TK คาดผลงานปีนี้ทรงตัวจากปีก่อน หลังยอดขายมอเตอร์ไซด์ในปท.หดตัว, เตรียมเปิดไมโครไฟแนนซ์สาขาแรกในเมียนมาส.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 21, 2019 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 62 คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน โดยเฉพาะในส่วนของกำไรที่อาจจะถูกกดดันอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่พอร์ตเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศหดตัวลง ขณะที่รายได้ยังมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นจากจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในกัมพูชาและลาวที่ยังเติบโตอย่างโดดเด่น

ภาพรวมของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) หดตัวลง 0.69% ตามเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับราคาน้ำมันสูง และราคาสินค้าเกษตรที่ไม่ดี อีกทั้งปีนี้ยังเผชิญภาวะภัยแล้ง ส่งผลโดยตรงกับกำลังซื้อของเกษตรกรที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ซื้อรถจักรยานยนต์ และมีการใช้สินเชื่อเช่าซื้อของบริษัท ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศปีนี้จะหดตัว 3-4% จากระดับ 1.72 ล้านคันในปีก่อน

อย่างไรก็ตามปีนี้บริษัทยังไม่ได้ประเมินเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในประเทศ แม้เบื้องต้นจะเห็นสถานการณ์ภายในประเทศยังไม่ค่อยดีนัก แต่ก็จะรอดูสถานการณ์อีกครั้งหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่ปัจจุบันบริษัทก็มีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าในประเทศ เพราะภาพรวมในประเทศยังมีภาระหนี้ครัวเรือนสูง และมีสัญญาณการก่อหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาก ทำให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบริษัทในไตรมาส 1/62 เพิ่มขึ้นเป็น 4.6% จาก 4.1% ในไตรมาส 4/61 โดยที่อัตราการปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทในปัจจุบันเพิ่มเป็น 30% จากปีก่อนที่กว่า 20% ขณะที่บริษัทวางเป้าหมายจะคุม NPL ในปีนี้ให้ไม่เกิน 5%

"มองว่าแนวโน้มของสินเชื่อในไตรมาส 2/62 และไตรมาส 3/62 ยังคงไม่เห็นการเติบโต จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ค่อยดีนัก แต่คาดว่าจะเห็นการ Pick up กลับมาในช่วงไตรมาส 4/62 ซึ่งเป็นช่วงปกติของธุรกิจ โดยที่พอร์ตสินเชื่อรวมของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะคงยังไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท จากไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 9 พันล้านบาท"นายประพล กล่าว

สำหรับธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อในต่างประเทศที่บริษัทเปิดดำเนินการแล้วในประเทศกัมพูชาและลาว ยังคงเห็นการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยกัมพูชา นับเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตของสินเชื่อ 144% และอัตราเติบโตของรายได้ 199.5% จากปี 60 ขณะที่ธุรกิจในกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วน 78% ของธุรกิจต่างประเทศของบริษัททั้งหมด โดยในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราเติบโตประมาณ 110% ในกัมพูชา

ส่วนธุรกิจในลาวถือเป็นอีกหน่วยธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงรองจากกัมพูชา โดยปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตของสินเชื่อ 85% และอัตราเติบโตของรายได้ 64% จากปี 60 คาดว่าปีนี้สินเชื่อในลาวจะเติบโตราว 75% ส่งผลให้อัตราเติบโตของธุรกิจต่างประเทศของบริษัทในกัมพูชาและลาวในปี 62 คาดว่าจะเติบโต 100% จากปีก่อน โดยที่พอร์ตสินเชื่อในต่างประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 1.07 พันล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทยังวางแผนขยายสาขาในกัมพูชาและลาวเพิ่มเติมในปีนี้อีก โดยจะขยายสาขาในกัมพูชาเพิ่มอีก 6 สาขา รวมเป็น 12 สาขาในสิ้นปีนี้ สาขาในลาวจะขยายเพิ่มอีก 3 สาขา รวมเป็น 6 สาขาในสิ้นปีนี้ และจะเปิดดำเนินงานธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมาช่วงไตรมาส 3/62 หลังจากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตดำเนินกิจการในเมียนมา โดยที่จะเปิดสาขาในเมียนมา 3 สาขา ซึ่งจะทำให้สิ้นปี 62 คาดว่าจะมีสาขาในต่างประเทศ 21 สาขา

สำหรับการขยายธุรกิจในต่างประเทศเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในการเพิ่มสัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อจากการดำเนินธุรกิจภายในประเทศและจากธุรกิจต่างประเทศ โดยตั้งเป้าเป็น 50:50 ภายในปี 63

นายประพล กล่าวอีกว่า บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้วงเงินราว 1 พันล้านบาท อายุราว 2-3 ปี ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยมีอันดับเครดิต "A-" แนวโน้ม "Stable" จากทริสเรทติ้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ชดเชยหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุ และใช้ขยายธุรกิจเพิ่มเติม

ด้านนางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ ของ TK เปิดเผยว่า บริษัทได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการไมโครไฟแนนซ์ในสหภาพเมียนมา ในนามบริษัท Mingalaba Thitikorn Microfinance จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,520 ล้านจ๊าด หรือ 33 ล้านบาท โดยมี TK ถือหุ้นสัดส่วน 99.9% ในบริษัทดังกล่าว โดยบริษัทได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการบริการไมโครไฟแนนซ์ จำนวน 3 สาขา ในมณฑลพะโค (Bago) หรือที่คนไทยรู้จักในนามหงสาวดี ซึ่งห่างจากย่างกุ้ง ประมาณ 160 กิโลเมตร (กม.) เพื่อให้บริการทางการเงินกับลูกค้าในเมียนมา โดยจะเริ่มเปิดสาขาแรกภายในเดือนสิงหาคมนี้

"TK ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการไมโครแนนซ์ในเมียนมาเมื่อเดือนตุลาคม 2560 โดยระหว่างที่รอรับใบอนุญาตฯ บริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมเดินหน้าธุรกิจในเมียนมามาด้วยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่เมียนมา ควบคู่กับการส่งทีมงานเข้าไปศึกษาและเข้าใจลูกค้า ศึกษาตลาด และเตรียมแนวทางการดำเนินธุรกิจในเมียนมา ให้พร้อมเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มตัวทันทีที่ได้รับใบอนุญาต เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไมโครไฟแนนซ์ในสหภาพเมียนมา ในนามบริษัท Mingalaba Thitikorn Microfinance จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,520 ล้านจ๊าด หรือประมาณ 33 ล้านบาท ที่มี TK ถือหุ้นสัดส่วน 99.9% ในบริษัทดังกล่าว ทำให้เราพร้อมเดินหน้าให้บริการทางการเงินให้กับลูกค้าได้ในเวลาไม่นาน" นางสาวปฐมา กล่าว

นางสาวปฐมา กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมั่นใจว่าเมียนมาจะเป็นประเทศยุทธศาสตร์ใหม่ในการขยายธุรกิจของ TK ในระยะยาว จากปัจจัยหลักในด้านขนาดของประชากรที่มีราว 55 ล้านคน อีกทั้งเศรษฐกิจที่มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 7.1% ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จะช่วยสนับสนุนแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจที่บริษัท ตั้งเป้าไว้ในการเพิ่มสัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อจากการดำเนินธุรกิจภายในประเทศและจากธุรกิจต่างประเทศเป็น 50:50 ภายในปี 63


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ