ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร “บ. ฐิติกร” เป็น “A-” จาก “BBB+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวทั่วไป Wednesday March 31, 2010 17:00 —ทริส เรตติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A-“ จาก “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถของบริษัทในการรักษาระดับผลประกอบการทางการเงินแม้เศรษฐกิจจะถดถอยเป็นอย่างมากในปี 2552 อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถในการดำรงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ตลอดจนคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ เครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง ความสามารถในการทำกำไรที่ต่อเนื่อง และโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงมีแรงกดดันจากความเสี่ยงจากการมีผลิตภัณฑ์หลักเพียงประเภทเดียวคือสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในด้านลบ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางจะช่วยให้บริษัทสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดและผลประกอบการทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งต่อไปได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งในปัจจุบันเอาไว้เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจและใช้ในการขยายธุรกิจในระยะปานกลาง

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทฐิติกรสามารถดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้แม้จะมีปัจจัยลบต่างๆ อันได้แก่ การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ การลดลงของยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่ถึง 9% ในปี 2552 การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหม่ และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน บริษัทมียอดสินเชื่อรถจักรยายนต์คงค้างเพิ่มขึ้น 4.6% ในปี 2552 โดยอยู่ที่ระดับ 5,219 ล้านบาท หลังจากเพิ่มขึ้น 12.2% หรือที่ระดับ 4,989 ล้านบาทในปี 2551 บริษัทเป็นผู้นำตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในแง่ของจำนวนบัญชีสินเชื่อใหม่ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดในสัดส่วน 25% ในปี 2552 ทั้งนี้ คณะผู้บริหารและพนักงานที่มีประสบการณ์ในธุรกิจยาวนาน ตลอดจนฐานทุนที่แข็งแกร่ง และเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางจะช่วยสนับสนุนความพยายามของบริษัทที่จะดำรงสถานะผู้นำในอนาคตเอาไว้ให้ได้ บริษัทมีสาขาที่กระจายตัวกว้างขวางและทั่วถึงมากกว่าคู่แข่ง โดยให้บริการผ่านสาขาที่ครอบคลุม 44 จังหวัดทั่วประเทศ เครือข่ายสาขาที่เข้มแข็งส่งผลให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ซึ่งมักจะเน้นเฉพาะลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 2.4% เป็น 334 ล้านบาทในปี 2552 และ 13.2% หรือ 326 ล้านบาทในปี 2551 จาก 288 ล้านบาทในปี 2550 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงในปี 2552 มาอยู่ที่ 5.3% จาก 5.8% ในปี 2551 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายฐานสินเชื่อรถยนต์ซึ่งให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าสินเชื่อรถจักรยานยนต์

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปี 2551 บริษัทฐิติกรกลับมาให้ความสำคัญกับการขยายสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นโดยผ่านบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นเต็ม 100% คือ บริษัท ชยภาค จำกัด ในช่วงปี 2548-2551 บริษัทชยภาคได้ลดปริมาณสินเชื่อรถยนต์ลงเนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยสินเชื่อรถยนต์คงค้างลดลง 60% จาก 1,497 ล้านบาทในปี 2548 เหลือ 596 ล้านบาทในปี 2551 หรือคิดเป็น 11% ของสินเชื่อคงค้างรวมของบริษัท ณ สิ้นปี 2551 โดยประมาณ 70% ของสินเชื่อรถยนต์เป็นสินเชื่อสำหรับรถยนต์มือสอง อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรถยนต์เริ่มขยายตัวอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 บริษัทเริ่มเน้นการให้สินเชื่อรถยนต์ใหม่ซึ่งมีคุณภาพในแง่ของผลิตภัณฑ์ที่สูงกว่ารถยนต์มือสอง ทั้งนี้ สินเชื่อรถยนต์คงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า มาอยู่ที่ 1,137 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่สัดส่วนของสินเชื่อรถยนต์มือสองลดลงมาที่ 23% ของสินเชื่อรถยนต์คงค้าง อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทยังคงขึ้นอยู่กับผลประกอบการของสินเชื่อรถจักรยานยนต์เป็นอย่างมากเนื่องจากสินเชื่อรถจักรยานยนต์นั้นให้ผลตอบแทนที่สูง ในกรณีที่ไม่มีประเด็นปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่ยืดเยื้อ การฟื้นตัวของความต้องการทั้งในตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์จะช่วยสนับสนุนโอกาสในการขยายฐานสินเชื่อของบริษัท

ที่ผ่านมา บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีไปพร้อมกับการสร้างผลกำไรให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 4.2% ในปี 2552 จาก 9.4%ในปี 2549 ระดับ 7.1% ในปี 2550 และระดับ 5.5% ในปี 2551 ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ภาวะแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย โดยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5% ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยในปี 2548 มาอยู่ที่ระดับ 10% ในปี 2551 และ 2552 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจาก 83.2% ในปี 2549 มาอยู่ที่ระดับ 139.5% ในปี 2552 ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ

บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) (TK)
อันดับเครดิตองค์กร: เพิ่มเป็น A- จาก BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2553 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต  ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ   แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ  ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน  บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงมิได้รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้น ผลที่ได้รับ หรือการกระทำใดๆ โดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ