกระทบจากภายนอกเนื่องจากการที่ต้องพึ่งพาเงินทุนนอกประเทศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศยังคงเป็นปัจจัยบวกในการพิจารณาอันดับเครดิตของ สปป. ลาว

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอาจหดตัวลงเหลือ 1% ในปี 2563

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ในฐานะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและต้องพึ่งพิงการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยว สปป. ลาว จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้ไปได้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของ สปป. ลาว จะหดตัวลงเหลือประมาณ 1% ในปี 2563 จากอัตราเติบโตที่ประมาณการในระดับ 5.4% ในปี 2562 ทริสเรทติ้งยังคาดว่าการขาดดุลการค้าและบริการของ สปป. ลาว จะเพิ่มขึ้นในปี 2563 อีกด้วย โดยรายได้จากการท่องเที่ยวจะหดตัวลงอย่างมาก ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และการส่งออกไฟฟ้าพลังน้ำจะลดลงต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจากผลกระทบของภาวะภัยแล้ง

การขาดดุลงบประมาณและหนี้ภาครัฐจะเพิ่มขึ้น

ในปี 2561 ดุลการคลังของรัฐบาล สปป. ลาว ขาดดุลคิดเป็น 4.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะเพิ่มขึ้นเพียง 7% ในปี 2562ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 6% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายเพื่อการลงทุนที่ต่อเนื่องในโครงการภาครัฐที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นสำคัญ ด้วยเหตุดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงคาดว่า สปป. ลาว จะขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นในปี 2562 และต้องชดเชยการขาดดุลโดยการกู้เงินของรัฐบาล ดังนั้น หนี้ของรัฐบาลลาวจึงคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงถึงประมาณ 57% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2562 และมีโอกาสที่จะขึ้นไปถึงระดับ 60% ในปี 2563 ทั้งนี้ การขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น ตลอดจนความสำเร็จของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศของรัฐบาล สปป. ลาว จะช่วยขยายฐานรายได้และลดการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศได้ แต่น่าจะใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผลสำเร็จอย่างชัดเจน

หนี้ต่างประเทศจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพคล่องภายในประเทศและความต้องการใช้เงินเพื่อโครงการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์ว่าหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลลาวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าจะถึง 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 4% จากระดับ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2561 โดยในปี 2563 สัดส่วนหนี้ต่างประเทศของภาครัฐคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 55% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เทียบกับสัดส่วนประมาณ 52% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2561 และปี 2562 สำหรับ หนี้ต่างประเทศทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนรวมกันในปี 2562 นั้น ทริสเรทติ้ง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 82% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

หนี้ต่างประเทศของรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นเงินกู้พหุภาคีและทวิภาคี

เงินกู้ทวิภาคีซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้โครงการ (Project Loans) ระยะยาวแบบทยอยชำระคืนเงินต้นเพื่อใช้ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลนั้นคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดถึง 61% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของรัฐบาล สปป. ลาว (9.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ หนี้มากกว่า 50% ของหนี้ต่างประเทศคงเหลือซึ่งรวมเงินกู้ทวิภาคีและพหุภาคีนั้นเป็นหนี้ของเจ้าหนี้จากประเทศจีน ในขณะเดียวกัน พันธบัตรรัฐบาลของ สปป. ลาว ที่ออกในประเทศไทยก็มีมูลค่าคงเหลือประมาณ 1.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 14.5% ของมูลค่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของรัฐบาลในปี 2562 โดยในจำนวนนี้เป็นพันธบัตรรัฐบาลที่ออกในประเทศไทยมูลค่ารวมประมาณ 248 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะครบกำหนดชำระในเดือนมิถุนายน (ประมาณ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และเดือนตุลาคม 2563

ภาระหนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะ 5 ปีข้างหน้า

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า รัฐบาล สปป. ลาว จะเผชิญกับภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายชำระตามกำหนดที่ระดับเฉลี่ยปีละประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงปี 2563-2568 กรณีดังกล่าวน่าจะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาลภายใต้สถานการณ์การชะลอตัวในการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าในระยะปานกลาง รัฐบาล สปป. ลาว จะสามารถหาแหล่งทุนจากเงินกู้ทวิภาคีและการออกพันธบัตรในตลาดทุนต่างประเทศเพื่อการชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดได้

ขนาดของทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำค่อนข้างนาน

จากข้อมูลของธนาคารแห่ง สปป. ลาว ระบุว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ สปป. ลาว ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 997 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14% จาก 873 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งเป็นระดับที่เทียบเท่าได้กับมูลค่าการนำเข้าในปี 2561 เพียง 1.8 เดือนเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นระดับต่ำที่สุดในบรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ สปป. ลาว มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับเฉลี่ย 938 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี 2558-2562 และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ต่อไปอีกหลายปีเมื่อพิจารณาจากฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่กำลังถดถอยลงและความจำเป็นที่จะต้องชำระคืนหนี้ต่างประเทศ ทั้งนี้ สัดส่วนภาระหนี้ต่างประเทศภาครัฐต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 73.8% ในปี 2561 และคาดว่าจะถึงระดับ 75% ในปี 2562 จากระดับ 43.7% ในปี 2560 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 75% ในปี 2563

แรงกดดันที่มีต่อค่าเงินกีบ

ค่าเงินกีบของลาวมีแนวโน้มอ่อนตัวลงมาตั้งแต่ปี 2560 โดยค่าเงินอยู่ที่ระดับ 8,861 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2562 อ่อนค่าลง 3.9% จากระดับ 8,530 กีบ ณ สิ้นปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าเงินกีบจะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องต่อไปในปี 2563 เนื่องจากสถานะดุลการชำระเงินระหว่างประเทศที่คาดว่าอ่อนแอลง ทั้งนี้ ด้วยขนาดของหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง การอ่อนค่าของเงินกีบจะสร้างแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อภาระหนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากภาระการจ่ายคืนหนี้ของ สปป. ลาวในช่วง 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้าซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอันเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนสถานะดุลการค้าระหว่างประเทศที่ถดถอยลง ฐานะเงินกองทุนระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และการอ่อนตัวลงของค่าเงินกีบของ สปป. ลาว

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ทริสเรทติ้งอาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของ สปป. ลาว ในกรณีที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และ/หรือความสามารถในการชำระคืนหนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว มีแนวโน้มลดลงอย่างมีสาระสำคัญในช่วง 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า

ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ของ สปป. ลาว ตามภาระผูกพันในช่วง 3 ปีข้างหน้าว่าจะทำได้ดีแค่ไหน รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และการลดลงของการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของประเทศ (Sovereign Credit Rating), 8 ตุลาคม 2556

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)

อันดับเครดิตประเทศ: BBB

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MOFL206A: พันธบัตรรัฐบาล 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB

MOFL20OA: พันธบัตรรัฐบาล 2,791.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB

MOFL21NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,870.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+ BBB

MOFL21NB: พันธบัตรรัฐบาล 1,767.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+ BBB

MOFL22OA: พันธบัตรรัฐบาล 1,019.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB

MOFL23NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,063.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB

MOFL23NB: พันธบัตรรัฐบาล 2,546.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB

MOFL24OA: พันธบัตรรัฐบาล 340.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB

MOFL256A: พันธบัตรรัฐบาล 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB

MOFL26NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,371.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB

MOFL27OA: พันธบัตรรัฐบาล 2,967.00 ล้านบาท ไถ่ถอน 2570 BBB

MOFL28NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,891.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 BBB

MOFL28NB: พันธบัตรรัฐบาล 532.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 BBB

MOFL29OA: พันธบัตรรัฐบาล 1,505.50 ล้านบาท ไถ่ถอน 2572 BBB

MOFL30NA: พันธบัตรรัฐบาล 2,153.20 ล้านบาท ไถ่ถอน 2573 BBB

MOFL32OA: พันธบัตรรัฐบาล 5,375.50 ล้านบาท ไถ่ถอน 2575 BBB

MOFL25DA: พันธบัตรรัฐบาล 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2568 BBB

MOFL27DA: พันธบัตรรัฐบาล 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2570 BBB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ