ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน “บ. ทรู คอร์ปอเรชั่น” ที่ “BBB+” หุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันบางส่วน ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 11, 2021 15:40 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ ?A-? โดยพิจารณาจากสถานะเครดิตของทั้งผู้ออกตราสารและผู้ค้ำประกันคือธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?AA+? และแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก

ทริสเรทติ้ง* โดย ธนาคารกสิกรไทยค้ำประกันหุ้นกู้ในสัดส่วน 45% ของเงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรในประเทศไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งทางการแข่งขันของบริษัททั้งในธุรกิจการให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพีและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวยังมีปัจจัยลดทอนจากภาระหนี้สินจำนวนมากที่บริษัทจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเพื่อการขยายโครงข่ายและเพื่อชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนด นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมและผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจร

บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในฐานะที่เป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรของไทย บริษัทดำเนินธุรกิจในหลากหลายแพลตฟอร์ม กล่าวคือ ธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สาย ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ธุรกิจบริหารการออกอากาศทางโทรทัศน์ และธุรกิจบริการทางดิจิทัล โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานในปี 2563 ทั้งสิ้นจำนวน 1.38 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charge -- IC) จำนวน 1.07 แสนล้านบาท รายได้จากการให้บริการของบริษัทซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ระดับประมาณ 1.4% อันเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสำคัญ ทริสเรทติ้งคาดว่าด้วยการที่บริษัทมีโครงสร้างโครงข่ายพื้นฐานที่แข็งแกร่งครอบคลุมกว้างขวางและมีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่หลากหลายจะช่วยคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทไว้ได้ต่อไป

เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 2

ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทดำเนินการโดย บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด บริษัทมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีโครงข่ายโทรศัพท์ที่กว้างขวาง จำนวนคลื่นความถี่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และคุณภาพของโครงข่าย โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 2 ในอุตสาหกรรมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยทั้งในด้านจำนวนลูกค้าและรายได้ ในขณะที่ตราสัญลักษณ์ ?ทรูมูฟเอช? (TrueMoveH) ของบริษัทก็เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในตลาด ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 31% ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 28.8% ในปี 2562 และ 27.9% ในปี 2561

ณ เดือนธันวาคม 2563 ?ทรูมูฟ เอช? มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 30.63 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 32.2% ของส่วนแบ่งทางการตลาดของลูกค้าทั้งหมดในประเทศไทย การขยายฐานลูกค้าของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าแบบเติมเงินนั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เปราะบาง รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ลดลง และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป

รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตสูงกว่าคู่แข่ง

แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ทว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายของ ?ทรูมูฟ เอช? ในปี 2563 ยังเติบโตเพิ่มขึ้น 3.1% จากปี 2562 โดยอยู่ที่ระดับ 8.01 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ตลาดสื่อสารแบบไร้สายในประเทศไทยสร้างรายได้จากการให้บริการรวมที่ประมาณ 2.57 แสนล้านบาท ซึ่งหดตัว 3.3% จากปี 2562 รายได้จากการให้บริการของบริษัทที่เติบโตดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของการใช้บริการสื่อสารข้อมูลอันเป็นผลจากมาตรการทำงานจากบ้าน (Work-from-Home) และการเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าในระบบจ่ายรายเดือนที่มีรายได้ต่อเดือนต่อเลขหมาย (Average Revenue Per User ? ARPU) ที่สูงขึ้น

สมมติฐานประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับช่วงปี 2564-2566 คาดว่ารายได้จากการให้บริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายของบริษัทจะเติบโตเล็กน้อย โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าอุปสงค์ในการใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ต่อไป อีกทั้งการที่ลูกค้าในระบบเติมเงินย้ายมาเป็นลูกค้าในระบบจ่ายรายเดือนและการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่สูงขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเดือนโดยรวมของบริษัทต่อไปได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมน่าจะยังคงรุนแรงต่อไปเนื่องจากสภาวะอิ่มตัวของตลาดซึ่งจะมีการแข่งขันด้านราคาเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่ารายได้ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น รายได้จากซิมท่องเที่ยวและบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming) น่าจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีปัจจัยขับเคลื่อนจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตแบบใหม่

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะผู้นำในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อไปโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและคุณภาพความเร็วของอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ?ทรูออนไลน์? (TrueOnline) ซึ่งเป็นธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทเป็นผู้นำตลาดโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 36.5% ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งหมดในประเทศไทย ณ เดือนกันยายน 2563

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่ไปสู่การทำงานนอกสำนักงาน (Remote Working) การเรียนหนังสือนอกโรงเรียน (Remote Learning) และการชมสื่อบันเทิงที่บ้าน ซึ่งส่งผลให้มีอุปสงค์ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากบ้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม แต่จำนวนลูกค้าที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ ?ทรูออนไลน์? ณ เดือนธันวาคม 2563 ยังคงเติบโตมาอยู่ที่ระดับ 4.2 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านรายจากปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในปี 2563 ทั้งสิ้น 2.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากปีก่อนโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้งจากอุปสงค์ในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เพิ่มสูงขึ้น และการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงร่วมกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรูปแบบแพ็คเก็จคอนเวอร์เจนซ์ (Convergence Package) แก่ผู้ใช้บริการ

ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับช่วงปี 2564-2566 คาดว่า ?ทรูออนไลน์? จะมีรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เติบโตเล็กน้อยจากอุปสงค์ในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและจากการเสนอบริการแพ็คเก็จคอนเวอร์เจนซ์ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ต่อเดือนต่อเลขหมายจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่หนักหน่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง

ธุรกิจโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19

ในปี 2563 รายได้จากธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกหลังจากหักรายการระหว่างกันลดลง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 8.3 พันล้านบาทอันเป็นผลจากการลดการใช้จ่ายของลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและจากการลดลงของกิจกรรมบันเทิงและการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาในช่วงที่มีการปิดเมือง (Lockdown) ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้จากบริการตอบรับสมาชิกบริการโทรทัศน์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ในการนี้ บริษัทจึงได้พยายามควบคุมค่าใช้จ่ายคอนเทนต์ให้ลดลงเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้จากธุรกิจโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกที่ลดลง

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกระทบจากโรคโควิด 19 ที่ยังคงอยู่และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการชมรายการของผู้บริโภคจะยังคงส่งผลกดดันรายได้ของบริการ ?ทรูวิชันส์? (TrueVisons) ของบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ผู้ชมเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากการชมรายการทางโทรทัศน์แบบเดิมมาเป็นการรับชมรายการผ่านสื่อออนไลน์อินเทอร์เน็ตในรูปแบบ Over-the-Top (OTT) มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทจึงได้พัฒนาช่องทางการรับชมในรูปแบบ OTT ของบริษัทเองโดยผ่านแอปพลิเคชั่น ?TrueID? และกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ ?TrueID? อีกทั้งยังออกอากาศรายการต่าง ๆ ผ่านทุกช่องทางซึ่งรวมถึงบราวเซอร์ (Browser) การส่งข้อมูลภาพและเสียงผ่านทางอินเทอร์เน็ต (Video Streaming) แอปพลิเคชั่น (Application) และกล่องสัญญาณโทรทัศน์ (TV Box) ซึ่งการออกอากาศรายการในช่องทางใหม่ ๆ ดังกล่าวช่วยเพิ่มการรับรู้ในตราสัญลักษณ์ของบริษัทและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้รับชมใหม่ ๆ ทั้งนี้ ถึงแม้ธุรกิจนี้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก แต่ทริสเรทติ้งก็ยังคาดว่า ?ทรูวิชันส์? จะยังคงดำเนินบทบาทที่สำคัญในกลยุทธ์ด้านคอนเวอร์เจนซ์ของบริษัทซึ่งนำเสนอบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และความบันเทิงในแพ็คเกจเดียวกันแก่ผู้บริโภคต่อไป

กระแสเงินสดคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้รวมอยู่ในช่วง 1.39-1.45 แสนล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 5.8-6.2 หมื่นล้านบาทต่อปีและอัตรากำไรจะอยู่ที่ระดับ 41%-43% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับแรงกดดันจากการมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่อยู่ในระดับสูง บริษัทมุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ตลอดจนการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับลูกค้าเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม การลดค่าใช้จ่ายด้านคอนเทนต์ และการรณรงค์ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มากขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการขยายฐานกำไรของบริษัทจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทเป็นหลัก กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาระหนี้สินทางการเงินที่มีระดับสูงของบริษัทลงได้บ้าง โดยเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะอยู่ในช่วง 3.9-4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ภาระหนี้สินทางการเงินจะอยู่ในระดับสูง

อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีความเสี่ยงทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.23 แสนล้านบาทและมีหนี้สินปรับปรุงสุทธิอยู่ที่จำนวนประมาณ 4.01 แสนล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิอยู่ที่ระดับ 9.6%

ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อพิจารณาจากความต้องการใช้เงินลงทุนจำนวนมากสำหรับขยายโครงข่ายและภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนด นอกจากนี้ กำไรของบริษัทยังลดทอนลงจากการมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจำนวนมาก ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนสำหรับการขยายโครงข่ายในระดับ 3.9-4.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 และมีภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่อีกปีละ 9 พันล้านบาทถึง 1.3 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 7 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10%

ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินของบริษัทย่อยในสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัท บริษัทค่อย ๆ ลดจำนวนหนี้สินของบริษัทย่อยต่อหนี้สินรวมของบริษัทลงมาเพื่อลดผลกระทบจากการด้อยสิทธิทางโครงสร้างของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท โดยบริษัทจะค่อย ๆ เปลี่ยนเงินกู้ยืมจากภายนอกบางส่วนของบริษัทย่อยให้เป็นเงินกู้ยืมระหว่างกันจากบริษัท ซึ่งส่งผลให้ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทให้อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท

สภาพคล่องตึงตัวแต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะตึงตัวแต่ก็อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยบริษัทมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมส่วนใหญ่ที่จะครบกำหนดในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีหุ้นกู้และเงินกู้จากธนาคารที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 จำนวนประมาณ 6.45 หมื่นล้านบาท ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความต้องการใช้เงินทุนในการขยายโครงข่ายและชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนดโดยรวมที่ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระหนี้สินตามสัญญาเช่าในส่วนที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีอีก 1.27 หมื่นล้านบาทอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2.45 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2563 และคาดว่าจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในปี 2564 เมื่อพิจารณาจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในการกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมได้

สถานะเครดิตของผู้ค้ำประกัน

อันดับเครดิตองค์กรของธนาคารกสิกรไทยอยู่ที่ระดับ ?AA+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ซึ่งสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของธนาคารจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ ตลอดจนพอร์ตเงินให้กู้ยืมที่มีความหลากหลาย สถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง และความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของธนาคารทั้งในด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากการที่ธนาคารมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากการมีลูกค้าอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นจำนวนมากซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับลูกค้าเงินกู้ในกลุ่มอื่น ๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทจะเติบโตเล็กน้อยในช่วงปี 2564-25646 ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกจะยังคงได้รับแรงกดดันจากผลกระทบของโรคโควิด 19 และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

? อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 41%-43% ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า

? เงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.9-4.3 หมื่นล้านบาทต่อปีเพื่อใช้ขยายโครงข่ายการให้บริการในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า

? ภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนดจะอยู่ที่ 9 พันล้านบาทถึง 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566

? จะไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ตลอดระยะเวลาประมาณการ

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดและจะมีผลการดำเนินงานที่ดีในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อไปได้ รวมทั้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile อย่างต่อเนื่องต่อไปซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนคุณภาพเครดิตของบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากฐานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบันซึ่งมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและภาระหนี้สินทางการเงินลดลงอย่างมาก ในขณะที่อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจนส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินต่ำกว่าระดับ 5% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

แม้ว่าประเด็นเกี่ยวกับข้อพิพาทและคดีความทางกฎหมายสำคัญ ๆ ที่บริษัทมีมาตั้งแต่ในอดีต เช่น ข้อพิพาทเรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (Access Charge) หรือเรื่องค่าธรรมเนียมเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอื่น ๆ ได้รับการตัดสินเป็นที่ยุติแล้ว แต่บริษัทก็ยังมีคดีความในเรื่องอื่น ๆ อีกบางส่วนที่จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาตัดสินด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีสาระสำคัญต่อสถานะทางการเงินของบริษัท

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TRUE215A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,224.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

TRUE215B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

TRUE217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,625 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

TRUE217B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 9,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

TRUE21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,360 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

TRUE221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 12,246 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TRUE221B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TRUE224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,922 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TRUE225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TRUE227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 945 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TRUE228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,799.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TRUE228B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 830 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TRUE232A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,330 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+

TRUE237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,394.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+

TRUE239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+

TRUE23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,438.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+

TRUE248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,841.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+

TRUE24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,325 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+

TRUE24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,268.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+

TRUE251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,994.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+

TRUE258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+

TRUE25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,486.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+

TRUE261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,130.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB+

TRUE26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,805.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB+

TRUE22NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วน 8,330 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 22,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 6 ปี BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ