ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “การไฟฟ้านครหลวง” ที่ “AAA” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 9, 2020 10:07 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของ กฟน. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่พื้นที่ในเขตนครหลวงของประเทศไทย รวมถึงความต้องการในการใช้ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งจากพื้นที่ให้บริการ และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ส่งผ่านต้นทุนได้ (Cost-plus) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ตลอดจนนโยบายทางการเงินที่รอบคอบของ กฟน. และการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีบทบาทที่สำคัญในการจำหน่ายไฟฟ้าในเขตพื้นที่นครหลวงของประเทศไทย

กฟน. เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยและเป็นผู้รับผิดชอบในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าปลีกในพื้นที่ 3 จังหวัดสำคัญซึ่งประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี โดยภารกิจหลักของ กฟน. คือการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบจำหน่ายไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงซึ่งมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 27% ของการใช้ไฟฟ้ารวมของประเทศ นอกจากนี้ กฟน. ยังมีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของ กฟน. มาจากการมีบทบาทที่สำคัญในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศไทย ยกเว้นในพื้นที่อุตสาหกรรมบางแห่ง การจำหน่ายไฟฟ้าอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดย กฟน. เป็นผู้รับผิดชอบให้บริการในพื้นที่ซึ่งครอบคลุมกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี ในขณะที่ กฟภ. ให้บริการในพื้นที่ 74 จังหวัดที่เหลือ

ในปี 2562 กฟน. มีพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม 3,192 ตารางกิโลเมตรและดำเนินงานโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 54,209 วงจรกิโลเมตร รายได้ของ กฟน. อยู่ที่ประมาณ 2.04 แสนล้านบาทและมียอดจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 53,345 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดย กฟน. ซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ประโยชน์จากการให้บริการในเขตพื้นที่นครหลวง

สถานะทางธุรกิจของ กฟน. ได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งในเขตพื้นที่นครหลวง การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของ กฟน. นั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา โดยปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 53,304 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2562 จาก 41,733 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2552 หรือคิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 2.4% ทั้งนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องช่วยให้บริษัทมีรายได้ที่สม่ำเสมอและทำให้สามารถคาดการณ์รายได้ในอนาคตล่วงหน้าได้

การที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากและหลากหลายประเภท ถือเป็นปัจจัยบวกในการสนับสนุนเสถียรภาพของรายได้ โดยในปี 2562 กฟน. มีลูกค้าประมาณ 3.91 ล้านรายซึ่งเติบโตประมาณ 3% ต่อปีในระหว่างปี 2552-2562 นอกจากนี้ กฟน. ยังได้รับประโยชน์จากอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Progressive Rate อันเนื่องมาจากความหนาแน่นของประชากรและผู้ใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าในระดับที่สูงกว่าผู้ใช้ไฟฟ้าในต่างจังหวัด

กำไรที่มั่นคงจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ส่งผ่านต้นทุนได้

กฟน. ดำเนินงานภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่ช่วยจำกัดความไม่แน่นอนของต้นทุนค่าไฟฟ้า อัตราค่าไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าได้รับการออกแบบเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการลงทุนเพื่อรักษาคุณภาพของระบบไฟฟ้าและให้ผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งซึ่งได้แก่ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. นอกจากนี้ โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้านั้นยังมีกลไกในการปรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหรือค่า Ft ที่ช่วยส่งผ่านการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เป็นต้นทุนของค่าไฟฟ้าไปยังผู้บริโภคปลายทางอีกด้วย ทั้งนี้ การปรับค่า Ft จะมีการพิจารณาทุก ๆ 4 เดือนและการปรับอาจจะล่าช้าบ้างในบางครั้ง

ส่วนต่างระหว่างราคาขายและราคาซื้อไฟฟ้าของ กฟน. ค่อนข้างคงที่และเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยในช่วงปี 2558-2562 ส่วนต่างดังกล่าวของ กฟน. อยู่ในช่วง 0.90-1.00 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ทั้งนี้ ส่วนต่างดังกล่าวมีค่าที่สูงกว่าของ กฟภ. เนื่องจากลูกค้าของ กฟน. นั้นมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าลูกค้าของ กฟภ. และปริมาณไฟฟ้าเกือบ 100% ของ กฟน. นั้นซื้อมาจาก กฟผ. ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ

กำไรถูกจำกัดจากการควบคุมอัตราผลตอบแทน

กฟน. มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบในการส่งมอบรายได้ส่วนเกินเพื่อให้สถานะทางการเงินขององค์กรเป็นไปตามข้อกำหนด โดย กกพ. เป็นผู้กำหนดอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ กฟน. และ กฟภ. พึงได้รับ โดยปกติแล้วการลงทุนของ กฟน. จะสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า กฟภ. เป็นอย่างมากเนื่องจากความหนาแน่นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตพื้นที่นครหลวง ดังนั้น กกพ. จึงกำหนดให้ กฟน. ต้องนำส่งรายได้ส่วนเกินเพื่อนำมาช่วยเหลือการดำเนินงานของ กฟภ. ซึ่งจะทำให้ทั้งสองหน่วยงานมีสถานะทางการเงินเป็นไปตามที่ กกพ. กำหนด โดยเงินส่วนเกินที่เหลือหลังการคืนรายได้ระหว่างกันของสองการไฟฟ้า จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าในรูปแบบของการลดค่า Ft หรือเพื่อสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล

ในช่วงระหว่างปี 2558-2562 เงินคืนรายได้นำส่งจาก กฟน. ไปให้แก่ กฟภ. อยู่ที่ 14-20 พันล้านบาทต่อปี ส่งผลให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของ กฟน. จำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 10%-11%

ผลกำไรลดลงชั่วคราวจากการเรียกเงินคืนรายได้โดย กกพ.

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกำไรและอัตรากำไรของ กฟน. จะลดลงชั่วคราวในปี 2563 อันเกิดจากผลกระทบของมติของ กกพ. เมื่อเดือนมกราคม 2562 ซึ่งมีการเรียกเงินคืนรายได้จาก กฟน. ย้อนหลัง สำหรับผลการดำเนินงานของ กฟน. ในปี 2557-2560 การเรียกเงินคืนเงินรายได้ย้อนหลังจะส่งผลทำให้กำไรของ กฟน. ลดลงประมาณ 4.19 พันล้านบาทในปี 2562 และ 3.89 พันล้านบาทในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรและอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของ กฟน. จะฟื้นตัวสู่ระดับปกตินับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินทางการเงินของ กฟน. น่าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเมื่อพิจารณาจากแผนการใช้จ่ายเงินลงทุน ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2563-2565 งบประมาณในการลงทุนของ กฟน. คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.35 หมื่นล้านบาท เงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้เพื่อขยายและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าและสำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ที่มาของเงินลงทุนจะมาจากเงินกู้ประมาณ 60%

ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของ กฟน. จะยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งตลอดช่วงประมาณการ โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของ กฟน. จะลดลงเหลือ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563 เนื่องจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเรียกเงินคืนรายได้ย้อนหลังจาก กกพ. หลังจากนั้น กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.0-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะต่ำกว่า 3 เท่า

นโยบายการเงินที่รอบคอบ

กฟน. มีนโยบายด้านการเงินที่รัดกุมโดยมีการรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ให้อยู่ในระดับไม่เกินกว่า 1.5 เท่า รวมถึงอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financial Raito) ไม่ให้ต่ำกว่า 25% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า

กฟน. มีการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ดีโดยพิจารณาจากนโยบายในตั้งการสำรองเงินสด โดยมีการตั้งกองทุนเพื่อชำระคืนพันธบัตรโดยเฉพาะ ซึ่งมีการสำรองเงินไว้รองรับการชำระคืนหนี้ล่วงหน้าในระยะ 3-4 ปี ในขณะเดียวกัน กฟน. ยังมีการตั้งบัญชีสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์เฉพาะอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การคืนเงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า เงินบำนาญพนักงาน รวมไปถึงเงินคืนรายได้

ผลกระทบต่อสภาพคล่องเล็กน้อย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทริสเรทติ้งประเมินว่า กฟน. มีสภาพคล่องที่เพียงพอที่จะสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลในการลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ปริมาณสภาพคล่องที่ กฟน. ต้องใช้ในการสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท

มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้านั้นประกอบด้วยการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าซึ่งประมาณการว่าจะอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ กฟน. เนื่องจาก กฟน. มีการกันเงินสดสำรองเอาไว้มากกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทสำหรับวัตถุประสงค์นี้โดยเฉพาะ สำหรับมาตรการการขยายเวลาการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะได้รับการชดเชยจากการที่ กฟน. จะขอขยายเวลาจ่ายชำระค่าไฟฟ้ากับทาง กฟผ. ด้วยเช่นกัน ส่วนแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ อาทิ มาตรการลดค่าไฟฟ้า 3% และมาตรการส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนนั้น จะมาจากเงินคืนรายได้ที่สะสมไว้ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนสูงถึงประมาณ 7.5 พันล้านบาทในปีนี้

นอกจากนี้ กฟน. ยังมีเงินสดในมืออยู่ที่ 1.75 หมื่นล้านบาท ณ เดือนพฤษภาคม 2563 และในเดือนมิถุนายน 2563 กฟน.มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินแห่งหนึ่งจำนวน 4 พันล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับการดำเนินงานอีกด้วย

การสนับสนุนที่เข้มแข็งจากรัฐบาล

ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กฟน. จะได้รับความช่วยเหลือในกรณีพิเศษจากรัฐบาลไทยอย่างทันเวลาและเพียงพอในยามที่จำเป็น ทั้งนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงระบุว่าในกรณีที่รายได้ของ กฟน. ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการชำระหนี้ และ กฟน. ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ได้ รัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ กฟน. ในจำนวนเท่ากับปริมาณที่ขาด

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. คาดว่าจะลดลด 3.5% ในปี 2563 และจะเติบโตที่ระดับ 2%-3% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565

• รายได้ของ กฟน. น่าจะลดลงเหลือ 1.97 แสนล้านบาทในปี 2563 ก่อนที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.15 แสนล้านบาทในปี 2565

• กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และจะอยู่ระหว่าง 2.0-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565

• เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 7.35 หมื่นล้าบาทในระหว่างปี 2563-2565

• อัตราการนำส่งเงินรายได้คืนรัฐบาลไทยจะอยู่ที่ระดับ 45% ของกำไรสุทธิ

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า กฟน. จะยังคงดำรงบทบาทที่สำคัญในการจำหน่ายไฟฟ้าต่อไป และ กฟน. จะยังได้รับการสนับสนุนอย่างทันเวลาและเพียงพอจากรัฐบาลไทยในกรณีที่จำเป็น

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับลดอันดับเครดิตของ กฟน. อาจเกิดขึ้นได้หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล จนส่งผลกระทบในทางลบต่อสถานะในการเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟน. รวมถึงการสนับสนุนที่ กฟน. ได้รับจากรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงไป

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- Rating Methodology for Government Related Entities, 6 มิถุนายน 2560

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

อันดับเครดิตองค์กร: AAA

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ