กฟผ.เตรียมพร้อมระบบรองรับยอดใช้รถ EV เพิ่ม เล็งติดฉลากเบอร์ 5 รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าภายในก.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 28, 2019 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยรัฐบาลวางเป้าหมายการใช้รถอีวีเพิ่มเป็น 1.2 ล้านคันภายในปี 79 ก็จะส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นด้วยตามการชาร์จไฟฟ้า ซึ่งหากเป็นรถบ้านก็จะทำให้มีปริมาณการชาร์จในเวลากลางคืนมาก ซึ่งกฟผ.ก็ต้องเตรียมเรื่องของระบบไฟฟ้าให้มีความพร้อมมากขึ้นด้วย

"กฟผ. ในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านการผลิตและด้านระบบส่งไฟฟ้าไว้อย่างรัดกุม โดยจะประสาน กฟภ. และ กฟน. ให้ช่วยเตรียมระบบไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน"นายวิบูลย์ กล่าว

นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า กฟผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคต ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง รวมทั้งสามารถลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กฟผ. จึงผลักดันแผนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 59 เพื่อสนองนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ปี 61 กฟผ. ได้เริ่มใช้งานรถมินิบัสไฟฟ้า จำนวน 1 คัน เพื่อรับส่งพนักงาน และประชาชนที่มาศึกษาดูงานและร่วมกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง และปัจจุบัน กฟผ. ได้เช่ารถมินิบัสไฟฟ้าเพิ่มอีก จำนวน 10 คัน ซึ่งได้รับมอบเรียบร้อยแล้ว โดยกฟผ. จะนำรถมินิบัสไฟฟ้าทั้งหมด จำนวน 11 คัน ไปใช้งานรับ-ส่งพนักงาน กฟผ. และประชาชนที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่สำนักงาน โรงไฟฟ้า เขต เขื่อน และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี สำนักงานกลาง กฟผ. และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จ.นนทบุรี

ทั้งนี้ การใช้งานรถมินิบัสไฟฟ้าทดแทนการใช้งานรถมินิบัสที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง สามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลได้ประมาณ 485 กรัม CO2/กม. และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้เฉลี่ยประมาณ 2.3 บาท/กม. รวมทั้งสามารถลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วย

พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี เพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน 8 พื้นที่ดังกล่าว ซึ่งแบ่งออกเป็น สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา จำนวน 11 สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว จำนวน 12 สถานี ซึ่งประชาชนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าร่วมโครงการนำร่องใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.62

โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียน สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://goo.gl/forms/H00cGJXBg4oiKBsj1 (ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.62) ทั้งนี้ กฟผ.จะดำเนินการเก็บข้อมูลการใช้งานในโครงการฯ เพื่อนำมาศึกษาแนวทางการพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพขั้นสูงของสถานีอัดประจุไฟฟ้า และเตรียมดำเนินการเพื่อติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. ต่อไป

นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า กฟผ. ได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดยวิจัยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง พร้อมกับชุด kit ที่มีราคาประหยัด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 62 โดยเน้นการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ รวมทั้ง กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สวทช. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. จำนวน 4 คัน เป็นรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ ด้วยการดัดแปลงเครื่องยนต์จากเชื้อเพลิงน้ำมันให้กลายเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 62 จากนั้นจะมีการขยายผลไปสู่การให้บริการประชาชนต่อไปในอนาคต

ขณะเดียวกันในปีนี้ประชาชนจะได้พบกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่ง กฟผ. ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อกำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพเบอร์ 5 โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มติดฉลากเบอร์ 5 จักรยานยนต์ไฟฟ้าภายในเดือน ก.ย.62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ