ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน “บ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น” ที่ “BBB+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 11, 2021 15:41 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทย่อยหลักของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทมีระดับเท่ากับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งจัดโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ ?BBB+/Stable?

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น โดยเป็นหน่วยธุรกิจที่ให้บริการด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทแม่ บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้บริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ภายใต้ใบอนุญาตของกลุ่มทรู ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสถานะเป็นบริษัทที่มีความสำคัญทางกลยุทธ์ในการให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรของกลุ่มในระยะยาวต่อไป

ในด้านของผลการดำเนินงานทางการเงินนั้น บริษัทมีผลงานที่น่าพอใจและยังคงสร้างรายได้และกำไรในสัดส่วนที่สำคัญให้แก่กลุ่มทรู ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 76% ของรายได้รวมของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น และทำกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในสัดส่วนประมาณ 58%

ในฐานะเป็นบริษัทย่อยที่หุ้นทั้งหมดถือโดยบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น บริษัทมีบูรณาการทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ทางการเงินในระดับสูงร่วมกับบริษัทแม่ โดยในด้านธุรกิจนั้น บริษัทเป็นผู้ถือครองสินทรัพย์ในการดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมถึงใบอนุญาตคลื่นความถี่ของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ส่วนการสนับสนุนทางด้านการเงินนั้นจะเห็นได้จากการที่บริษัทแม่ทำการเพิ่มทุนให้แก่บริษัทในช่วงเวลาที่จำเป็น

เมื่อพิจารณาจากสถานะที่บริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทมีระดับเท่ากับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทแม่ ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง

การเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าที่มีการใช้บริการสื่อสารข้อมูลจำนวนมากช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีผู้ใช้บริการจำนวน 30.63 ล้านรายซึ่งใกล้เคียงกับในปี 2562 การขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าในระบบเติมเงินนั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อย่างไรก็ตาม ลูกค้าในระบบรายเดือนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 9.71 ล้านราย ณ สิ้นปี 2563 จาก 8.30 ล้านราย ณ สิ้นปี 2562

บริษัทมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมกว้างขวางและคุณภาพของโครงข่าย รวมทั้งการมีคลื่นความถี่ (Spectrum Portfolio) จำนวนมากซึ่งครอบคลุมย่านความถี่ (Bandwidth) ต่ำ กลาง และสูง และตราสัญลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี โดยความแข็งแกร่งเหล่านี้ช่วยสนับสนุนเให้จำนวนลูกค้าในระบบรายเดือนที่มีการใช้บริการสื่อสารข้อมูลจำนวนมากของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทมีลูกค้าในระบบรายเดือน ณ เดือนธันวาคม 2563 คิดเป็นสัดส่วน 32% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 27% ณ สิ้นปี 2562

บริษัทได้ขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เทคโนโลยีรุ่นที่ 4 หรือ 4G (Fourth Generation) ครอบคลุมทั่วประเทศแล้วและยังได้ขยายโครงข่ายเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่หลักครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดอีกด้วย ลูกค้าที่ใช้บริการเทคโนโลยี 4G และ 5G มีการใช้บริการสื่อสารข้อมูลจำนวนมากและสร้างระดับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมาย (Average Revenue per User -- ARPU) ที่สูงกว่า ทั้งนี้ ลูกค้าในระบบรายเดือนสร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายสูงกว่าลูกค้าที่อยู่ในระบบเติมเงินถึง 4-5 เท่า โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 471 บาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 จากระดับ 468 บาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ซึ่งช่วยทำให้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายโดยรวมของบริษัทขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 215 บาทในปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นจาก 209 บาทในปีก่อน อย่างไรก็ตาม ระดับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายของลูกค้าของบริษัทก็ยังถือว่าต่ำกว่าของคู่แข่ง

การให้บริการ 4G ยังคงเป็นบริการหลักในปัจจุบัน

ทริสเรทติ้งคาดว่าในอนาคตการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะยังคงรุนแรงเนื่องจากสภาวะอิ่มตัวของตลาดและอาจจะมีการแข่งขันในด้านราคาเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ อีกทั้งตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยจะยังคงใช้เทคโนโลยี 4G เป็นหลักและมีการเพิ่มระดับบริการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง (Broadband) ในบางพื้นที่ ทริสเรทติ้งคาดว่าเทคโนโลยี 5G อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาทั้งในส่วนของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและความเพียงพอของอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีนี้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอุปกรณ์และเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับเทคโนโลยี 5G จะค่อย ๆ มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้าและจะทำให้จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเทคโนโลยี 5G ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ การนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี 5G แบบเฉพาะทาง ตลอดจนการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet of Things -- IoT) โดยใช้คลื่นความถี่ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ที่เป็นคลื่นในย่านความถี่สูงกับแอพพลิเคชั่น (Application) ความเร็วสูงซึ่งใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (Vertical Industry) หรือความร่วมมือระหว่างธุรกิจนั้นจะค่อย ๆ ได้รับการพัฒนา ดัดแปลง และให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป

รายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นแม้จะเผชิญกับผลกระทบจากโรคโควิด 19

บริษัทยังคงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งโดยเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 2 ในอุตสาหกรรมสื่อสารแบบไร้สายในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้ประมาณ 31% ในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 28.8% ในปี 2562 แม้ว่าธุรกิจบางส่วนของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 แต่รายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charge ? IC) ของบริษัทในปี 2563 ยังเติบโตมาอยู่ที่ระดับ 8.01 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 3.1% จากปี 2562 ในขณะที่ทั้งอุตสาหกรรมหดตัวลง 3.3%

ปัจจัยที่หนุนให้รายได้การให้บริการเพิ่มขึ้นนั้นมาจากการให้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากมาตรการทำงานจากบ้าน (Work-from-Home) และฐานลูกค้าที่ใช้บริการสื่อสารข้อมูลจำนวนมากที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ รายได้จากบริการด้านเสียงและข้อมูลของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบ 4% จากปีก่อน ในทางกลับกัน รายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming -- IR) และรายได้จากซิมท่องเที่ยวและอื่น ๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของรายได้จากการให้บริการรวมนั้นลดลง 8.6% จากปีก่อนอันเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 3.36 หมื่นล้านบาทและมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 2.27 หมื่นล้านบาท

สร้างรายได้และกำไรจำนวนมากให้แก่กลุ่ม

ความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรของบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น โดยบริษัทสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65%-76% ของรายได้รวมของบริษัทแม่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50%-58% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายของบริษัทจะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นและจะสร้างรายได้รวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75%-77% ของรายได้รวมของบริษัทแม่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักที่มาจากอุปสงค์ของการใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้นและการโอนย้ายลูกค้าในระบบเติมเงินมาเป็นลูกค้าในระบบรายเดือนซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายที่สูงกว่าซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายโดยรวมให้แก่บริษัทได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ครอบคลุมของบริษัทแม่ซึ่งมีช่องทางการกระจายสินค้าที่กว้างขวางผ่านบริษัทที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการให้บริการและการรณรงค์ส่งเสริมการตลาดแก่ลูกค้าแบบเฉพาะกลุ่ม และแพ็คเก็จการให้บริการคอนเวอร์เจนซ์ (Convergence Service Package) จะช่วยสร้างฐานลูกค้าที่กว้างขวางและสร้างความพึงพอใจในการให้บริการแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากซิมท่องเที่ยวและบริการข้ามแดนอัตโนมัติน่าจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการที่จะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำไรของบริษัทจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อพิจารณาจากรายได้จากการดำเนินงานที่เติบโตเพิ่มขึ้น ตลอดจนต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ที่ต่ำ และความพยายามในการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษํท อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทก็ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการดำเนินงานคงที่ที่อยู่ในระดับสูง ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของโครงข่ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและจากใบอนุญาตใหม่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาดที่อยู่ในระดับสูง บริษัทมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมไปถึงการเข้าถึงลูกค้าใหม่อย่างมีคุณภาพและการบริหารการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ และการใช้การส่งเสริมการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้าหลังจากที่บริษัทสามารถสร้างรายได้จากคลื่นความถี่ใหม่ที่ประมูลมาได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงปี 2564-2566 บริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วง 3.2-3.4 หมื่นล้านบาทต่อปี และจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปีละ 2 หมื่นล้านบาท

มีภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง

บริษัทมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง กล่าวคือ ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีหนี้สินปรับปรุงสุทธิอยู่ที่ 2.71 แสนล้านบาทซึ่งรวมภาระต้นทุนใบอนุญาตคลื่นความถี่และเงินลงทุนขยายโครงข่าย ในขณะที่กำไรของบริษัทยังลดทอนลงจากการมีดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินปรับปรุงสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 8 เท่าและมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินปรับปรุงสุทธิที่ระดับ 8.4%

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าจะยังอยู่ในระดับสูงเมื่อพิจารณาจากเงินลงทุนสำหรับขยายโครงข่ายและภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่รวมถึงภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมาก ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2.3-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2564-2566 และจะมีภาระที่ต้องจ่ายชำระค่าใบอนุญาตอีกปีละ 9 พันล้านบาทถึง 1.3 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินปรับปรุงสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 9 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินปรับปรุงสุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7%

ความจำเป็นในการกู้ยืมใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิม

บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 9.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 และบริษัทคาดว่าจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหมายว่าบริษัทจะมีความต้องการในการใช้เงินทุนเพื่อการขยายโครงข่ายและชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่โดยรวมที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ในขณะที่บริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 ประมาณ 3.17 หมื่นล้านบาทและยังมีภาระหนี้สินตามสัญญาเช่าในส่วนที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีอีกจำนวน 7.6 พันล้านบาทด้วย ดังนั้น บริษัทจึงมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินใหม่เพื่อนำมาใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมส่วนใหญ่ที่จะครบกำหนดในช่วงเวลาอันใกล้นี้

สถานะเครดิตของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น อยู่ที่ระดับ ?BBB+? ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรในประเทศไทย โดยบริษัทดำเนินธุรกิจในหลากหลายแพลตฟอร์ม กล่าวคือ ธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สาย ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ธุรกิจบริหารการออกอากาศทางโทรทัศน์ และธุรกิจบริการทางดิจิทัล นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงผลประกอบการที่น่าพอใจของบริษัทและความแข็งแกร่งทางการแข่งขันทั้งในธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องที่บริษัทได้รับจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพีและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีปัจจัยลดทอนจากภาระหนี้สินจำนวนมากของบริษัทที่เกิดจากความจำเป็นในการใช้เงินลงทุนเพื่อขยายโครงข่ายและเพื่อชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนด ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรง และผลกระทบอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงยืดเยื้ออีกด้วย

การระงับข้อพิพาททางกฎหมาย

ข้อพิพาททางกฎหมายภายใต้สัญญาสัมปทานที่กลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น มีกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) หรือปัจจุบันคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บางส่วนได้ผ่านการเข้าทำสัญญาระงับข้อพิพาทไปแล้ว ซึ่งรวมถึงข้อพิพาทที่เกี่ยวกับค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจากส่วนแบ่งรายได้ ตลอดจนค่าธรรมเนียมเลขหมาย ค่าธรรมเนียมนำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมถึงค่าเช่า และค่าปรับอื่น ๆ ที่บริษัทได้รับการกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดบางประการที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทาน ในการนี้ ข้อพิพาทที่ยุติลงแล้วนี้ช่วยบรรเทาข้อกังวลเกี่ยวกับภาระผูกพันที่ยืดเยื้อยาวนานภายใต้สัญญาสัมปทานลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทก็ยังมีคดีความในเรื่องอื่น ๆ อีกบางส่วนที่จะต้องใช้เวลาในการพิจารณา ในการนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่าความคืบหน้าของคดีความที่ไม่สามารถคาดเดาได้อาจนำไปสู่ผลกระทบในด้านลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคือการที่บริษัทยังคงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ต่อไป

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลงและจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จะอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางลบได้ด้วยเช่นกันในกรณีที่ทริสเรทติ้งเห็นว่าระดับความช่วยเหลือที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่นั้นเปลี่ยนแปลงไป หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถานะของบริษัทเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมอื่น ๆ ของบริษัทแม่

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TUC218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,998.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

TUC21NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,961.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

TUC21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 10,974.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

TUC225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,258.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TUC228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TUC22DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,772.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TUC238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,001.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+

TUC23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,545.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+

TUC241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,190.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+

TUC243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,182.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+

TUC245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,789.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+

TUC246A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+

TUC24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+

TUC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 18,544.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+

TUC25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,838.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+

TUC26DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,480.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB+

TUC275A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,376.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 BBB+

TUC27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,643.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 BBB+

TUC295A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,575.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ