ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ยูนิเวนเจอร์” ที่ “BBB+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 19, 2022 09:53 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรระดับ ?BBB+? ของ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตสะท้อนถึงการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนและขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นหลังจากการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าและกิจการผลิตตู้แช่เย็นเชิงพาณิชย์ในปี 2564 อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงยอดขายและอัตรากำไรที่ดีขึ้นในธุรกิจคอนโดมิเนียมและธุรกิจสังกะสีออกไซด์ ระดับหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการ ความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับระดับหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจกระทบต่อกำลังซื้อของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในระยะสั้นถึงปานกลางในขณะเดียวกันก็เพิ่มภาระต้นทุนในการพัฒนาโครงการและต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการให้สูงมากขึ้นอีกด้วย

ทริสเรทติ้งมองว่า รายได้และกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมั่นคงจากธุรกิจโรงไฟฟ้าจะช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายและธุรกิจสังกะสีออกไซด์ที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) ที่ไม่ทันต่อการเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซสำหรับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมน่าจะมีผลกระทบเพียงชั่วคราว ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้จะกลับมาอยู่ในระดับปกติเมื่อมีการปรับเพิ่มค่า Ft

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การซื้อกิจการช่วยกระจายความเสี่ยงของการลงทุนและขยายขนาดธุรกิจ

ขนาดธุรกิจของบริษัทใหญ่ขึ้นหลังจากการซื้อหุ้น 60% ใน บริษัท พัฒนาอินเตอร์คูล จำกัด ในเดือนตุลาคม 2564 และการซื้อหุ้น 100% ใน บริษัท อีสเทอร์น โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (E-COGEN) ในเดือนธันวาคม 2565 ผ่าน บริษัท ยูนิเวนเจอร์ บีจีพี จำกัด (UVBGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โดยบริษัทถือหุ้น 55% ใน UVBGP และส่วนที่เหลือถือโดย บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) ก่อนการซื้อกิจการดังกล่าว รายได้และกำไรของบริษัทมาจากธุรกิจคอนโดมิเนียมและธุรกิจสังกะสีออกไซด์ รายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปีการเงิน 2564 (ตุลาคม 2563 - กันยายน2564) มีขนาดค่อนข้างเล็กประมาณ 3.3 พันล้านบาท และ 0.2 พันล้านบาท ตามลำดับ ภายหลังจากซื้อกิจการ รายได้และ EBITDA ในปีการเงิน 2565 (ตุลาคม 2564 - กันยายน2565) เติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นมาที่ 1.52 หมื่นล้านบาท และ 1.9 พันล้านบาท ตามลำดับ

ในอนาคต ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้และ EBITDA ของบริษัทจะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.9-2.0 หมื่นล้านบาท และ 2.8-3.0 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยสัดส่วนรายได้จะมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าประมาณ 61%-63% ของรายได้รวม ตามมาด้วยธุรกิจคอนโดมิเนียมประมาณ 17%-19% ธุรกิจสังกะสีออกไซด์ประมาณ 10% และที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจผลิตตู้แช่เย็นเชิงพาณิชย์และอื่น ๆ EBITDA จากธุรกิจโรงไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 57%-60% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่ารายได้และ EBITDA จากธุรกิจผลิตตู้แช่เย็นเชิงพาณิชย์จะมีรายได้และ EBITDA อยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทและ 0.2 พันล้านบาท ตามลำดับ แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าทั้งรายได้และ EBITDA จากธุรกิจผลิตตู้แช่เย็นเชิงพาณิชย์จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าตามแผนการเติบโตในอนาคตและอัตราการทำกำไรที่น่าพอใจ

ธุรกิจโรงไฟฟ้ามีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว

ทริสเรทติ้งมองว่าการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าไม่เพียงแต่บริษัทได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงแต่ยังได้ประโยชน์จากความมั่นคงของรายได้และกระแสเงินสดอีกด้วย โดยรายได้และกำไรจากธุรกิจไฟฟ้ามีความมั่นคงกว่าธุรกิจคอนโดมิเนียมและธุรกิจสังกะสีออกไซด์ เนื่องจากรายได้และกำไรของโรงไฟฟ้าเป็นไปตามตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้รวมของบริษัท ในขณะที่รายได้จาก กฟผ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 46% ของรายได้ของบริษัท ดังนั้น รายได้เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (25 ปี) กับ กฟผ. ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. มีอายุคงเหลือประมาณ 19 ปี และอยู่ในรูปแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take-or-pay Basis) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงด้านตลาดของบริษัทด้วยการกำหนดให้ กฟผ. สั่งจ่ายไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 80% ของความพร้อมจ่ายไฟฟ้าตามสัญญา นอกจากนี้ ยังมีกลไกการส่งผ่านภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนระบุอยู่ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งช่วยลดความผันผวนของกำไรได้อีกด้วย

มีผลกระทบชั่วคราวจากการปรับค่า Ft ที่ล่าช้าสำหรับการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม

การขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นอย่างรุนแรงและการปรับค่า Ft ที่ช้า โครงสร้างราคาขายไฟฟ้าของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอ้างอิงมาจากโครงสร้างราคาขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งรวมค่า Ft เข้าไปด้วย แม้ว่าค่า Ft จะมีไว้เพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี การปรับค่า Ft นั้นมักจะมีความล่าช้า อีกทั้ง ระยะเวลาและจำนวนที่ปรับนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานที่มีอำนาจอีกด้วย ดังนั้น ในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติสูงและการปรับค่า Ft มีความล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของบริษัทจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 13% ของรายได้รวมของบริษัท

ราคาขายก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นั้นปรับตัวสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยในระหว่างปีงบประมาณ 2565 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ระดับประมาณ 480 บาทต่อล้านบีทียู (MMBTU) ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก -15.32 สตางค์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปีการเงิน 2564 เป็น 22.01 สตางค์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปีการเงิน 2565 การเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซกอปรกับการปรับตัวของค่า Ft ที่ล่าช้าส่งผลให้ EBITDA จากธุรกิจโรงไฟฟ้าลดลงเหลือเพียง 1 พันล้านบาท จาก 1.8-2.0 พันล้านบาทในช่วงปี 2561-2564 จากสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าราคาก๊าซจะยังอยู่ในระดับที่สูงในปี 2566-2568 ในขณะที่ค่า Ft จะอยู่ในระดับเดิมที่ประมาณ 93 สตางค์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ดังนั้น EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6-1.7 พันล้านบาทหากมีปรับเพิ่มค่า Ft ที่มากกว่า 93 สตางค์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปีการเงิน 2566-2568 ซึ่งจะส่งผลให้ EBITDA ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ผลการดำเนินงานธุรกิจคอนโดมิเนียมและธุรกิจสังกะสีออกไซด์ปรับตัวดีขึ้น

ในปีการเงิน 2565 รายได้จากธุรกิจคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 3.7 พันล้านบาท จาก 1.5 พันล้านบาทในปีก่อน โดยเป็นผลมาจากการเริ่มโอนโครงการ ?Anil Sathorn 12? และ ?Denim Jatujak? ซึ่งทั้งสองโครงการช่วยยกระดับกำไรขั้นต้นของธุรกิจคอนโดมิเนียมขึ้นมาที่ 30% จาก 21% ในปีการเงิน 2564 เนื่องจากมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ค่อนข้างสูงและได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ความต้องการคอนโดมิเนียมในช่วง 1-2 ปีปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการคลายตัวของสถานการณ์โรคโรคโควิด 19 การกลับมาของผู้ซื้อจากต่างประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รายได้จากธุรกิจคอนโดมิเนียมคาดว่าจะอยู่ในช่วง 3.3-3.5 พันล้านบาทในช่วงปีการเงิน 2566-2568 จากยอดขายที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) จำนวน 1.9 พันล้านบาท และจำนวนคอนโดมิเนียมเหลือขายมูลค่า 7 พันล้านบาท แม้ว่าภาพรวมความต้องการคอนโดมิเนียมจะปรับตัวดีขึ้น แต่ตลาดคอนโดมิเนียมก็ยังถูกจำกัดด้วยระดับหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจกระทบต่อกำลังซื้อของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในระยะสั้นถึงปานกลาง

ผลการดำเนินงานของธุรกิจสังกะสีออกไซด์ก็ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 5%-6% จากประมาณ 1% ในช่วงปีการเงิน 2562-2563 จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการส่งออกที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธุรกิจสังกะสีออกไซด์มีความผันผวนค่อนข้างสูงตามระดับของอุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อราคาขายเป็นอย่างมาก อัตรากำไรขึ้นต้นของธุรกิจสังกะสีออกไซด์มีความผันผวนสูงมากโดยอยู่ในช่วง 1.4%-10.0% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในอนาคต ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจสังกะสีออกไซด์ประมาณ 2 พันล้านบาทในช่วงปีการเงิน 2566-2567 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้รวมของ และมีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 5%-6% จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจผลิตล้อเครื่องบิน

ภาระหนี้สูงแต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

ภายหลังจากการซื้อ E-COGEN ภาระหนี้ของบริษัทก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปีการเงิน 2565 โดยเงินลงทุนในการซื้อหุ้นที่อยู่ที่ 1.24 หมื่นล้านบาทมาจากเงินทุนของบริษัทรวมกับ BGRIM จำนวน 6.4 พันล้านบาท และเงินกู้จากธนาคารอีกจำนวน 6 พันล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น UVBGP จะต้องรับภาระหนี้จำนวน 9.3 พันล้านบาทจากบริษัทย่อยของ E-COGEN อีกด้วย หนี้สินทางการเงินของบริษัทที่ปรับปรุงแล้วปรับเพิ่มมาเป็นกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทในปีการเงิน 2565 เทียบกับ 3 พันล้านบาทในปีการเงิน 2564 EBITDA ที่ลดลงและระดับหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Debt to EBITDA) เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 10.22 เท่า สูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 7.95 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงิน (FFOs to Debt) ลดลงมาอยู่ที่ 5.43% ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่ 7.93%

ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่า Debt to EBITDA จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5-7 เท่าในช่วงปีการเงิน 2566-2568 จากประมาณ 10 เท่าในปีการเงิน 2565 จากการปรับตัวดีขึ้นของผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้าและไม่มีงบลงทุนที่มีขนาดใหญ่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า สมมติฐานกรณีพื้นฐานคาดว่าบริษัทมีเงินลงทุนประมาณ 300-600 ล้านบาทในช่วงปีการเงิน 2566-2568 สำหรับโครงการออฟฟิศให้เช่าที่ทองหล่อ การขยายกำลังการผลิตของธุรกิจตู้แช่เย็นเชิงพาณิชย์และธุรกิจสังกะสีออกไซด์ ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ในธุรกิจไฟฟ้า และงบลงทุนใหม่สำหรับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนงบประมาณในการซื้อที่ดินจะอยู่ที่ 0.5-1 พันล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทจำเป็นจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุน (ไม่รวมรายได้สิทธิการเช่ารอตัดบัญชี) ไม่ให้เกินกว่า 2 เท่าเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่สำคัญของเงินกู้ที่มีกับธนาคารและของหุ้นกู้ ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2565 อัตราส่วนนี้อยู่ที่ระดับ 1.9 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินเอาไว้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทมีหนี้สินรวม 2.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 2.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนนั้นเป็นหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทและของบริษัทย่อย คิดเป็นอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทที่ระดับ 95% ซึ่งเกินกว่า ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้งที่ระดับ 50% ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันจะมีความด้อยสิทธิกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาจากสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท

สภาพคล่องบริหารจัดการได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทสามารถบริหารจัดการได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนกันยายน 2565 แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 3 พันล้านบาท วงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ทั้งวงเงินที่มีภาระผูกพัน (Committed Line) และวงเงินที่ไม่มีภาระผูกพัน (Uncommitted Line) จำนวน 4.5 พันล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านบาท บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 6.5 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 1 พันล้านบาท เงินกู้ยืมสำหรับการลงทุนในส่วนทุนจำนวน 2 พันล้านบาท เงินกู้ยืมสำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวน 1.7 พันล้านบาท และเงินกู้ยืมของโรงไฟฟ้าเอง นอกจากแหล่งสภาพคล่องข้างต้นแล้ว บริษัทยังมีแผนจะระดมเงินผ่านการออกหุ้นกู้จำนวน 5 พันล้านบาทในปีการเงิน 2565 เพื่อชำระหนี้บางส่วนด้วย นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการชำระคืนเงินกู้ด้วยเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการโอนคอนโดมิเนียมซึ่งไม่ติดภาระจำนองใด ๆ อีกกว่า 4 พันล้านบาท

?

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? บริษัทจะเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่มูลค่า 2 พันล้านบาทในปีการเงิน 2566 และมูลค่า 3.5 พันล้านบาทในปีการเงิน 2567-2568

? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ที่ 1.8-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2566-2568

? ค่า Ft ไม่ต่ำกว่า 93 สตางค์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) จะอยู่ที่ประมาณ 15%

? งบประมาณในการซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5-1.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2566-2568

? เงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 300-600 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2566-2568

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมาย โดย Debt to EBITDA ของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ 5-7 เท่าในช่วงปีการเงิน 2566-2568 ในขณะที่ EBITDA Margin ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 14%-16% ในช่วงที่ค่า Ft มีการปรับเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาก๊าซธรรมชาติ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับที่คาดการณ์ไว้ จนเป็นเหตุให้ Debt to EBITDA เกินกว่า 8 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้น หากรายได้และกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในขณะที่ Debt to EBITDA ลดลงต่ำกว่า 4 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) (UV)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ