NER วางเป้ารายได้ปี 62 โต 20% จากปริมาณขายเพิ่มขึ้นตามดีมานด์โลก พร้อมรุกขยายตลาดตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 12, 2019 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) เปิดเผยว่า แผนงานปี 62 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ที่ 20% ภายใต้คาดการณ์ปริมาณการขายผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 แสนตัน จากปีนี้ 2.2 แสนตัน ตามความต้องการยางในตลาดโลกจะเติบโตตามปกติในแต่ละปีราว 2-5% ขณะที่เดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเจรจากับลูกค้าจีน 3 รายที่คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อรวมกันราว 1.5 หมื่นตัน/ปี และวางแผนขยายตลาดลูกค้าสิงคโปร์เพิ่ม โดยปัจจุบันบริษัทมีการทำสัญญาระยะยาว (Long Term Contact) กับลูกค้าไปแล้วกว่า 11 ราย จากที่มีอยู่ 8 ราย ทำให้บริษัทมีลูกค้าที่รอรับรู้รายได้ที่แน่นอนส่วนหนึ่งแล้ว

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างยื่นขอให้ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่ของยุโรป 3 ราย เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการผลิตของโรงงานและผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นใบเบิกทางสำหรับการรุกเปิดตลาดส่งออกไปยังยุโรปเพิ่มขึ้น หลังจากที่ผ่านมาบริษัทได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากบริดจสโตนทำให้บริษัทสามารถส่งออกสินค้าไปขายในจีนและภูมิภาคเอเชียได้ดี คาดว่าการตรวจสอบและขั้นตอนต่าง ๆ น่าจะใช้เวลาราว 1 ปี หรือรู้ผลในปี 63 ซึ่งทันเวลารองรับปริมาณผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 63

ทั้งนี้ บริษัทจะมีกำลังการผลิตยางเพิ่มขึ้นอีก 60,000 ตัน/ปี ในช่วงเดือน มี.ค.นี้ และสิ้นปี 62 ก็จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอีก 172,800 ตัน/ปี หลังจากโรงงานใหม่ผลิตยางแท่ง (STR20) และยางผสม (Mixtures Rubber) แล้วเสร็จ เมื่อรวมทั้งสองส่วนจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้นเป็น 465,600 ตัน/ปี ซึ่งจะส่งผลให้ปี 2563 รับรู้รายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่บริษัทเน้นการสร้างเสถียรภาพของผลการดำเนินงานไม่ให้ผันผวนตามธรรมชาติของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้วยการซื้อสินค้าจริงมาทำมาผลิตเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อ ไม่มีนโยบายเก็งกำไรจากสต็อก พร้อมทั้งรักษาสมดุลของฐานลูกค้าเพื่อบริหารความเสี่ยง

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 61 บริษัทมีรายได้ 10,084.01 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 486.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.14% และ 117.05% ตามลำดับจากปี 60 ที่มีรายได้รวม 9,872.70 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 224.12 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นมาจากสัดส่วนยอดขายที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับต้นทุนคงที่ ในส่วนของต้นทุนวัตถุดิบของบริษัทพบว่าสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบต่อรายได้จากการขายของบริษัทมีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับปี 60 เนื่องจากราคาซื้อวัตถุดิบเฉลี่ยลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าราคาขายเฉลี่ยของบริษัท ส่งผลให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น

ประกอบกับเมื่อพิจารณาอัตรากำไรแยกตามประเภทสินค้าพบว่าอัตรากำไรขั้นต้นของยางแท่งและยางผสมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60 จากต้นทุนขายที่ลดลง รวมถึงบริษัทสามารถผลิตและจำหน่ายยางผสมได้มากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต นอกจากนี้บริษัทมีสัดส่วนต้นทุนทางการเงินลดลง ในส่วนของดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ยืมประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะยาว เนื่องจากบริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนจากการระดมทุนมาใช้ในการบริหารจัดการสภาพคล่องมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ