ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” ที่ “BBB-”, จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาท ที่ “BBB-”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 10, 2023 16:51 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? จากเดิม ?Stable? หรือ ?คงที่? รวมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ ?BBB-? นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาทไถ่ถอนภายใน 3 ปีของบริษัทที่ระดับ ?BBB-? ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ชุดเดิมบางส่วน

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขข้อกำหนดทางการเงินสำคัญ ๆ ที่กระทำได้ยากขึ้น

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศตลอดจนมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) จำนวนมากและหลากหลายของบริษัท ในขณะที่อันดับเครดิตถูกลดทอนจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนในโครงการจำนวนมากที่ยังไม่สร้างรายได้และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก รวมถึงจากความอ่อนไหวที่มีต่อการแข่งขันที่รุนแรงของบริษัทและลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าที่คาดไว้

บริษัทมีผลการดำเนินการขาดทุนจำนวนมากจากโครงการก่อสร้างหลาย ๆ โครงการในปี 2565 นอกจากอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงแล้ว ผลการดำเนินงานของบริษัทยังมีปัจจัยขัดขวางจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขาดแคลนของอุปทาน อีกทั้งการเร่งงานโครงการก่อสร้างที่ล่าช้าอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งส่งผลทำให้หลายโครงการมีต้นทุนการก่อสร้างเกินงบประมาณที่ตั้งไว้อีกด้วย รายได้ของบริษัทในปี 2565 เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยมาอยู่ที่ระดับ 6.76 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทก็ลดลงเหลือเพียง 4.6% จากระดับ 9.4% ในปี 2564 และต่ำกว่าประมาณการก่อนหน้านี้ที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ที่ระดับ 7.1% ด้วย

บริษัทยังมีผลขาดทุนอีกจำนวน 1.1 พันล้านบาทจากบริษัทที่ควบคุมร่วมกัน (Joint Control Company ? JC) แห่งหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานโครงการทางด่วนยกระดับธากาโครงการแรก (First Dhaka Elevated Expressway ? FDEE) ในประเทศบังคลาเทศ ทั้งนี้ ผลขาดทุนส่วนใหญ่เกิดจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ของบริษัทที่ควบคุมร่วมกันดังกล่าวท่ามกลางการอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินตากาบังกลาเทศเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น บริษัทจึงได้รายงานผลขาดทุนสุทธิที่จำนวนมากถึง 4.8 พันล้านบาทในปี 2565

เงื่อนไขข้อกำหนดทางการเงินที่ปฏิบัติตามได้ยากขึ้น

การขาดทุนจำนวนมากที่เกิดขึ้นในปี 2565 ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อการละเมิดข้อกำหนดทางการเงินเนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทลดลงเหลือเพียง 1.1 หมื่นล้านบาทจาก 1.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งตามข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้และเงินกู้ยืมจากธนาคารนั้นระบุให้บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับไม่เกิน 3 เท่าโดยที่บริษัทมีอัตราส่วนนี้อยู่ที่ระดับ 2.97 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565

จากการที่ข้อกำหนดทางการเงินมีความตึงตัว การขาดทุนอีกเพียงเล็กน้อยในงานรับเหมาก่อสร้างจึงอาจนำไปสู่การละเมิดข้อกำหนดได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการที่มีผลขาดทุนหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในประเทศบังคลาเทศและโครงการก่อสร้างอาคารอีกหลายโครงการใกล้จะแล้วเสร็จในขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้น อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจึงน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวโดยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7%-8% ในปี 2566 และที่ระดับ 8%-9% ในช่วงระหว่างปี 2567-2568

นอกจากนี้ แผนในการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักยังน่าจะช่วยให้งบดุลของบริษัทปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่โปแตชที่ ?เหมืองอุดรใต้? ดังนั้น การได้รับใบอนุญาตทำเหมืองแร่และการที่ราคาของโพแทสเซียมยังคงอยู่ในระดับสูง การขายสัมปทานดังกล่าวจึงมีความเป็นไปได้ที่สูงขึ้น ซึ่งหากการขายกิจการประสบความสำเร็จก็น่าจะช่วยทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก

ภาระหนี้สูงจากโครงการลงทุนที่ยังไม่สร้างรายได้และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก

อันดับเครดิตของบริษัทมีแรงกดดันจากเงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่สร้างรายได้ซึ่งสร้างภาระหนี้และมีภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมากในแต่ละปี นอกจากโครงการเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทยแล้ว บริษัทยังได้ลงทุนโดยใช้เงินทุนมหาศาลใน ?โครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย? (Dawei Special Economic Zone (DSEZ) Project) ในประเทศเมียนมา รวมทั้งโครงการเหมืองแร่อะลูมิเนียมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ตลอดจนโครงการสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในประเทศโมซัมบิกอีกด้วย ณ ปัจจุบันบริษัทได้ใช้เงินลงทุนในโครงการเหล่านี้ไปแล้วจำนวนประมาณ 1.66 หมื่นล้านบาทและยังไม่มีความคืบหน้าไปจากแผนการลงทุนเริ่มแรกแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน ภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมากจากภาระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนในโครงการเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลกำไรของบริษัทอ่อนแอลงทุกปีอีกด้วย

นอกเหนือจากภาระหนี้ที่ใช้เป็นเงินทุนสำหรับการลงทุนที่ยังไม่สร้างรายได้ของบริษัทแล้ว ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างที่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีลูกหนี้การค้าจำนวนมากที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งที่ยังไม่สามารถเรียกชำระเงินได้อีกด้วย โดย ณ เดือนธันวาคม 2565 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 80.1% เพิ่มขึ้นจากระดับ 73.7% ในปี 2564 บริษัทมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปีจนส่งผลทำให้กระแสเงินสดลดลงอย่างมาก ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 2.1 เท่าในปี 2565 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินยังคงอ่อนแอโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 5%

ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมากของบริษัทจะยังคงลดทอนกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทต่อไป โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 4.4 พันล้านบาทในปี 2566 และที่ประมาณ 5.0-5.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2568 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 10% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 จากระดับเพียง 5% ในปี 2565 ในส่วนของอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทนั้นคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 2.5 เท่าตลอดช่วงเวลาประมาณการ และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนน่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 80% ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า

เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศและมีงานก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบที่มีความหลากหลาย

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศของบริษัท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากรายได้แล้ว บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีรายได้สูงสุดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยมีรายได้อยู่ในช่วง 5.5-6.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีผลงานในโครงการก่อสร้างที่กว้างขวางและครอบคลุมซึ่งได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน การมีประสบการณ์และทรัพยากรที่พรั่งพร้อมช่วยทำให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างแนวหน้าที่สามารถรับงานก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ได้เกือบทุกประเภท บริษัทยังได้ขยายธุรกิจไปในต่างประเทศอีกด้วยโดยได้สร้างฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศอินเดียผ่านบริษัทย่อยจดทะเบียนคือ ITD Cementation India Ltd. อีกทั้งยังรับงานโครงการในประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ เช่น สปป. ลาว ฟิลิปปินส์ และบังคลาเทศอีกด้วย ซึ่งโดยภาพรวมแล้วงานรับเหมาก่อสร้างในต่างประเทศสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ของบริษัท

ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่า 2.18 แสนล้านบาทซึ่งรวมมูลค่างานในมือของ ITD Cementation India ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทด้วย ปัจจุบันบริษัทมีโครงการใหญ่ 3 ลำดับแรกที่รอส่งมอบ ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ส่วนต่อขยายฝั่งใต้) สัญญาที่ 3 สัญญาที่ 5 และสัญญาที่ 6 มูลค่า 2.21 หมื่นล้านบาท โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 มูลค่า 2.12 หมื่นล้านบาท และโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะ 9 มูลค่า 1.88 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะสามารถสร้างรายได้ที่ระดับ 6.8 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และที่ระดับ 7.2-7.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2568 ทั้งนี้ มูลค่างานในมือจำนวนมากของบริษัทจะช่วยคงระดับรายได้ไว้ที่ประมาณ 70%-85% ของรายได้ประมาณการของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ในขณะที่อัตรา EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัทนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 9%-11% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดย EBITDA จะอยู่ที่ระดับ 7.0-7.7 พันล้านบาทต่อปี

สภาพคล่องที่ตึงตัว

บริษัทมีสถานะสภาพคล่องที่ตึงตัว โดย ณ เดือนธันวาคม 2565 แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือมูลค่า 4.5 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 1.56 หมื่นล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานที่จำนวนประมาณ 4.4 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวนทั้งสิ้น 2.79 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันจำนวน 4.0 พันล้านบาท เงินกู้จากธนาคารจำนวน 1.94 หมื่นล้านบาท และหนี้สินจากสัญญาเช่าและหนี้สินทางการเงินอื่น ๆ อีกจำนวน 4.5 พันล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประจำปีนั้นคาดว่าจะอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 3.0 พันล้านบาท ในการนี้ เมื่อพิจารณาจากแหล่งเงินทุนของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจำเป็นจะต้องต่ออายุเงินกู้ยืมที่ใกล้หมดอายุส่วนใหญ่ออกไป (Refinance) เพื่อที่จะรักษาสภาพคล่องเอาไว้ให้เพียงพอและเพื่อใช้เป็นเงินทุนในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในอนาคต

เนื่องจากเงินกู้ยืมจากธนาคารของบริษัทส่วนใหญ่มีการค้ำประกันซึ่งมีกำหนดชำระคืนตามความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้าง ดังนั้น บริษัทจึงมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนซึ่งรวมหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้สินรวมของบริษัทย่อยอยู่ที่จำนวน 2.16 หมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 49.8% ซึ่งใกล้เคียงกับเกณฑ์ของทริสเรทติ้งที่กำหนดให้ปรับลดอันดับเครดิตลง 1 ขั้นสำหรับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? บริษัทจะได้งานรับเหมาก่อสร้างใหม่ที่มูลค่า 3.5-4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และที่ 4.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2568

? อัตรากำไรขั้นต้นโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 7.7% ในปี 2566 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8.8%-8.9% ในช่วงระหว่างปี 2567-2568

? EBITDA Margin คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 9%-11% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568

? เงินลงทุนสำหรับงานรับเหมาก่อสร้างจะอยู่ที่ระดับ 3.0-3.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงกำไรของบริษัทที่ยังคงอ่อนแอกว่าคาด โดยที่การขาดทุนจำนวนมากในปี 2565 ส่งผลทำให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินกระทำได้ยากมาก ดังนั้น การขาดทุนจากการดำเนินงานเพิ่มเติมโดยไม่มีปัจจัยอื่น ๆ มาช่วยบรรเทาก็อาจจะนำไปสู่การละเมิดข้อกำหนดทางการเงินได้ง่าย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานและ/หรือโครงสร้างทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตจะได้รับการปรับลดลงหากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนแอลงอีก โดยอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 8 เท่าหรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินลดลงต่ำกว่า 5% นอกจากนี้ การละเมิดข้อกำหนดทางการเงินอาจเป็นสาเหตุในการลดอันดับเครดิตลงได้อีกด้วยเช่นกัน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

ITD254A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB-

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 3 ปี BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ