ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ”อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค” ที่ “BB+” และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น “Negative” จาก “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 23, 2020 10:44 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BB+” ในขณะเดียวกันได้เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ด้วย โดยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ภาระหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นผลมาจากสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูงและแผนการขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ แนวโน้มที่บริษัทจะต้องกู้ยืมเงินก้อนใหม่เพื่อนำมาใช้สำหรับการลงทุนในระยะที่เหลือของโครงการมินบูนั้นจะเป็นปัจจัยลบที่จะส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอยิ่งขึ้น

ในขณะที่อันดับเครดิตที่ระดับ “BB+” ยังคงสะท้อนถึงความสามารถในธุรกิจที่แข่งขันได้ของบริษัทในตลาดผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์และช่องทางการจัดจำหน่ายที่ยาวนาน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากแนวโน้มภาระหนี้สินของบริษัทที่จะเพิ่มขึ้น ตลอดจนสภาพคล่องที่ตึงตัว รวมไปถึงความเสี่ยงในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศเมียนมา

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ความสามารถในการแข่งขันที่เพียงพอในตลาดผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์

สถานะทางธุรกิจของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากการมีตำแหน่งทางการตลาดในฐานะผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดกลางในประเทศไทย บริษัทจัดเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้แก่ผู้ว่าจ้างที่มีแบรนด์ของตัวเอง (Original Equipment Manufacturer – OEM) เนื่องจากยอดขายของเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 50%-60% ของบริษัทเป็นสินค้าที่ผลิตตามคำสั่งของลูกค้าต่างประเทศ โดยการจำหน่ายสินค้าของบริษัทนั้นขึ้นอยู่กับราคาเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถอดประกอบได้ (Knockdown) และเน้นกลุ่มเป้าหมายในตลาดระดับกลางถึงล่าง ซึ่งการแข่งขันในตลาดจะมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการจัดการต้นทุนเป็นสำคัญ

ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในส่วนของการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตนั้นยังคงเดิมโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่กว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่

ช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านผู้ค้าปลีกสมัยใหม่

ความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญอีกประการหนึ่งของบริษัทคือช่องทางการจัดจำหน่าย โดยผ่านผู้ค้าปลีกสมัยใหม่ชั้นนำหลายราย บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่ายหลัก 2 ช่องทาง ได้แก่ การส่งออกและการจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ภายในประเทศ ในส่วนของลูกค้าต่างประเทศของบริษัทนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าปลีกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ช่องทางการจัดจำหน่ายทั้ง 2 ประเภทมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 80%-90% ของยอดขายเฟอร์นิเจอร์ของบริษัท

ช่องทางการจัดจำหน่ายเหล่านี้ช่วยให้ยอดขายของบริษัทเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งคาดว่าช่องทางการจัดจำหน่ายเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อบริษัทมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบริษัทได้ปิดห้องแสดงสินค้าทั้งหมดเนื่องจากมีผลขาดทุนและลดการจำหน่ายผ่านทางตัวแทนจำหน่ายลง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะพึ่งพารายได้จากประเทศญี่ปุ่นน้อยลงอีกด้วยเมื่อพิจารณาจากแผยในการขยายฐานลูกค้าส่งออกของบริษัท

คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 อันเป็นผลมาจากความต้องการที่ชะลอตัวในประเทศญี่ปุ่นและมาตรการปิดเมืองเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในประเทศไทย รายได้ของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลง 17.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเหลือเพียง 17 ล้านบาทและเงินทุนจากการดำเนินงานก็ติดลบในช่วงเดียวเวลากัน ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงเหลือ 5.9% ในไตรมาสแรกของปี 2563 จาก 18.2% ในปี 2562

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าความต้องการเฟอร์นิเจอร์จะปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่ฟื้นตัวตามแนวโน้มที่ประชาชนจะใช้ชีวิตหรือทำงานจากที่บ้านมากขึ้น นอกจากนี้ ลูกค้าต่างประเทศรายใหม่ ๆ ที่บริษัทเพิ่งได้รับคำสั่งซื้อยังจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของรายได้ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์ในประเทศอินเดียในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงประมาณ 10% ในปี 2563 ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาด้วยอัตราที่ใกล้เคียงกันในปี 2564 โดย คาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นและจะอยู่ในระดับที่มากกว่า 200 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

ยังมีภาระที่จะต้องใส่เงินลงทุนเพิ่มในโครงการมินบู

ทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงในการดำเนินงานของโครงการมินบูเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากที่โครงการระยะแรกซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 50 เมกะวัตต์ได้เริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ผลงานที่น่าพอใจในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และการได้รับการชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้ายังช่วยลดความกังวลในเรื่องการดำเนินงานและความเสี่ยงจากคู่สัญญา นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากค่าก่อสร้างโครงการที่ลดลงประมาณ 15% หลังจากการเจรจากับผู้รับเหมาหลัก โดยการก่อสร้างโครงการระยะที่ 2-4 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 170 เมกะวัตต์มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากความล่าช้าของโครงการยังคงเป็นประเด็น เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และข้อจำกัดด้านการเงินเนื่องจากทางธนาคารผู้ปล่อยกู้ต้องการผู้ถือหุ้นใส่เงินทุนล่วงหน้า

บริษัทมีภาระที่จะต้องใส่เงินส่วนทุนในโครงการมินบูอีกประมาณ 300 ล้านบาทก่อนที่การก่อสร้างระยะที่เหลือจะสามารถเริ่มได้ โดยบริษัทวางแผนจะระดมเงินสำหรับส่วนทุนดังกล่าวด้วยการจำหน่ายเงินลงทุนใน บริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ โดยปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 33.37% ใน บริษัทเซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 223 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนจะเรียกคืนเงินที่จ่ายล่วงหน้าสำหรับการซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมจำนวน 95 ล้านบาทอีกด้วย

สถานะทางการเงินที่อ่อนแอลง

ทริสเรทติ้งมองว่าฐานะทางการเงินของบริษัทด้อยลงในอัตราที่เร็วกว่าการประเมินในครั้งก่อนเนื่องจากบริษัทมีภาระหนี้สินที่สูงกว่าคาด โดยบริษัทมีหนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 1.65 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 จาก 1.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ดอกเบี้ยจ่ายก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของหนี้สินด้วยเช่นกัน และส่งผลให้การสร้างกระแสเงินสดของบริษัทเหลือน้อยลง อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือ 7.2% ในปี 2562 จาก 9.9% ในปี 2561 ผลกระทบจากโรคโควิด 19 ก็ยังลดทอนสถานะทางการเงินของบริษัทมากยิ่งขึ้น โดยทำให้อัตราส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 3.8% ในไตรมาสแรกของปี 2563

สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของหนี้สินส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาในการบริหารสินค้าคงคลังและการใช้จ่ายที่มากเกินไปสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ทั้งนี้ สินค้าคงคลังของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับที่สูงมากที่ประมาณ 1.4 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งสูงกว่ายอดขายเฟอร์นิเจอร์โดยเฉลี่ยที่ 1.2-1.3 พันล้านบาทต่อปีของบริษัท นอกจากนี้ การจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมและการวางเงินมัดจำเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทมีหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ทริสเรทติ้งกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” เพื่อสะท้อนความเป็นไปได้ที่อัตราส่วนกระแสเงินสดต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้ หากบริษัทไม่สามารถจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทเซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ได้ บริษัทจำเป็นจะต้องกู้เงินก้อนใหม่อีก 300 ล้านบาทจากธนาคารเพื่อลงทุนในโครงการมินบู เมื่อพิจารณาจากระดับสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงและโอกาสที่บริษัทจะกู้เงินก้อนใหม่สำหรับการลงทุนในโครงการมินบูแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับที่อ่อนแอมาก โดยเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิของบริษัทน่าจะอยู่ต่ำกว่า 5% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายมีโอกาสที่จะอยู่สูงกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานาน

สภาพคล่องตึงตัว

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่ตึงตัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า การใช้เงินทุนประกอบไปด้วยการลงทุนในโครงการมินบูจำนวน 300 ล้านบาทและการชำระคืนหนี้หุ้นกู้รวมทั้งสิ้น 380 ล้านบาทในเดือนมีนาคมและเดือนกรกฎาคม 2564 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทำให้บริษัทจะต้องออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน (รีไฟแนนซ์) และจะต้องจัดหาเงินกู้ใหม่จากธนาคารเพื่อลงทุนในโครงการมินบูหากแผนการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทเซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ ไม่ประสบความสำเร็จตามแผน

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าบริษัทได้ปิดความเสี่ยงจากการรีไฟแนนซ์หุ้นกู้จำนวน 605 ล้านบาทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนสิงหาคม 2563 นี้แล้วเนื่องจากบริษัทได้ออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• รายได้จะลดลงประมาณ 10% ในปี 2563 ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันในปี 2564 และคาดว่ารายได้จะเติบโต 3%-4% ในปี 2565

• อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะยังคงต่ำที่ระดับ 12% ในปี 2563 และจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็น 15%-18% ในช่วงปี 2564-2565

• ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในธุรกิจพลังงานจะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทในปี 2563 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 70 ล้านบาทในปี 2565

• ค่าใช้จ่ายสำหรับการบำรุงรักษาจะอยู่ที่ประมาณ 50-100 ล้านบาทต่อปี

• อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 50%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงแนวโน้มภาระหนี้สินของบริษัทที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นผลมาจากสินค้าเฟอร์นิเจอร์คงคลังที่ยังอยู่ในระดับที่สูงและการขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ การกู้ยืมเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการมินบูจะเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวลดลงไปอีก อันเป็นผลการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อใช้จ่ายส่วนทุนในโครงการมินบูและ/หรือระดับสินค้าคงคลังยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนใหม่ในช่วงที่สถานะทางการเงินตึงตัวจะส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิตได้

แนวโน้มอันดับเครดิตอาจเปลี่ยนกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้หากทริสเรทติ้งเชื่อว่าภาระหนี้สินของบริษัทจะคงตัวหรือลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับในปี 2562 ในขณะที่การลงทุนในโครงการมินบูโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้ใหม่จะเป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับอันดับเครดิต

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
  • วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF)

อันดับเครดิตองค์กร: BB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ