(เพิ่มเติม) ผถห.รายย่อย-ผู้ถือหุ้นกู้ IFEC รวมตัวยื่นหนังสือถึง ก.ล.ต.ตรวจสอบอดีตผู้บริหารทุจริตประนอมหนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 7, 2018 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ถือหุ้นรายย่อยและผู้ถือหุ้นกู้ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) รวมตัวเข้าร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อยื่นหนังสือขอให้ทางเลขาธิการ ก.ล.ต.เข้าไปตรวจสอบขบวนการประนอมหนี้ หลังจากตั้งข้อสงสัยกลโกงรูปแบบใหม่ของอดีตผู้บริหารที่ส่งนายหน้าเข้าเจรจา อ้างยินยอมให้นำโรงแรมดาราเทวี จ.เชียงใหม่ มาค้ำประกันให้กับผู้ถือหุ้นกู้ โดยที่ผู้สนใจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเบื้องต้น 3% ของยอดหุ้นกู้ให้กับทนายและค่าธรรมเนียมในการจดจำนองค้ำประกัน ระบุหากสำเร็จจ่ายเพิ่มอีก 7% รวมเบ็ดเสร็จคิดค่าหัวคิวกว่า 100 ล้านบาท ล่าสุดผู้เสียหายเตรียมรวมตัวกันเพื่อแจ้งความเอาผิดกับอดีตผู้บริหาร IFEC อีกหนึ่งกระทงด้วย

นางสาวเสาวณีย์ ขาวอุบล และนางสาวเยาวลักษณ์ ฤทธิสมจิตต์ ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นกู้ของ IFEC หลายรายหลงเชื่อข้อเสนของนายหน้าที่มาเจรจา จนสูญเสียเงินรวมกันมูลค่านับ 100 ล้านบาท โดยพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้มีอดีตผู้บริหาร IFEC อยู่เบื้องหลัง นำไปพบกับผู้ที่อ้างตัวว่าสามารถไปเจรจากับอดีตผู้บริหาร IFEC ให้ยินยอมเอาโรงแรมดาราเทวีมาค้ำประกันให้กับผู้ถือหุ้นกู้ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ถือหุ้นกู้ IFEC เป็นเพียงเจ้าหนี้ด้อยสิทธิ และไม่มีนิติสัมพันธ์โดยตรงกับโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นบริษัทหลานของ IFEC ที่มีบริษัทลูกคือบริษัท ICAP เป็นเจ้าของโรงแรมดาราเทวีที่ IFEC ได้ให้เงินกู้แก่ ICAP ไปซื้อโรงแรมดาราเทวี

ขณะที่โรงแรมดาราเทวี ปัจจุบันก็ติดจำนองกับเจ้าหนี้ คือบริษัทโกลบอลวันที่อดีตผู้บริหาร IFEC ได้ฟ้องร้องต่อศาลว่าเป็นหนี้ปลอม อีกทั้งโฉนดที่ดินของโรงแรมดาราเทวี ทางบริษัท ICAP ได้เก็บรักษาไว้แทนเจ้าหนี้ร่วม หากเอาออกมาให้อดีตผู้บริหาร IFEC เพื่อทำนิติกรรมก็ถูกฟ้องเป็นคดีอย่างแน่นอน

นอกจากนี้โรงแรมดาราเทวีเอง ก็ถูกเจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่งอยู่หลายราย หากนำเอาโฉนดที่ดินมาทำนิติกรรมก็จะถูกเจ้าหนี้โรงแรมดาราเทวีฟ้องร้องในคดีอาญาว่าร่วมกันโกงเจ้าหนี้ และฟ้องเพิกถอนนิติกรรมก็เป็นได้ ซึ่งการนำทรัพย์สินของ โรงแรมดาราเทวี ไปทำนิติกรรม ภายหลังจากเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องคดีแล้ว กรรมการที่ทำนิติกรรมก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นอกจากนี้การทำนิติกรรมดังกล่าวก็เป็นการทำให้เจ้าหนี้ที่ฟ้องร้องคดีแล้วเสียเปรียบ ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ภายในระยะ เวลา 1 ปี นับแต่วันทำนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 และมาตรา 238

ล่าสุด ผู้ถือหุ้นกู้ที่ได้รับความเสียหายจากเรื่องดังกล่าวเตรียมรวมตัวกันเพื่อแจ้งความเอาผิดกับอดีตผู้บริหาร IFEC เนื่องจากทำให้ได้รับความเดือดร้อน ซ้ำสอง หลังจากไม่ได้รับการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย แต่ยังโดนหลอกให้จ่ายค่าทนายเพื่อเข้าสู่กระบวนการประนอมหนี้ ซึ่งยังมีข้อสงสัยว่าทำได้จริงหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ