(เพิ่มเติม) GGC-KTIS ร่วมลงนามกู้เงิน KTB เดินหน้า "นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์" พร้อมเปิดดำเนินการ Q1/64

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 27, 2019 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มบมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) กลุ่มบมจ.เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้เพื่อการก่อสร้างโครงการ "นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์" ในวันนี้ (27 มี.ค.) ซึ่งมีมูลค่าโครงการไม่เกิน 7.5 พันล้านบาท

นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ ของ GGC กล่าวว่า โครงการ "นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์" (Nakhon Sawan Biocomplex : NBC) ร่วมกับ KTIS มาระยะหนึ่ง ดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุนบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด (GKBI) โดยมีบริษัทย่อยของ GGC ถือหุ้น 50% ร่วมกับบริษัทย่อยของ KTIS ถือหุ้น 50% โดยมีเงินลงทุนจากการกู้ยืม 5.2 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือมาจากเงินทุนของกลุ่ม GGC และกลุ่ม KTIS ไม่เกินรายละ 1.3 พันล้านบาท

ทั้งนี้ NBC ถือเป็นไบโอคอมเพล็กซ์และ Bio Hub ครบวงจรแห่งแรกของไทย และนับเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพฤษภาคม 2562 และดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 1/64

นายเสกสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์นี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นโครงการก่อสร้างโรงหีบอ้อย มีกำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โครงการก่อสร้างโรงผลิตเอทานอลมีกำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน (หรือราว 186 ล้านลิตรต่อปี) และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ มีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลงทุนต่อยอดการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพในระยะที่ 2 ด้วย

สำหรับระยะที่ 2 ได้มีการศึกษา Cellulosic Technology ร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งเป็นการนำชานอ้อยมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ หรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การก่อสร้างโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์การดำเนินโครงการเพื่อการเติบโตในธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Growth Strategy ของบริษัท ซึ่งสอดรับกับนโยบายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพหรือ Bioeconomy ของภาครัฐ กอปรกับการที่รัฐบาลได้อนุมัติสิทธิประโยชน์และข้อกำหนดต่าง ๆ ทำให้กลุ่ม GGC เป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างมหาศาล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ คือ สร้างงานให้เกษตรกรในพื้นที่ สร้างงานจากโรงงานเอทานอลได้มากกว่า 400 คน สร้างรายได้จากอ้อย สร้างพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 240,000 ไร่ ทดแทนพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งลดปริมาณการใช้น้ำถึง 30%

ด้านสังคม คือ สร้างองค์ความรู้ต่างๆ แก่คนในพื้นที่จากการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้ ลดการย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาตำแหน่งงานในเมืองใหญ่ นำมาซึ่งความเจริญต่างๆ สู่ท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม และสุดท้าย ด้านสิ่งแวดล้อม คือ การสร้างโรงงานเอทานอล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 1 ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ลดการปล่อยน้ำเสีย รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นควันและมลพิษจากการเผาอ้อยที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งสามารถตัดอ้อยได้ถึง 300-400 ตันต่อวันและมีการรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมของโครงการ พร้อมส่งเสริมการใช้ใบอ้อยที่มีสารอาหารไปทำปุ๋ยด้วย

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTIS กล่าวว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เฟส 1 เป็นการลงทุนพื้นฐาน เนื่องจากนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอล ขณะที่เฟส 2 จะเป็นการต่อยอดธุรกิจสู่อุตสาหกรรมไบโอเคมิคอล และไบโอพลาสติก ซึ่ง KTIS สนใจร่วมทุนในเฟส 2 อย่างแน่นอน

ส่วนพันธมิตรที่ทางกลุ่ม GGC อยู่ระหว่างการเจรจานั้น เบื้องต้นจะเป็นกลุ่ม NatureWork ของสหรัฐฯ ที่จะเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าว โดยปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจร่วมในโครงการนี้ ส่วนหนึ่งมาจากภายหลังจากการเลือกตั้งทำให้ภาพการลงทุนของไทยดีขึ้น รวมทั้งโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ และมีวัตถุดิบเพียงพอ โดย KTIS สามารถป้อนอ้อย 10 ล้านตัน เทียบกับเฟส 1 ใช้อ้อย 2.5 ล้านตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ