ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร “บ. ไมด้า แอสเซ็ท” เป็น “BB” จาก “BB+” แนวโน้ม “Negative”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 31, 2021 17:53 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ?BB? จากระดับ ?BB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? การปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความกังวลต่อผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงแรมของบริษัทที่มีแนวโน้มว่าจะยังคงถดถอยลงไปอีกซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อ ทำให้คาดว่ากำไรตามงบการเงินรวมของบริษัทจะอ่อนตัวลงไปอีกระยะหนึ่ง รวมถึงความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่เพิ่มมากขึ้นจากการกระจุกตัวของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ

อันดับเครดิตองค์กรยังสะท้อนถึงขนาดของธุรกิจที่เล็กแต่มีความหลากหลาย ตลอดจนผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัทและธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ไมด้า (ลาว) เช่าสินเชื่อ จำกัด ซึ่งเป็นผลจากขนาดของสินเชื่อหดตัวลงและมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงขึ้น

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลกระทบที่รุนแรงจากโรคโควิด 19 ต่อธุรกิจโรงแรมจะยังคงดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ทริสเรทติ้งมองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยจะยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกต่าง ๆ และความล่าช้าในการกระจายวัคซีนทำให้แผนการผ่อนคลายมาตรการการจำกัดการเดินทางต้องล่าช้าออกไป ทั้งนี้ คาดว่าอุปสงค์โรงแรมที่เน้นลูกค้ากลุ่มไมซ์ (การประชุมระดับองค์กร การจัดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงาน การประชุมระดับนานาชาติ และงานแสดงสินค้าหรือบริการต่าง ๆ) และกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงต้นปี 2565 ในขณะที่อุปสงค์โรงแรมซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวและเน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักจะฟื้นตัวช้ากว่า ในประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 และจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดในปี 2567

ในประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำตลอดปี 2564 โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPar) ในปี 2564 จะต่ำกว่าในปี 2562 ที่ระดับ 80% และรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนในปี 2565 จะปรับดีขึ้นในระดับที่ต่ำกว่าในปี 2562 ประมาณ 35% ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด 19 ในปี 2567 ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมในปีนี้จะลดลงจากปี 2562 มากถึง 70% และคาดว่ารายได้จะปรับดีขึ้นเป็น 400-500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวในลูกค้ากลุ่มไมซ์และกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศแล้ว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจโรงแรมจะมีผลขาดทุนจำนวนมากในปีนี้จากการที่ธุรกิจนี้แบกภาระต้นทุนคงที่และค่าเสื่อมราคาจำนวนมากในช่วงขาลงของอุตสาหกรรม และยังคาดว่าจะมีผลขาดทุนต่อเนื่องไปอีกในปี 2565-2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่อกำไรตามงบการเงินรวมของบริษัทตลอดช่วงประมาณการ

รายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะเติบโตจากการโอนคอนโดมิเนียม

ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2564 อุปสงค์ในที่อยู่อาศัยจากผู้ซื้อในประเทศจะยังคงอ่อนตัว ในขณะที่อุปสงค์จากผู้ซื้อต่างชาติมีแนวโน้มจะชะลอตัวในระยะเวลาที่ยาวนาน ในประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายที่อยู่อาศัยจะเท่ากับ 400 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโครงการบ้านจัดสรร ยอดขายจะปรับดีขึ้นเป็นประมาณ 500-700 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอดขายโครงการคอนโดมิเนียม The Panora Pattaya ที่คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปีหน้า อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เน้นกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ทริสเรทติ้งจึงประมาณการความคืบหน้าในการขายเพียง 10%-15% ต่อปี หรือ 200-300 ล้านบาทต่อปีในช่วง 2 ปีข้างหน้า

ยอดขายรอการรับรู้รายได้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 เท่ากับ 500 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะส่งมอบยอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 200 ล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี 2564 และที่เหลือในปี 2565 ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากโครงการที่อยู่อาศัยจะลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 400 ล้านบาทในปี 2564 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 800-900 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 ตามการคาดการณ์ว่าบริษัทจะเริ่มโอนคอนโดมิเนียมในต้นปี 2565 ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรขั้นต้นสำหรับโครงการที่อยู่อาศัยเอาไว้ที่ 30%-32% ได้ตลอดช่วงประมาณการ

สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวลงและคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอ

การชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยาวนานรวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อของบริษัทต่อไป ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าสินเชื่อเช่าซื้อคงค้างของบริษัทจะลดลงเหลือ 3.2-3.4 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2566 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของบริษัทไมด้าลาว ทั้งนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อเอาไว้ได้ไม่ต่ำกว่า 26% ในช่วงปี 2564-2566 และคาดว่ารายได้ดอกผลเช่าซื้อจะลดลงเป็น 800-900 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากระดับ 1.0-1.1 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) จะดีขึ้น แต่คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัทและบริษัทไมด้าลาวทำให้คาดว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วันต่อสินเชื่อรวม) ตามงบการเงินรวมจะเท่ากับ 10% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งสำรองสำหรับธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อทุกประเภทค่อนข้างน้อยที่ประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสำรองดังกล่าวยังเพียงพอเนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้ หากคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลงจะทำให้บริษัทจำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรสุทธิของบริษัทได้

ธุรกิจขนาดเล็กแต่มีความหลากหลาย

ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลง 20% จากปีที่แล้วเป็น 1.8 พันล้านบาทในปี 2564 และปรับดีขึ้นเป็น 2.6-2.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 50% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมในปี 2564 และ 30% ในช่วงปี 2565-2566 รายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะมีสัดส่วนประมาณ 20% ในปีนี้และเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า รายได้จากธุรกิจโรงแรมจะลดลงเหลือประมาณ 10% ในปี 2564 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 2566 รายได้จากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะมีสัดส่วนเท่ากับ 15% ในขณะที่รายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าและค่าบริการมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย

ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงเหลือ 80-100 ล้านบาทในปี 2564 จาก 400 ล้านบาทในปี 2563 และ 600 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2562 ทั้งนี้ บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิตามงบการเงินรวมเท่ากับ 150 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะมีผลขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2564 ที่ประมาณ 400 ล้านบาท และยังมองว่าบริษัทจะยังคงมีผลขาดทุนสุทธิต่อไปอีกจนกว่าธุรกิจโรงแรมจะฟื้นตัว

ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น

ในประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากธุรกิจโรงแรมอาจส่งผลให้เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเป็นลบในปี 2564 และมีแนวโน้มที่จะเป็นลบต่อไปจนถึงปี 2565 ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะเท่ากับประมาณ 2% ในปี 2566 ทริสเรทติ้งยังคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ที่ 5.1-5.2 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากการคาดการณ์ว่าสินเชื่อเช่าซื้อจะเติบโตช้าในช่วงปี 2565-2566 และยังคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนสำหรับการขยายสาขาเช่าซื้อและสำหรับธุรกิจโรงแรม 80 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 และใช้เงินลงทุนสำหรับซื้อที่ดินและก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย 400-500 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 53% จาก 49% ในปี 2563 หรืออัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนเท่ากับ 1.1-1.2 เท่า ตลอดช่วงประมาณการ โดยภาระหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ณ เดือนมิถุนายน 2564 อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทางการเงินรวมเท่ากับ 78% ดังนั้น เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทจึงมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันตามลำดับชั้นในการได้รับชำระคืน

ตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้นั้นกำหนดให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (ตามงบการเงินรวม) ให้ต่ำกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.05 เท่า ทริสเรทติ้งหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ต่อไปได้

สภาพคล่องตึงตัว

สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทตึงตัว แม้ว่าบริษัทจะได้รับความยินยอมจากธนาคารผู้ให้เงินกู้ในการเลื่อนการจ่ายชำระเงินต้นสำหรับเงินกู้ในธุรกิจโรงแรมไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564 แต่บริษัทก็มีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวนมากถึง 4 พันล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณ 80% ของหนี้สินทางการเงินรวม ณ เดือนมิถุนายน 2564 ภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปีข้างหน้าประกอบด้วย หุ้นกู้ 2.2 พันล้านบาท เงินกู้ระยะสั้นจากธนาคาร 0.8 พันล้านบาท เงินกู้ระยะสั้นจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 0.3 พันล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวโครงการ 0.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วย เงินสดในมือ 0.2 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อโครงการจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้ 0.6 พันล้านบาท และเงินต้นจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งจะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปีจำนวน 1.5 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่ดินที่ปลอดภาระค้ำประกันมูลค่าตามบัญชีอีกจำนวน 0.3 พันล้านบาทซึ่งสามารถใช้เป็นหลักประกันสำหรับขอวงเงินกู้ใหม่ได้หากจำเป็น

บริษัทและบริษัทย่อยมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคือ หุ้นกู้มูลค่า 700 ล้านบาทครบกำหนดวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 หุ้นกู้มูลค่า 500 ล้านบาทครบกำหนดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 หุ้นกู้มูลค่า 450 ล้านบาทครบกำหนดวันที่ 7 เมษายน 2565 และหุ้นกู้มูลค่า 582 ล้านบาทครบกำหนดวันที่ 24 เมษายน 2565 ทั้งนี้ บริษัทจะทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระเหล่านี้ด้วยวงเงินกู้ยืมจากธนาคารและการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ เนื่องจากการกระจุกตัวของภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระ ทริสเรทติ้งจึงมองว่าบริษัทมีความเสี่ยงสูงในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อทดแทนภาระหนี้ดังกล่าว

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญของทริสเรทติ้งสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2564-2566 มีดังนี้

? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะลดลง 20% จากปีที่แล้วเป็น 1.8 พันล้านบาทในปี 2564 และปรับดีขึ้นเป็น 2.6-2.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566

? ยอดสินเชื่อเช่าซื้อคงค้างจะลดลงอยู่ที่ 3.2-3.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปีของแต่ละปี

? อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะอยู่ที่ประมาณ 10%

? ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ในช่วงระหว่าง 5.0%-5.5% ในขณะที่ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อจะอยู่ที่ 26%

? รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนในปี 2564 จะต่ำกว่าในปี 2562 ที่ระดับ 80% และปรับดีขึ้นในปี 2565 ในระดับที่ต่ำกว่าในปี 2562 ประมาณ 35% โดยคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด 19 ในปี 2567

? เงินลงทุนต่อปีสำหรับซื้อที่ดินและก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะถดถอยลงต่อไปอีกในช่วง 12 เดือนข้างหน้าในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังดำเนินอยู่ และความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อมาทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระของกลุ่มบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงอีกหากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อส่งผลให้ผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ หากความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็จะเป็นเหตุให้มีการปรับลดอันดับเครดิตด้วย ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับดีขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและไม่มีความกังวลเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
  • เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
  • เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
  • เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
  • อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (MIDA)

อันดับเครดิตองค์กร: BB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ