ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร บ. ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่ AA แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 21, 2022 11:16 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TIPH) ที่ระดับ AA พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของ TIPH ในการเป็นบริษัทโฮลดิ้งของธุรกิจประกัน อันประกอบด้วย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (TIP) และการลงทุนอื่น ๆ ภายใต้ TIPH (TIPH Group) นอกจากนี้ อันดับเครดิตของ TIPH ยังอยู่ต่ำกว่าสถานะทางเครดิตของกลุ่ม (Group Credit Profile: GCP) ซึ่งอยู่ที่ระดับ aaa อยู่สองขั้น

GCP สะท้อนถึงสถานะทางเครดิตของ TIPH Group ซึ่งมี TIP เป็นบริษัทหลัก GCP จึงสะท้อนถึงสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีเยี่ยม สถานะความเสี่ยงทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก และธุรกิจประกันภัยซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงกรอบธรรมาภิบาลและสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของ TIPH และ TIP อีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทโฮลดิ้งของธุรกิจประกัน

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ TIPH โดยสะท้อนถึงสถานะทางเครดิตของ TIPH Group ซึ่งโดยส่วนใหญ่สะท้อนถึงสถานะทางเครดิตของ TIP อันเป็นบริษัทหลักของกลุ่ม จากการที่บริษัทเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการ (Non-Operating Holding Company: NOHC) บริษัทจึงอาศัยเงินปันผลจาก TIP เพื่อชำระหนี้

ทริสเรทติ้งคาดว่า TIPH จะคงสถานะเป็น NOHC ของกลุ่มประกันภัยในอนาคตอันใกล้ ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ 3-5 ปี TIPH จะจัดธุรกิจของกลุ่มเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจสนับสนุนธุรกิจประกันภัย และธุรกิจอื่น ๆ โดยบริษัทคาดว่าจะรักษาสัดส่วนเงินลงทุนในธุรกิจหลัก (ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจสนับสนุนธุรกิจประกันภัย) ไม่ต่ำกว่า 75% ของสินทรัพย์รวม ส่วนการลงทุนที่เป็นไปได้ภายใต้ธุรกิจอื่น ๆ อาจรวมถึงนวัตกรรมทางการเงิน เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล

เป็นผู้นำด้านการประกันวินาศภัยที่มีความหลากหลาย

ทริสเรทติ้งคาดว่า TIP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินงานหลักของ TIPH จะคงสถานะทางการแข่งขันในฐานะหนึ่งในบริษัทประกันวินาศภัยชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากส่วนแบ่งการตลาดที่แข็งแกร่ง แบรนด์ที่มีชื่อเสียง และธุรกิจที่หลากหลาย โดย TIP มีส่วนแบ่งการตลาดของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงอยู่ที่ระดับ 10.9% ในปี 2564 เป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยของไทย บริษัทเป็นผู้นำในด้านการให้บริการรับประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงที่ระดับ 19.8% ในปี 2564 บริษัทยังครองส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในการรับประกันภัยด้านอุบัติเหตุและสุขภาพ (A&H) เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ และอัคคีภัยในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ บริษัทยังครองตำแหน่งทางการตลาดเฉพาะในกลุ่มประกันภัยรถยนต์ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ระดับ 4% ในปี 2564

ในมุมมองของทริสเรทติ้ง TIP สามารถปรับตัวต่อสภาวะทางธุรกิจและปัจจัยภายนอกที่ไม่พึงประสงค์ได้จากการรับประกันภัยที่มีความหลากหลาย การรับประกันภัยอย่างระมัดระวัง และการประกันภัยต่ออย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งรายได้ที่หลากหลายของ TIP ประกอบด้วยกำไรจากการรับประกันภัยที่มีความแข็งแกร่ง รายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าคอมมิชชั่นจากการประกันภัยต่อ และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ค่อนข้างคงที่ นอกจากนี้ TIP ยังให้การรับประกันทั้งในกลุ่มลูกค้าองค์กรและกลุ่มลูกค้าบุคคล โดยมีที่มาของกำไรจากการรับประกันภัยที่สำคัญซึ่งประกอบด้วยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (42%) เบ็ดเตล็ด (22%) อัคคีภัย (21%) และรถยนต์ (13%) ในช่วงปี 2559-2564

มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ดี

ในมุมมองของทริสเรทติ้ง TIP มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ดี การร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TIPH ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลซึ่งประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทยนั้นส่งผลให้ TIP สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางและให้บริการกับพนักงานภาครัฐจำนวนมากภายใต้แรงกดดันด้านราคาที่ต่ำกว่า หน่วยงานเหล่านี้ยังให้การแนะนำทางธุรกิจสำหรับลูกค้าองค์กรและลูกค้าบุคคลอีกด้วย อีกทั้งการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านนายหน้าประกันภัยที่ไม่ใช่ธนาคารและแพลตฟอร์มดิจิทัลยังช่วยเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับ TIP ได้ด้วย นอกจากนี้ การลงทุนในอนาคตของ TIPH ในนวัตกรรมทางการเงินและแพลตฟอร์มดิจิทัลจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการจัดจำหน่ายของ TIP ได้อีกทางหนึ่ง

ความสามารถในการทำกำไรแข็งแกร่ง

TIP มีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยมีผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (Return On Average Equity: ROAE) อยู่ที่ระดับ 20%-25% ในช่วงปี 2559-2564 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า ROAE ซึ่งจะลดลงสู่ระดับประมาณ 10% ในปี 2565 จากค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันโรคโควิด 19 ที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น โดยคาดการณ์ว่า ROAE จะกลับคืนสู่ระดับปกติได้ที่ระดับ 20% ในปี 2566-2567 สำหรับ ROAE ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงในช่วงเวลาที่ผ่านมา สะท้อนถึงผลกำไรจากการรับประกันภัยที่ดีจากอัตราส่วนรวม (Combined Ratio) เฉลี่ยที่ระดับ 75% ในช่วงปี 2559-2563 รายได้ค่าคอมมิชชั่นจากประกันภัยต่อจากการใช้ประกันภัยต่อในสัดส่วนที่สูง และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ระดับ 5%-6% ต่อปี TIP ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนของประกันโรคโควิด 19 จำนวนมากเช่นเดียวกับบริษัทประกันวินาศภัยอื่น ๆ ในช่วงระหว่างปี 2564 ถึงครึ่งแรกของปี 2565 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) โดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 70% และ 90% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กรมธรรม์ประกันโรคโควิด 19 ของ TIP นั้นจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับกรณีรุนแรงเท่านั้น ซึ่งมีความคุ้มครองจากการประกันภัยต่อแบบอัตราส่วน (Quota Share) ในสัดส่วนที่สูงอีกด้วย การเคลมประกันโรคโควิด 19 โดยส่วนใหญ่ได้สิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2565 เนื่องจากบริษัทได้หยุดรับประกันโรคโควิด 19 ซึ่งให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา

เงินกองทุนแข็งแกร่ง

TIP น่าจะคงอัตราส่วนเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทมีเงินทุน (Total Capital Available: TCA) อยู่ที่ระดับ 7.4 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งมีขนาดปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนอยู่ที่ระดับ 243% ณ เดือนมิถุนายน 2565 หลังจากจ่ายเงินปันผล 900 ล้านบาทไปในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินกองทุนของบริษัทจะคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 240% ได้ในอนาคตด้วยอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลที่ 50% ทริสเรทติ้งยังประมาณการอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับที่จะกลับสู่ระดับปกติที่ 5%-6% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป หลังจากที่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 16% ต่อปีในช่วงปี 2563-2564 และอัตราการเติบโตจะคงที่ในปี 2565 สมมติฐานอื่น ๆ ยังประกอบด้วย Loss Ratio ในระดับปกติที่ระดับ 50%-55% ในช่วงปี 2566-2567 หลังจากที่ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 70% ในปี 2565 จากค่าสินไหมทดแทนประกันโรคโควิด 19 จำนวนมาก

มีความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินกองทุนที่จำกัด

ทริสเรทติ้งคาดว่าความผันผวนต่อเงินกองทุนของ TIP จะลดต่ำลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีการจัดการที่ดีต่อความเสี่ยงจากการรับประกันภัย มีการใช้ประกันภัยต่ออย่างมีประสิทธิภาพ และมีกลยุทธ์การลงทุนที่มุ่งเน้นที่รายได้ที่มั่นคง ผลกำไรจากการรับประกันที่ดีของ TIP สะท้อนถึงความสามารถของบริษัทในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเบี้ยประกันตามความเสี่ยงซึ่งตรวจสอบโดยทีมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยของบริษัท การนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรมของกลุ่มตลาดเป้าหมายช่วยลดแรงกดดันด้านราคาในการขายกรมธรรม์ประกันภัยของ TIP ได้ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับบริษัทประกันภัยต่อในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันอีกด้วย

TIP มีการใช้ประกันภัยต่อในระดับสูงเมื่อเทียบกับบริษัทประกันภัยอื่น เพื่อดำเนินธุรกิจภายใต้จำนวนเงินสูงสุดที่บริษัทสามารถรับความเสี่ยงไว้เอง (Retention Limit) เป็นการเพิ่มความสามารถในการรับประกัน และลดความผันผวนของผลการดำเนินงานจากการรับประกัน โดยมีการติดตามความเสี่ยงของคู่สัญญาการประกันภัยต่ออย่างสม่ำเสมอด้วยการติดตามอันดับเครดิต อัตราส่วนเงินกองทุน และการกระจุกตัวของบริษัทประกันภัยต่อแต่ละราย สัญญาประกันภัยต่อประกอบด้วยสัญญาแบบกำหนดสัดส่วนแน่นอน (Proportional Treaty) เพื่อร่วมรับความเสี่ยงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน บริษัทยังทำสัญญาประกันภัยต่อแบบไม่เป็นสัดส่วน (Non-Proportional Treaty) และสัญญาประกันภัยต่อเฉพาะราย (Facultative Reinsurance) อีกหลายฉบับเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและภัยที่มีลักษณะเฉพาะ นอกจากนี้ ความเสี่ยงประเภทหลักจากการรับประกันภัยสุทธิของบริษัท ซึ่งได้แก่ อุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยรถยนต์และทรัพย์สิน โดยทั่วไปแล้วก็จะมีการกระจายตัวด้วย

ในด้านการลงทุน ทริสเรทติ้งคาดว่าความผันผวนของเงินกองทุนจากพอร์ตการลงทุนของ TIP จะมีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัดจากกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นรายได้เป็นหลัก บริษัทมีการแบ่งเงินลงทุนเป็นกลุ่มตามวัตถุประสงค์อันประกอบด้วยเงินทุนหมุนเวียน การจัดการสินทรัพย์-หนี้สินสำหรับการชำระค่าสินไหมทดแทน ส่วนที่มุ่งเน้นผลตอบแทน และส่วนอื่น ๆ โดยในสองส่วนแรกประกอบด้วยเงินสด ตราสารในตลาดเงิน หุ้นกู้รัฐบาล และหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ซึ่งน่าจะยังคงสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของพอร์ตลงทุนรวมของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า สำหรับกระบวนการลงทุนนั้นเป็นไปตามขีดจำกัดความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ระบุไว้แต่ละประเภท อันดับความน่าเชื่อถือขั้นต่ำสำหรับหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน และมูลค่าความเสี่ยง (VAR) สำหรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้น

การบริหารความเสี่ยงและกรอบธรรมาภิบาลที่ครอบคลุม

การบริหารความเสี่ยงและกรอบธรรมาภิบาลของ TIP นั้นสอดคล้องกับกรอบการบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management: ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (Own Risk and Solvency Assessment: ORSA) ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) TIP มีการควบคุมความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และติดตามตัวบ่งชี้ความเสี่ยงหลัก (Key Risk Indicators: KRIs) เป็นประจำทุกเดือน มีการระบุดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Risk Parameter) ควบคู่ไปกับช่วงเบี่ยงเบนที่ยอมรับได้ (Tolerance Level) และมีแนวปฏิบัติในการรับมือกับความเสี่ยงไว้อย่างชัดเจน โดยมีการกำหนดความเสี่ยงที่สำคัญ ๆ ซึ่งประกอบด้วย ความเสี่ยงด้านเงินกองทุน ความเสี่ยงจากการรับประกันภัย ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านตลาด TIP ยังประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของบริษัทได้ดียิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนตามเกณฑ์ของ คปภ. นอกจากนี้ ยังมีการจำลองผลกระทบจากภาวะวิกฤติภายใต้สถานการณ์จำลองที่หลากหลาย (Multiple-scenario Stress Test) เพื่อให้มั่นใจว่าระดับของอัตราส่วนเงินกองทุนจะอยู่เหนือระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของบริษัทที่ 180% การทดสอบดังกล่าวเป็นการจำลองผลกระทบจากการจ่ายค่าสินไหมในปริมาณสูงจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่และเหตุการณ์การแพร่ของโรคระบาดที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ บริษัทยังดำเนินการติดตามความเสี่ยงขององค์กรและทบทวนกรอบการบริหารความเสี่ยงภายในอย่างน้อยปีละครั้ง

มีสภาพคล่องเพียงพอ

ทริสเรทติ้งคาดว่า TIP จะสามารถรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอได้จากพอร์ตเงินลงทุนที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงเมื่อเทียบกับสำรองค่าสินไหมทดแทนของบริษัท อัตราส่วนสภาพคล่องตามเกณฑ์ของ คปภ. อยู่ที่ระดับ 184% ณ เดือนมิถุนายน 2022 นอกเหนือจากเงินสด ตราสารในตลาดเงิน และเงินฝากแล้ว TIP ยังมีการลงทุนทั้งหมดในสินทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ตราสารทุน กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าผู้ถือหุ้นของ TIPH ซึ่งเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่จะสามารถเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับ TIP ในรูปของวงเงินสินเชื่อได้อีกเมื่อมีความจำเป็น

เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวด

ความเสี่ยงของธุรกิจประกันวินาศภัยที่ทริสเรทติ้งประเมินนั้นสะท้อนถึงสถานะธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดของ คปภ. ซึ่งมีกรอบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมการดำเนินงานในด้านประกันภัยที่สำคัญ ๆ ทั้งหมดอันประกอบไปด้วย ความเพียงพอของเงินกองทุน การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยและเงื่อนไขของการประกัน กรอบธรรมาภิบาลและการบริหารความเสี่ยง การประเมินมูลค่าของสัญญาประกัน รวมถึงขอบเขตการลงทุนที่ได้รับอนุญาต มีการกำหนดความเพียงพอของเงินกองทุนตามกรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (ภายใต้มาตรฐาน RBC-2) ซึ่งมีการระบุน้ำหนักของความเสี่ยงในแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System: EWS) ที่กำหนดวิธีการติดตามสถานะทางการเงินของบริษัทประกันและขั้นตอนการแทรกแซงบริษัทประกันที่มีความเปราะบาง อีกทั้งกองทุนประกันภัยยังช่วยลดทอนความเสี่ยงเชิงระบบจากกรณีที่เกิดการเคลมขนาดใหญ่และกรณีที่มีบริษัทประกันล้มละลายได้อีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

- อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจะอยู่ในระดับคงที่ในปี 2565 และ 5%-6% ในช่วงปี 2566-2567

- อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนจะอยู่ที่ระดับ 68%-70% ในปี 2565 และ 50%-55% ในปี 2566-2567

- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ระดับ 28%-29%

- ผลตอบแทนจากเงินลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งว่า TIPH จะยังคงเป็น NOHC ของ TIPH Group ซึ่ง TIPH จะยังคงอาศัยเงินปันผลจาก TIP ซึ่งเป็นบริษัทหลักของกลุ่ม นอกจากนี้ ยังสะท้อนมุมมองว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มจะยังคงแข็งแกร่งจากสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีเยี่ยม ผลกำไรจากการรับประกันภัยที่ดี เงินกองทุนที่แข็งแกร่ง การบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ รวมถึงสภาพคล่องที่เพียงพอ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตของ TIPH หากมีการปรับลด GCP ของ TIPH Group ลง โดยสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากมีการเสื่อมถอยอย่างมีนัยสำคัญในสถานะเงินกองทุนหรือสภาพคล่องของ TIP ซึ่งอาจเป็นผลมาจากผลขาดทุนเป็นมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง หลักฐานใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อบกพร่องของการบริหารความเสี่ยงและระบบธรรมาภิบาลอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลกดดันต่อสถานะเครดิตได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังสามารถปรับลดอันดับเครดิตของ TIPH ได้อีกจากการปรับระดับความห่างจาก GCP ที่ห่างขึ้นหาก TIPH มีความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และหนี้สิน ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง หรือมี Double Leverage เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทริสเรทติ้งอาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ TIPH จากการปรับระดับความห่างจาก GCP ที่แคบลง หากมีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า TIPH มีความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเองที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีหลากหลายธุรกิจที่มีนัยสำคัญที่อยู่ภายใต้การควบคุม และมีการดำเนินการที่เป็นอิสระต่อกัน หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพียงพอจากการดำเนินงานหรือการลงทุนของบริษัทเอง หรือจากธุรกิจในเครือที่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล และ/หรือ หากบริษัทมีเงินสดที่ไม่มีภาระผูกพันหรือมีการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูงในปริมาณมากได้อย่างต่อเนื่อง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตบริษัทประกัน, 9 กันยายน 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565

บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TIPH)

อันดับเครดิตองค์กร: AA

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ