ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ซีเค พาวเวอร์” ที่ “A” หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ที่ “A-” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาท ที่ “A-” แนวโน้ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 30, 2021 10:57 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ?A-? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ ?A-? ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอน รวมถึงใช้สำหรับการลงทุนและหมุนเวียนในกิจการของบริษัท ในการนี้ หุ้นกู้ของบริษัทมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 1 ขั้นเนื่องจากหุ้นกู้นี้มีลักษณะการด้อยสิทธิทางโครงสร้างเมื่อเทียบกับเงินกู้ของบริษัทย่อยของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงจุดแข็งของบริษัทในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ตลอดจนกระแสเงินสดรับที่มั่นคงจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ได้รับอันดับเครดิต ?AAA/Stable? จากทริสเรทติ้ง) และประวัติการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำและความเสี่ยงของประเทศ (Country Risk) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีจุดแข็งในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่

บริษัทได้รับการยอมรับในเรื่องความสามารถในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ได้ตามกำหนดเวลาและอยู่ภายใต้งบประมาณ โดยบริษัทได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่งใน สปป. ลาว ได้แก่ ?โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2? (โครงการน้ำงึม 2) และ ?โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี? (โครงการไซยะบุรี) ซึ่ง 2 โครงการนี้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกันที่ขนาด 1,900 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโครงการน้ำงึม 2 ที่ขนาด 615 เมกะวัตต์และโครงการไซยะบุรีที่ขนาด 1,285 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 โครงการสามารถเริ่มดำเนินงานได้ตามแผนแม้ว่าจะมีความท้าทายทั้งในด้านธรณีวิทยาและสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในปัจจัยที่สร้างความสำเร็จในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่นั้นคือความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมของผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทคือ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต "A-/Stable" จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อพิจารณาทั้งในด้านความสามารถในการก่อสร้างและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ บริษัทยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทอื่นอีกด้วยซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์

โรงไฟฟ้าพลังน้ำสร้างกำไรเป็นส่วนใหญ่

แหล่งกำไรหลักของบริษัทยังคงมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในปีที่มีการดำเนินงานเป็นปกตินั้น กำไรจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีสัดส่วนราว 70% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัท แม้ว่าโครงการน้ำงึม 2 จะประกาศให้ปี 2563 เป็นปีแล้งสำหรับการดำเนินงาน แต่ก็ยังคงเป็นโครงการที่สร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายถึงประมาณ 45%-50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายฯ ของบริษัท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าโครงการไซยะบุรีจะสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทได้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปซึ่งจะทำให้กำไรจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีสัดส่วนสูงยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังน้ำนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ต่ำ โดยทั่วไปแล้ว โรงไฟฟ้าพลังน้ำสามารถสร้างอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้มากกว่า 75% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเนื่องจากไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงมีความเสี่ยงทางด้านอุทกวิทยาอยู่ เช่น ความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำ เป็นต้น

สัญญาหลัก ๆ ช่วยบรรเทาความเสี่ยงสำคัญ ๆ ลงได้

ณ เดือนมีนาคม 2564 โรงไฟฟ้าของบริษัทเมื่อคิดตามสัดส่วนการลงทุนแล้วประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่งที่ขนาดกำลังการผลิตรวมประมาณ 765 เมกะวัตต์ (82%) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2 แห่งที่ขนาดกำลังการผลิตรวม 155 เมกะวัตต์ (16%) และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ประมาณ 19 เมกะวัตต์ (2%) โดยโรงไฟฟ้าของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ซื้อที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินและความเสี่ยงทางด้านตลาดลง

โรงไฟฟ้าของบริษัทมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ในสัดส่วนถึงประมาณ 92% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัทซึ่งรวมกำลังการผลิตของโครงการ ไซยะบุรี สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือนั้นบริษัทจำหน่ายให้แก่ Electricite Du Laos (EDL) กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ของไทย

นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบริษัทซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักนั้นยังมีโครงสร้างสัญญาที่ช่วยทำให้กระแสเงินสดมีเสถียรภาพตลอดอายุของสัญญาแม้ว่าปริมาณน้ำจะมีความผันผวนอีกด้วย โดยสัญญาจะมีกลไกที่เอื้อให้บริษัทสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้มากเกินกว่าปริมาณเป้าหมายในปีที่มีน้ำมาก ในขณะที่ปีที่มีน้ำน้อยบริษัทก็จะได้รับเงินสดจากการนำไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าเป้าหมายดังกล่าวมาใช้ และในกรณีที่บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าได้ต่ำกว่าปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปี ปริมาณไฟฟ้าในส่วนที่ขาดนี้ก็สามารถนำไปทบกับปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายของปีถัด ๆ ไปได้

มีประวัติการดำเนินงานที่น่าพอใจ

โครงการน้ำงึม 2 มีสัญญาเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance Agreement --- OMA) กับ กฟผ. ซึ่งครอบคลุมตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นับตั้งแต่การเปิดดำเนินงานในเดือนมีนาคม 2554 จนถึงปี 2563 โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 มีค่าความพร้อมอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 96% มาโดยตลอด ยกเว้นในช่วงปี 2561-2562 ที่ความพร้อมของโรงไฟฟ้าอยู่ที่ระดับประมาณ 92%-93% เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงตามวาระในปี 2561 และการมีปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอสำหรับการผลิตในปี 2562 สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมนั้น สัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีเงื่อนไขยอมให้บริษัทส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงไปให้ กฟผ. ได้ตราบเท่าที่ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเป็นไปตามสัญญา ดังนั้น ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงจึงเป็นสิ่งที่บริหารจัดการได้ ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัทยังคงมีผลงานในการผลิตไฟฟ้าที่ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

มีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ

เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ดังนั้น บริษัทจึงมีความอ่อนไหวสูงต่อความเสี่ยงด้านอุทกวิทยา ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำนั้นเป็นผลจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านซึ่งอาจจะมีความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละปี ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่มีความผันผวนสูงนี้อาจมีผลต่อปริมาณไฟฟ้าที่จะผลิตได้และส่งผลทำให้รายได้ถดถอยลงในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินสดที่ใช้รองรับต้นทุนคงที่ได้ แม้ว่าโครงสร้างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีกลไกที่ช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากทรัพยากรน้ำได้บางส่วน แต่ภาวะภัยแล้งที่ยืดเยื้อก็อาจจะส่งผลต่อปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้และอาจทำให้รายได้ในช่วงดังกล่าวลดลงอย่างมากเช่นกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับรายได้ของโครงการน้ำงึม 2 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับโครงการไซยะบุรีนั้นก็ผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ด้วยเหตุผลเดียวกันเช่นกัน

กำไรในปี 2563 ของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงของโครงการน้ำงึม 2 โดยโครงการประกาศให้ปี 2563 เป็นปีแล้งสำหรับการดำเนินงานภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งทำให้โครงการได้รับการยกเว้นจากการผลิตไฟฟ้าขั้นต่ำตามสัญญา ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของโครงการอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติติดต่อกันมา 2 ปี โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของโครงการให้กลับมาสู่ระดับปกติภายในปลายปี 2563 ซึ่งจะช่วยให้โครงการมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการดำเนินงานในปี 2564 จากกรณีดังกล่าวส่งผลทำให้บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าได้เพียง 916 กิกกะวัตต์-ชั่วโมง (ล้านหน่วย) ซึ่งลดลง 45% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลง 28% เหลือ 2.9 พันล้านบาทในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานที่ลดลงของโรงไฟฟ้าพลังน้ำก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัท ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 7.6 เท่า ณ สิ้นปี 2563 จาก 5.7 เท่าในปี 2562

โรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโต

ทริสเรทติ้งคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างการเติบโตของบริษัท ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนา ?โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง? (โครงการหลวงพระบาง) ในจังหวัดหลวงพระบางของ สปป. ลาว โครงการนี้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-river) ขนาดใหญ่ในแม่น้ำแม่โขงซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 1,460 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 6,854 ล้านหน่วยต่อปีในช่วงอายุสัมปทานที่ประมาณ 32 ปี ปัจจุบันบริษัทถือหุ้น 42% ในบริษัทที่ดำเนินโครงการคือ บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเกี่ยวกับสัญญาที่สำคัญ เช่น สัญญาสัมปทาน สัญญาการก่อสร้าง และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า บริษัทคาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างโครงการได้ในปี 2564 และเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าได้ในปี 2571 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทอาจจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลาในการพัฒนาโครงการ นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่นี้แล้ว บริษัทยังมีแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.8 พันล้านบาทในการซื้อหุ้นเพิ่มเติมในสัดส่วน 5% ในโครงการไซยะบุรีอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นในโครงการดังกล่าวของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 42.5%

มีความเสี่ยงของประเทศใน สปป. ลาว

การที่โรงไฟฟ้าหลัก ๆ ของบริษัทตั้งอยู่ใน สปป. ลาว จึงทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศใน สปป. ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวก็ได้รับการบรรเทาลงได้ด้วยสัญญาสัมปทานที่มีกับรัฐบาล สปป. ลาว และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับ กฟผ. นอกจากนี้ EDL-Gen ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป. ลาว ก็ยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนของทั้งโครงการน้ำงึม 2 และโครงการไซยะบุรีอีกด้วย ในขณะเดียวยังมีการคาดการณ์ว่ารัฐบาล สปป. ลาว จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการหลวงพระบางด้วยเช่นกัน

คาดว่ากำไรจะฟื้นตัว

ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรของบริษัทจะฟื้นตัวในปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการดำเนินงานของโครงการน้ำงึม 2 ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ประมาณการพื้นฐานดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานระดับน้ำ ณ ต้นปี 2564 และสมมติฐานแบบระมัดระวังเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) ของโครงการน้ำงึม 2 จะอยู่ที่ประมาณ 30%-35% ในระหว่างปี 2564-2565 และจะฟื้นตัวเป็นประมาณ 36%-40% ในปี 2566 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วง 4.5-4.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้ความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทจะยังเป็นแหล่งสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่แน่นอนของบริษัทที่ประมาณ 1.1-1.2 พันล้านบาทต่อปีและบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากโครงการไซยะบุรีที่ประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี (คิดตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ประมาณ 42.5%) ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 3.4-3.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงประมาณการดังกล่าว

ภาระหนี้คาดว่าจะลดลง

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5 เท่าตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปเมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุนของบริษัทในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ ๆ และการซื้อหุ้น 5% ในโครงการไซยะบุรี โดยรวมแล้วทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 6.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2566 โดยคาดว่าบริษัทจะยังคงมุ่งเน้นการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและใช้จุดแข็งของบริษัทในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่นั้นโดยปกติจะใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาโครงการและปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมมากมาย ทริสเรทติ้งจึงไม่คาดว่าบริษัทจะมีการเพิ่มสินทรัพย์ขนาดใหญ่ในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 40% ในระหว่างปี 2564-2566

สถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ

ในระดับของงบการเงินรวมนั้น บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดซึ่งรวมถึงเงินสดที่มีภาระผูกผันสำหรับเงินกู้โครงการอยู่ที่ประมาณ 9.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (ทั้งแบบที่สามารถและไม่สามารถยกเลิกวงเงินได้) อีกประมาณ 9.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 3.4 พันล้านบาทในปี 2564 ดังนั้น เงินสดในมือ รวมทั้งวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ และเงินทุนจากการดำเนินงานจึงน่าจะเพียงพอใช้ชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดจำนวนประมาณ 5.5 พันล้านบาทได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2564 จำนวน 4 พันล้านบาทโดยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัทอีกด้วย

จากประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทย่อยต่าง ๆ ของบริษัทน่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้เพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้ทั้งหุ้นกู้และเงินกู้โครงการ นอกจากนี้ บริษัทย่อยเหล่านี้ยังต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินสำรองสำหรับใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ด้วย โดยบัญชีดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงให้แก่ผู้ให้กู้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? อัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) ของโครงการน้ำงึม 2 จะอยู่ในช่วง 30%-35% ในระหว่างปี 2564-2565 และ 36%-40% ในปี 2566

? อัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั้ง 2 แห่งจะอยู่ในช่วง 75%-77%

? เงินลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 6.3 พันล้านบาทในระหว่างปี 2564-2566

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุนโดยมีภาระหนี้และกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับเดียวกับประมาณการของทริสเรทติ้ง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสที่บริษัทจะได้รับการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้านั้นมีค่อนข้างจำกัด ในขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจจะเกิดจากปริมาณน้ำที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินกู้เป็นหลักซึ่งส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP)

อันดับเครดิตองค์กร: A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

CKP216A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-

CKP22NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-

CKP23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-

CKP27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-

CKP286A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ