ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” ที่ “AAA” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 26, 2023 09:48 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเชื่อมโยงของ กฟผ. และรัฐบาลไทยที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงสถานะของ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไทยที่มีบทบาทสำคัญในการจัดหาไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในประเทศ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศและเป็นเจ้าของระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงทั่วทั้งประเทศแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของ กฟผ. และการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลไทยภายใต้พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 (พ.ร.บ. กฟผ.) อีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลในระดับสูง

ทริสเรทติ้งประเมินว่า กฟผ. มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลไทยในระดับสูง โดยรัฐบาลมีฐานะเป็นเจ้าของและมีอำนาจเต็มในการควบคุม กฟผ. ทั้งนี้ กฟผ. ได้รับการจัดตั้งให้เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้ พ.ร.บ. กฟผ. พ.ศ. 2511 ซึ่ง กฟผ. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ส่วนคณะกรรมการและผู้ว่าการของ กฟผ. นั้นได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี ในขณะที่แผนวิสาหกิจของ กฟผ. ฉบับปัจจุบันนั้นมีการจัดทำเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) รวมทั้งแผนพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาทบทวนแผนวิสาหกิจดังกล่าว ส่วนแผนค่าใช้จ่ายและแผนการลงทุนของ กฟผ. นั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานตลอดจนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี ในขณะที่แผนการกู้เงินและชำระหนี้เงินกู้นั้นจะต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลัง

สถานะทางกฎหมายของ กฟผ. นั้นสะท้อนถึงการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ พ.ร.บ. กฟผ. พ.ศ. 2511 ระบุว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ กฟผ. ในกรณีที่รายได้ของ กฟผ. ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายซึ่งรวมถึงรายจ่ายดอกเบี้ยและการชำระคืนเงินกู้

มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย

ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กฟผ. จะยังคงบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ ภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าแบบผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Enhanced Single Buyer Model) ที่ใช้ในประเทศไทยนั้น กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการจัดหาไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในประเทศทั้งจากไฟฟ้าที่ กฟผ. ผลิตเองและจากไฟฟ้าที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไฟฟ้าที่จัดหามาได้นั้น กฟผ. จะจำหน่ายแบบขายส่งให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) (อันดับเครดิต ?AAA/Stable?) ประมาณ 72% และให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) (อันดับเครดิต ?AAA/Stable?) อีก 27% โดยผ่านทางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (National Grid) ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีฐานะเป็นเจ้าของและผู้บริหารระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของประเทศแต่เพียงผู้เดียวอีกด้วย โดย กฟผ. ทำหน้าที่ดำเนินงานศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center -- NCC) เพื่อบริหารจัดการกระแสไฟฟ้าให้มีเพียงพอกับความต้องการของทั้งประเทศในราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. นั้นล้วนอยู่ภายใต้การบริหารของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ระบบไฟฟ้าของ กฟผ. มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมที่ขนาด 49,510 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. เป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้งสิ้นจำนวน 53 แห่งโดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 16,920 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็น 34.2% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือนั้นเป็นการรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนภายในประเทศในสัดส่วน 53.2% และนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และประเทศมาเลเซียอีก 12.6%

โครงสร้างค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนและผลตอบแทน

ค่าไฟฟ้าของ กฟผ. ได้รับการออกแบบเพื่อให้ กฟผ. ได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายในการลงทุนรวมถึงผลตอบแทนทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าและเครือข่ายระบบสายส่งไฟฟ้า นอกจากนี้ โครงสร้างค่าไฟฟ้ายังช่วยให้ กฟผ. สามารถส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและต้นทุนการซื้อไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าภายใต้ค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) ด้วย อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้านี้ถูกควบคุมโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นผู้อนุมัติและประกาศค่า Ft ทุก ๆ 4 เดือน สำหรับค่า Ft ที่ส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้านั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กกพ. ว่าจะปรับในช่วงเวลาใดและที่อัตราเท่าใดซึ่งอาจจะแตกต่างจากค่า Ft จริงที่คำนวณได้ภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้า ดังนั้น กระแสเงินสดรับจากการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟผ. จึงอาจจะไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงในงวดเดียวกัน ซึ่งกระแสเงินสดรับจากการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟผ. อาจจะน้อยกว่ารายได้หาก กกพ. มีความล่าช้าในการปรับค่า Ft ในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น และเป็นในทำนองเดียวกันในกรณีตรงกันข้าม

ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล

สถานะทางการเงินของ กฟผ. ถดถอยลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อันเนื่องมาจากความล่าช้าของการปรับค่า Ft ที่ไม่สัมพันธ์กับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับการดำเนินงานในปี 2565 นั้น กฟผ. มีเงินสดจากการดำเนินงาน (ปรับปรุงด้วยเงินปันผลรับและดอกเบี้ยจ่ายหรือดอกเบี้ยรับ) ติดลบประมาณ 2.67 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิที่เป็นบวก ปีละประมาณ 6.0-8.0 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2562-2564 โดยภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้านั้น อัตราค่าไฟฟ้าของ กฟผ. จะอยู่ที่ประมาณ 4.0 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (หน่วย) ในปี 2565 สำหรับการจำหน่ายให้ กฟภ. และ กฟน. ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและต้นทุนการซื้อไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กกพ. อนุญาตให้ กฟผ. คิดค่าไฟฟ้าสำหรับ กฟภ. และ กฟน. ที่เพียงประมาณ 3.27 บาทต่อหน่วยเท่านั้นโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อของประชาชนไทย ในขณะที่ค่าไฟฟ้าส่วนที่ขาดที่ประมาณ 0.73 บาทต่อหน่วยในปี 2565 และที่ประมาณ 0.20 บาทต่อหน่วยในปี 2564 นั้นทำให้ กฟผ. บันทึกรายได้ค่า Ft ค้างรับประมาณ 1.66 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 โดยรายได้ค่า Ft ค้างรับ ได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.51 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 เนื่องจาก กกพ. เรียกเก็บเพื่อชดเชยรายได้ค่า Ft ค้างรับของ กฟผ. ที่ 0.14 บาทต่อหน่วยในค่าไฟฟ้าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566

กฟผ. มีการกู้ยืมจำนวนประมาณ 1.1 แสนล้านบาทเพื่อรองรับรายได้ค่า Ft ค้างรับดังกล่าว ส่งผลทำให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของ กฟผ. เพิ่มขึ้นเป็น 4.7 แสนล้านบาทจาก 3.60 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของ กฟผ. ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 45.6% จาก 41.4% ณ สิ้นปี 2564

ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้ค่า Ft ค้างรับจะทยอยลดลงในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ทั้งนี้ การปรับค่า Ft สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ได้รวมเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยรายได้ค่า Ft ค้างรับของ กฟผ. ที่ 0.2782 บาทต่อหน่วย หาก กกพ. ยังคงเรียกเก็บเพื่อชดเชยรายได้ค้างรับของ กฟผ. ที่อัตรานี้ กฟผ. ก็น่าจะได้รับคืนรายได้ค่า Ft ค้างรับกลับคืนมาทั้งหมดได้ภายในเดือนสิงหาคม 2568 เนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงมีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคตอันใกล้นี้ แรงกดดันที่มีต่อค่าไฟฟ้าของ กฟผ. ก็น่าจะลดลงด้วยเช่นกัน ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่า กกพ. จะค่อย ๆ ทยอยปรับค่า Ft เพื่อชดเชยรายได้ค่า Ft ค้างรับที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งทริสเรทติ้งประมาณการว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของ กฟผ. จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในช่วง 35%-40% ในปี 2568 จากระดับประมาณ 46% ณ สิ้นปี 2565

ทริสเรทติ้งเห็นถึงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ที่กระทรวงการคลังมีให้แก่ กฟผ. สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อลดแรงกดดันด้านค่าครองชีพของประชาชนไทย ในการนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ กฟผ. ในวงเงินไม่เกิน 8.5 หมื่นล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดย ณ เดือนมีนาคม 2566 กฟผ. ได้กู้เงินโดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันเต็มจำนวน 8.5 หมื่นล้านบาทแล้ว

มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

สถานะทางการเงินของ กฟผ. ยังคงแข็งแกร่งแม้ว่าจะอ่อนแอลงในปี 2565 โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ กฟผ. เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอยู่ที่จำนวน 1.41 แสนล้านบาทในปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนถึงปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าและเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 นั้น EBITDA ของ กฟผ. ยังคงเพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 3.58 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของ กฟผ. ก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.3 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2566 จาก 2.8 เท่าในปี 2564 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4 เท่าในปี 2566 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ 3.0-3.5 เท่าในปี 2568 โดยคาดว่า กฟผ. จะได้รับเงินชดเชยรายได้ค่า Ft ค้างรับภายในปี 2568

กฟผ. มีสถานะสภาพคล่องที่น่าพอใจ โดย ณ เดือนมีนาคม 2566 แหล่งที่มาของสภาพคล่องของ กฟผ. ประกอบด้วยเงินสดจำนวน 1.31 แสนล้านบาทรวมทั้งวงเงินกู้ระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งประมาณการว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของ กฟผ. จะอยู่ที่ประมาณ 8.0 หมื่นล้านบาทในระยะ 12 เดือนข้างหน้าด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าแหล่งที่มาของสภาพคล่องของ กฟผ. ซึ่งรวมถึงเงินทุนจากการดำเนินงานมีเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ที่จะครบกำหนดในระยะ 12 เดือนข้างหน้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2.84 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ครบกำหนดด้วย

มีนโยบายด้านการเงินที่ระมัดระวัง

กฟผ. มีนโยบายด้านการเงินที่ระมัดระวังโดยมีการดำรงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแนวทางในการปฏิบัติงานภายในองค์กรเพื่อรักษาวินัยทางการเงินด้วย โดยแนวทางที่สำคัญ ๆ ดังกล่าวประกอบด้วย การรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ที่ไม่เกิน 1.5 เท่า อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financing Ratio) ที่ไม่ต่ำกว่า 25% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) ที่ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า เป็นต้น

โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง

ทริสเรทติ้งเห็นว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นอยู่ในช่วงที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปซึ่งเป็นแรงผลักดันที่เกิดจากกระแส ?4D1E? ซึ่งประกอบด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Decarbonization การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digitalization การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ หรือ Decentralization การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ หรือ Deregulation และแนวโน้มการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น หรือ Electrification ซึ่ง Decarbonization นั้นเป็นประเด็นที่นำไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน (Renewable Source) ที่มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ Digitalization ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองและเชื่อมต่อถึงกันผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ได้ ซึ่งกระแสเหล่านี้กำลังส่งผลทำให้รูปแบบการผลิตไฟฟ้าในอนาคตมีวิวัฒนาการที่จะเปลี่ยนจากการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ไปเป็นการผลิตแบบกระจายศูนย์ที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ส่วน Deregulation นั้นจะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้สะดวกยิ่งขึ้นในระยะยาว ในขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ Electrification ในยานพาหนะและระบบขนส่งซึ่งเป็นกระแสหนึ่งที่สำคัญนั้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคตด้วย

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบทบาทของ กฟผ. ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศในระยะยาว แม้ทริสเรทติ้งจะมองว่าบทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าอาจจะลดลงไปบ้างในระยะยาว แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่า กฟผ. จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการจัดหาไฟฟ้าให้แก่ประเทศและดูแลความมั่นคงของระบบการจัดการไฟฟ้าของประเทศต่อไป

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? ยอดขายไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1%-2% ต่อปีในช่วงปี 2566-2568

? EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.20-1.25 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568

? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.85 แสนล้านบาทในช่วงปี 2566-2568 โดยจะเป็นส่วนของ กฟผ. ประมาณ 1.34 แสนล้านบาทและส่วนที่เหลือจะเป็นของบริษัทย่อย

? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ที่ 3-4 เท่าในช่วงปี 2566-2568

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า กฟผ. จะยังคงดำรงบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะในการเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟผ. เปลี่ยนแปลงไป หรือบทบาทของ กฟผ. ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยลดความสำคัญลงไปจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)

อันดับเครดิตองค์กร: AAA

อันดับเครดิตตราสารหนี้: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ