ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ราชธานีลิสซิ่ง” ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 12, 2020 18:31 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ในการนี้ อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท เนื่องจากทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าบริษัทราชธานีลิสซิ่ง เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) จากการที่บริษัทสร้างรายได้และกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งให้แก่บริษัททุนธนชาต ในขณะที่บริษัทยังได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากบริษัททุนธนชาตมาโดยตลอด

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงความเข้มแข็งของสถานะทางการตลาดในตลาดเฉพาะซึ่งได้แก่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เน้นรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์และรถยนต์หรู นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่บริษัทสามารถรักษาผลประกอบการทางการเงินที่ดีเอาไว้ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากความกังวลในเรื่องสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์และคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การสนับสนุนที่สม่ำเสมอจากบริษัททุนธนชาต

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ ของบริษัททุนธนชาต โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่บริษัททุนธนชาตจะยังคงดำรงสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทต่อไป เนื่องจากบริษัทได้กลายมาเป็นผู้สร้างรายได้และกระแสเงินสดหลักให้แก่บริษัททุนธนชาตภายหลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม ในด้านการให้การสนับสนุนทางธุรกิจนั้น บริษัททุนธนชาตเป็นผู้กำหนดภาพรวมกลยุทธ์ของบริษัทซึ่งรวมถึงการบริหารความเสี่ยงผ่านทางตัวแทนที่เป็นคณะกรรมการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัททุนธนชาตยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของฐานทุนของบริษัท โดยมีแผนจะเพิ่มทุนให้แก่บริษัทจำนวนประมาณ 1.1 พันล้านบาทในเดือนตุลาคม 2563 นี้อีกด้วยเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจและเป็นทุนสำรองเพื่อรองรับผลขาดทุนในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอในปัจจุบัน โดยในระยะยาวนั้นทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนด้านการเงินจากบริษัททุนธนชาตต่อไป และบริษัททุนธนชาตจะเป็นแหล่งพึ่งพาด้านเงินทุนแหล่งสุดท้ายของบริษัทในยามที่จำเป็นด้วยเช่นกัน

สถานะทางการตลาดยังคงเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง

สถานะทางการตลาดของบริษัทคาดว่าจะยังคงเข้มแข็งในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อของบริษัทเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 5.19 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 จาก 29.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งคิดเป็นอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ 15% ทั้งนี้ การเติบโตของสินเชื่อดังกล่าว เป็นผลมาจากความสามารถในการทำการตลาดของบริษัท เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีสินเชื่อคงค้างหดตัวลง 3% จากสิ้นปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 5.01 หมื่นล้านบาทจากการที่บริษัทมีกลยุทธ์การเติบโตของสินเชื่อที่ระมัดระวังเป็นหลักเนื่องจากบริษัท มีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)

ในส่วนของสินเชื่อใหม่นั้น ทริสเรทติ้งคาดดว่ายอดสินเชื่อใหม่ของบริษัทในปี 2563 จะหดตัวลง 25% เหลือ 1.76 หมื่นล้านบาทจาก 2.34 หมื่นล้านบาทในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อใหม่น่าจะลงต่ำสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 และจะค่อยๆ ขยายตัวในครึ่งหลังของปี 2563 จนถึงปี 2565 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้ใน 2-3 ปีข้างหน้าจากการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งเป็นไปตามสภาพอุตสาหกรรมโดยรวม ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะหดตัวลง 25% ในปี 2563 และจะเติบโตอย่างช้า ๆ ในอัตรา 5%-10% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 โดยมีสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ในภาคขนส่งและรถยนต์หรูที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ

คุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลงแต่ยังคงบริหารจัดการได้

ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะมีการเสื่อมถอยลงในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5%-7% จาก 5.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงดังกล่าวน่าจะอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้เนื่องจากการที่บริษัทมีเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อและกระบวนการติดตามหนี้ที่เข้มงวดและยังมีการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพียงพออีกด้วย

ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 0.8%-1.2% (font) ของสินเชื่อโดยเฉลี่ยในระหว่างปี 2563-2565 จากประมาณการค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนสำรองสำหรับหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 100% ในระยะเวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนดังกล่าว ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 92%

ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับปานกลางภายใต้ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทาย

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางต่อไปได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าโดยมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายหนี้สูญ รวมทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในการนี้ ทริสเรทติ้งประเมินความสามารถในการสร้างผลกำไรโดยวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยและคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวในช่วงปี 2563-2565 จะอยู่ที่ระดับ 4.2%

บริษัทมีกำไรสุทธิ 908 ล้านบาทสำหรับระยะครึ่งแรกของปี 2563 โดยลดลง 10% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าด้วยสาเหตุหลักที่มาจากการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงในระดับปานกลางในปี 2563 จากการมีค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ลดลงมาต่ำกว่า 4.5% ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าส่วนต่างดังกล่าวจะปรับลดลงอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ไปจนถึงปี 2564 ถึงแม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลดีต่อค่าใช้จ่ายทางการเงินของบริษัทที่ลดลงก็ตาม ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงนั้นมาจากนโยบายของบริษัทที่จะขยายสินเชื่อรถยนต์ไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทมากยิ่งขึ้นซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าแต่ก็จะช่วยลดทอนความเสี่ยงในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ลงได้

ฐานทุนแข็งแรงขึ้นและภาระหนี้ต่ำลง

ฐานทุนที่แข็งแรงของบริษัทและภาระหนี้ที่ต่ำลงเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแรงต่อไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าโดยประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ยในระยะเวลา 5 ปีอยู่ที่ระดับประมาณ 19.9% โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 16.2% ฐานทุนของบริษัทในปี 2563 คาดว่าจะแข็งแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีการเพิ่มทุนที่จำนวน 2 พันล้านบาทในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ซึ่งเงินทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยการเติบโตของบริษัทได้ในระยะอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ในขณะเดียวกัน ภาระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับปานกลางโดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับ 5.6 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าฐานทุนของบริษัทจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากการมีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่องและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่มีความระมัดระวัง ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะทำให้บริษัทสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 10 เท่าได้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนโดยเฉลี่ยที่ระดับ 3.6 เท่าในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า

แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอถึง แม้ว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (Stable Funding Ratio, SFR) ที่ระดับ 79.3% และอัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่อง (Liquidity Coverage Metric, LCM) ที่ระดับ 0.02 เท่าในระยะเฉลี่ย 2 ปีซึ่งค่อนข้างอ่อนแอก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน รวมทั้งยังมีวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงินอีกหลายแห่งซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทได้ โดย ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.87 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่ง 79% ของวงเงินดังกล่าวนั้นยังไม่ได้มีการเบิกใช้ นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 บริษัทยังมีวงเงินกู้ระยะสั้นที่ได้รับจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 8 พันล้านบาท และบริษัทยังมีสิทธิ์ได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในช่วงที่มีการช่วยเหลือลูกหนี้อีกด้วย โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกดดันต่อกระแสเงินสดและอัตราผลตอบแทนของบริษัทลงได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งในปี 2563 บริษัทคาดการณ์ว่าจะมีกระแสเงินสดรับเฉลี่ยเดือนละประมาณ 2 พันล้านบาทซึ่งมากเพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เนื่องจากบริษัทมีนโยบายการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวังโดยไม่เติบโตมากนัก

ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น บริษัทมีอัตราส่วนการกู้ยืมระยะสั้นค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะมีแนวโน้มลดลงแต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 เงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 49% ของเงินกู้รวมของบริษัท ซึ่งลดลงจาก 62.7% ในปี 2562 อันเป็นผลมาจากนโยบายของผู้บริหารที่จะปรับเพิ่มอัตราส่วนเงินกู้ระยะยาวให้เป็น 60% ของเงินทุนรวมหรือมากกว่า ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ค่อนข้างสูง แต่ความสัมพันธ์อันดีที่มีกับสถาบันการเงินหลายแห่งก็ทำให้บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อซึ่งจะลดทอนความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องลงได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 ดังนี้

? สินเชื่อคงค้างจะชะลอตัว 25% ในปี 2563 และจะเติบโตที่ระดับ 5%-10% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2565

? ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ 4.1%-4.2% ในระหว่างปี 2563-2565

? ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจะอยู่ที่ประมาณ 0.8%-1.2% ในระหว่างปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มเป้าหมายเอาไว้ได้โดยบริษัทจะยังสามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรที่มั่นคง นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถบริหารคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแออีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยฐานทุนมีความแข็งแรงขึ้นและอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับเกินกว่า 25% ในระยะเวลาหนึ่งและบริษัทเปลี่ยนไปพึ่งพิงเงินกู้ระยะยาวมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจนกระทั่งอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 15% อย่างต่อเนื่อง หรือคุณภาพสินเชื่อถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรหรือฐานทุนของบริษัท

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563

- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558

บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (THANI)

อันดับเครดิตองค์กร: A-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

THANI20DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A-

THANI20DB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A-

THANI20DC: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A-

THANI211A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 175 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-

THANI212A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-

THANI212D: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 720 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-

THANI21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 145 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-

THANI221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,070 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-

THANI227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,745 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-

THANI22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-

THANI232C: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-

THANI237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 486 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-

THANI23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,439 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-

THANI247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 594 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-

THANI254A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-

THANI255A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 593 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-

THANI264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-

THANI274A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ