(เพิ่มเติม) SCN มีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการจัดซื้อจัดเช่ารถเมล์ขสมก.อีก 700 คัน ,ศึกษาตั้งรง.ผลิตรถบัส-มินิบัสไฟฟ้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 12, 2019 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการจัดซื้อจัดเช่าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ต้องการรถเมล์ที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาให้บริการแก่ประชาชน ทั้งรถเมล์ไฮบริด รถเมล์ไฟฟ้า และรถเมล์ NGV ซึ่งมีแผนในโครงการแรก จำนวน 300 คัน และรถไฮบริด จำนวน 400 คัน หากได้รับการคัดเลือกจากการประมูลโครงการดังกล่าว ก็จะทำให้ปีนี้รายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ขณะที่ในวันนี้ (12 มี.ค.) กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ซึ่งประกอบด้วยบริษัท และบมจ.ช ทวี (CHO) ได้ทำการส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV ให้แก่ขสมก. ในล็อตสุดท้ายจำนวน 89 คัน ครบตามจำนวนทั้งสิ้น 489 คัน ซึ่งนับว่าเร็วกว่ากำหนดที่วางไว้ หลังจากนี้ SCN เตรียมแผนงานบำรุงและซ่อมแซมรถเมล์ NGV ตามสัญญาจ้างเป็นระยะเวลา 10 ปี ด้วยความชำนาญพิเศษ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ

ทั้งนี้ บริษัทจะรับรู้รายได้จากการส่งมอบรถเมล์โครงการดังกล่าว ภายใต้กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ในสัดส่วน 50% จากการส่งมอบรถเมล์ตามสัญญารวม 489 คัน มูลค่ากว่า 1,891 ล้านบาท และจะทยอยรับรู้รายได้จากสัญญาการดูแลซ่อมบำรุงรักษารถเมล์ NGV มูลค่ากว่า 2,370 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 10 ปีอีกด้วย

นายฤทธี กล่าวอีกว่า ทิศทางผลประกอบการไตรมาส 1/62 เชื่อมั่นว่าจะเติบโตได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากรับรู้รายได้จากการส่งมอบโครงการรถเมล์ NGV งวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายให้กับขสมก. จำนวน 189 คัน มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งมอบรวม 3 ครั้ง โดยครั้งแรก 40 คัน ครั้งที่ 2 จำนวน 60 คัน และครั้งที่ 3 ในวันนี้จำนวน 89 คัน ขณะที่ในปี 61 บริษัทได้ส่งมอบรถเมล์ NGV แล้ว 3 งวด รวมจำนวน 300 คัน ซึ่งการส่งมอบรถเมล์ NGV เร็วกว่ากำหนดที่วางไว้ เพื่อให้คนกรุงเทพฯได้ใช้รถเมล์ NGV ใหม่และยังช่วยลดผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนด้วย

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเน้นโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น รถบัสและมินิบัส เนื่องจากบริษัทมีความเชี่ยวชาญเคยได้รับงานมาแล้ว รวมถึงยังเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการจัดซื้อจัดเช่าของ ขสมก. ที่ต้องการรถเมล์ที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาให้บริการแก่ประชาชน ทั้งรถเมล์ไฮบริด รถเมล์ไฟฟ้า และรถเมล์ NGV ซึ่งมีแผนในโครงการแรก จำนวน 300 คัน และรถไฮบริด จำนวน 400 คัน ซึ่งแผนดังกล่าวอยู่ระหว่างนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป หากบริษัทได้รับงานดังกล่าวก็อาจจะพิจารณาร่วมทุนกับพันธมิตรต่างประเทศ หรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการขยายกิจการในอนาคต

พร้อมกันนั้น ล่าสุด บริษัทอยู่ระหว่างจดทะเบียนเพื่อขอใบสิทธิบัตร "ตู้ชาร์ทรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระบบนวัตกรรม" คาดว่าจะเปิดตัวชัดเจนในกลางปีนี้ เบื้องต้นจะขยายในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า พื้นที่เชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ภายในปีนี้ทั้งหมด 10 ตู้

"ที่ผ่านมาเราทำ R&D เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้ามาตลอด เพราะเล็งเห็นว่าเป็นเทรนด์พลังงานในอนาคต เช่นเดียวกับที่เราเคยเห็นถึงโอกาสในธุรกิจ NGV ที่เป็นพลังงานที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันยังมองว่าอุปกรณ์ยังมีต้นทุนสูง ทำให้คาดว่ากว่าประเทศไทยจะเข้าสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ในระยะนี้เรายังสามารถขยายธุรกิจ NGV ได้อย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อเลยว่าถ้าเทรนด์รถไฟฟ้ามา เราไม่ตกรถขบวนนี้อย่างแน่นอน" นายฤทธี กล่าว

นายฤทธี กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางรายได้ปีนี้ยังคงเชื่อมั่นว่าจะเติบโต 30% จากปีก่อน ตามการทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานี และงานเดินท่อ , รับรู้รายได้การส่งมอบรถเมล์ NGV, กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักมีสัดส่วนถึง 60% ของโครงสร้างกำไรทั้งหมด โดยในปีนี้คาดว่าปริมาณการขายก๊าซฯจะเติบโตมากกว่า 40% ตามความต้องการใช้ที่มากขึ้น

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มินบู ประเทศเมียนมา ขนาด 220 เมกะวัตต์ (MW) มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่ง SCN ถือหุ้น 30% นั้น ได้เลื่อนกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในเฟสแรก 50 เมกะวัตต์ เป็นต้นไตรมาส 2/62 จากเดิมกำหนด COD ภายในไตรมาส 1/62 แต่ประเมินว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับเป้าหมายการเติบโตของบริษัท เนื่องจากเป็นสัดส่วนผลการดำเนินงานที่ไม่สูงมากนัก

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวสามารถ COD แล้ว บริษัทจะพิจารณาเข้าถือหุ้นในสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 40% เพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (recurring income) บริษัทวางเป้าภายใน 3 ปีข้างหน้าบริษัทจะปรับโครงสร้างรายได้เป็นกลุ่มธุรกิจ iCNG 30% ธุรกิจประกอบและผลิตรถยนต์ 30% และธุรกิจโรงไฟฟ้า 30% และ 10% เป็นกลุ่มธุรกิจขนส่ง จากปัจจุบันที่มีรายได้หลักจากกลุ่มธุรกิจ iCNG 60% และที่เหลือเป็นธุรกิจอื่น ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ