ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ภัยแล้งปีนี้กระทบผลผลิตข้าว-อ้อยเป็นหลัก คาดสูญเสียกว่า 1.5 หมื่นลบ. หรือ 0.1% ของ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 6, 2019 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตามที่ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.62 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าฤดูร้อนปีนี้จะมาเร็วและนานมากกว่าทุกปี ซึ่งอาจยาวนานไปจนถึงราวเดือนพ.ค.62 โดยฤดูร้อนปีนี้จะมีอุณหภูมิร้อนกว่าปี 2561 และร้อนมากกว่าค่าปกติราว 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำในเขื่อน สัญญาณฤดูร้อนที่มาเร็วและนานกว่าทุกปี จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่จะเก็บเกี่ยวเพื่อออกสู่ตลาดในช่วงนี้ให้ลดลง จนอาจกระทบต่อรายได้เกษตรกรให้ต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น

"จากการที่ภัยแล้งในปีนี้ ได้ส่งสัญญาณที่มาเร็วและยาวนานกว่าทุกปี ซึ่งส่อเค้าถึงระดับน้ำในเขื่อนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะกระทบต่อพืชเกษตรสำคัญที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคดังกล่าวคือ ข้าวนาปรัง ซึ่งมีผลผลิตอยู่ในภาคกลางเป็นหลักถึง 47.8% และอ้อย ซึ่งมีผลผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลักถึง 43.5%" เอกสารเผยแพร่ระบุ

สำหรับข้าวนาปรัง คิดเป็นผลผลิตราว 23.5% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ โดยในช่วงที่เกิดภัยแล้งหนักในเดือนมี.ค.-พ.ค.62 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังเพื่อออกสู่ตลาดกว่า 75% ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังทั้งประเทศ อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังได้รับความเสียหาย และอาจช่วยดันราคาข้าวในช่วงนี้ให้ขยับขึ้นได้

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาข้าวอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.62 แต่โดยภาพรวมราคาข้าวทั้งประเทศในปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ เพราะปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังมีเพียงราว 1 ใน 4 ของปริมาณข้าวทั้งประเทศ จึงอาจยังไม่มีน้ำหนักมากพอในการผลักดันให้ภาพรวมราคาข้าวขยายตัวได้ในแดนบวก จึงคาดว่าราคาข้าวเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 10,650-10,740 บาทต่อตัน หรือหดตัว 0.8-1.7%

ขณะที่อ้อยนั้น ในช่วงที่เกิดภัยแล้งหนักในเดือนมี.ค.-พ.ค.62 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยเพื่อออกสู่ตลาด อาจทำให้ผลผลิตอ้อยได้รับความเสียหาย และอาจช่วยดันราคาอ้อยในช่วงนี้ให้ขยับขึ้นได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาอ้อยอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.62 แต่โดยภาพรวมราคาอ้อยในปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ ตามแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากผลผลิตอ้อยในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะบราซิล จึงคาดว่าราคาอ้อยเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 750-760 บาทต่อตัน หรือหดตัว 1.3-2.6%

จากผลของภัยแล้งในปี 2562 ที่มาเร็วและยาวนานขึ้น อาจไม่ได้ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมากนัก แต่จะมีผลต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภัยแล้งในปี 2562 น่าจะมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมีพืชเกษตรเพียงไม่กี่รายการที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นพืชที่รวมแล้วมีน้ำหนักในตะกร้าดัชนีราคาสินค้าเกษตรไม่มากนัก โดยในแง่ของราคาอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.62 ทำให้โดยภาพรวมทั้งปี 2562 ราคาสินค้าเกษตรอาจขยับดีขึ้นเป็นหดตัวอยู่ที่ 0.1-0.5% เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่ราคาสินค้าเกษตรจะหดตัว 0.2-0.6%

ขณะที่ในแง่ของผลกระทบต่อผลผลิตในช่วงภัยแล้งจะมีปริมาณลดลง ซึ่งถ้ามองต่อไปในมุมของรายได้เกษตรกร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลจากภัยแล้งในปี 2562 อาจทำให้รายได้เกษตรกรในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.62 ให้ภาพที่ไม่ดีนัก จากผลของแรงฉุดด้านผลผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 2562 ให้หดตัวเพิ่มขึ้นไป 1.2-1.6% เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่หดตัว 0.4-0.8%

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของ GDP แต่ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้" เอกสารเผยแพร่ระบุ

นอกจากนี้ ยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้ง และระดับความรุนแรงของฤดูแล้งอาจไม่เท่ากันในแต่ละเดือน

ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขผลกระทบดังกล่าวอาจมีผลไม่มากนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปัจจุบัน ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.2% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในระดับภูมิภาค จากเหตุการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ ซึ่งจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs

พร้อมกันนี้ ยังคงต้องจับตาระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเดือนเม.ย. ที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น เกษตรกรอาจต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนเพื่อเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังต้องระมัดระวังในการใช้น้ำ ตลอดจนต้องมีการเตรียมพร้อม/วางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ ก็อาจช่วยลดผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจที่ต้องอาศัยกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ท่ามกลางภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงให้ภาพที่ไม่ดีนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ