ทปอ.ฉลองครบ 45 ปี รวมพลังสถาบันอุดมศึกษาไทย จัดงานใหญ่ “University Expo มหกรรมอุดมศึกษา : อุดมศึกษา – พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” ชูเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นยอด ตอกย้ำศักยภาพอุดมศึกษาไทย

ข่าวทั่วไป Friday March 2, 2018 18:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ชม พีอาร์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ฉลองครบรอบ 45 ปี จัดงานใหญ่ "University Expo" มหกรรมอุดมศึกษา : อุดมศึกษา – พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 (Universities, the driver of Thailand 4.0) ในวันที่ 2 – 4 มีนาคมนี้ โชว์ศักยภาพมหาวิทยาลัยไทย ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 พร้อมรวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นยอด ผ่านกิจกรรมและนิทรรศการมากมาย ถึง 10 โซน และไฮไลท์เด็ดที่นักเรียนไม่ควรพลาด! พบกับครั้งแรก ของการค้นหาคณะที่เรียนแล้วปัง ด้วย AI ที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำ 95% และมาทำความรู้จักกับ TCAS ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ เริ่มใช้ 2561 รวมทั้งเวทีเสวนา การบรรยายพิเศษของผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำของประเทศ ที่จะมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อการศึกษาไทยเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศ (ทปอ.) เผยว่า "University Expo" มหกรรมอุดมศึกษา : อุดมศึกษา – พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 (Universities, the driver of Thailand 4.0) ถือเป็นการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งในปัจจุบัน ทปอ.ได้มีนโยบาย ทปอ. พลัส พลัส โดยจะไม่ยึดติดเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นสมาชิกเท่านั้น แต่จะผนึกกับสถาบันการศึกษาทั้งหมด รวมไปถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วไทย และในวันนี้ได้มาผนึกกำลังร่วมกัน โชว์ศักยภาพมหาวิทยาลัยไทย ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต รวมถึงเผยแพร่ความรู้ โครงการ กิจกรรมต่างๆ และผลงานด้านวิชาการและงานวิจัยของภาคอุดมศึกษา ที่จะมาโชว์ในงานนี้ โดยได้มีผลงานเด่นๆจากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมถึง 50 ผลงานอาทิ นวัตกรรมการเรียนการสอนสมัยใหม่ STEM Robotics SMART Mobility, space walker ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยผู้ป่วยฝึกเดินกายภาพบำบัด, Drone เพื่อการเกษตร เป็นต้น" นอกจากนี้ภายในงานยังได้พบกับครั้งแรกของระบบคัดเลือก TCAS พร้อมเปิดโอกาสให้นักเรียนผู้สนใจได้ทดลอง "แบบทดสอบ aiSCT" เพื่อค้นหาคณะที่เรียนแล้วปัง ด้วย AI ที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำ 95% ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพและการทำงานในอนาคต โดยจะใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น รวมไปถึงงานประชุมวิชาการที่จะได้พบกับการบรรยายพิเศษของผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำของประเทศที่จะมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อการศึกษาไทยเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ได้แก่ - การบรรยายในหัวข้อ "ประเทศไทยกับเส้นทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน" โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี - การบรรยายในหัวข้อ "บทบาทและความสำคัญของมหาวิทยาลัยต่อนโยบายการ่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน" โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี - การบรรยายในหัวข้อ "การปฏิรูปการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศไทย" โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี - การบรรยายในหัวข้อ "การเปลี่ยนแปลงของวงการการศึกษาในยุคของคนรุ่น Z" โดย ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ - และ mini stage พบกับการร่วมแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ "จากนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยสู่การเป็น STARTUP ที่ประสบความสำเร็จ" โดยคุณชื่นชีวัน วงษ์เสรี จาก "Globish Academia", คุณอานนท์ บุณยประเวศ จาก "เล่นดิน เล่นน้ำ" และคุณนารีรัตน์ แซ่เตีย จาก "InsightEra" งาน "University Expo" ครั้งนี้ ได้รวบรวมพลังอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนประเทศเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ และการเป็นมหาวิทยาลัยไทย 4.0 ผ่านนิทรรศการผลงานทางวิชาการทั้ง 10 โซน โซนที่ 1 : "รอยัล พาวิลเลียน" (ROYAL PAVILION) นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงริเริ่มการศึกษาแบบตะวันตกในราชสำนักสยาม, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำริส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทุกสาขาแก่เยาวชนและประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียนทั่วประเทศ และการจัดการศึกษานอกระบบ และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษา เพื่อการพัฒนาบุคคลในชาติอย่างครอบคลุมทุกด้าน พร้อมชมผลงานภาพวาดพระราชกรณียกิจ 3 พระองค์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่าสิบผลงาน โซนที่ 2 : STEM EDUCATION & 21st CENTURY LEARNING เรื่องราวของการส่งเสริมและสนับสนุนรากฐานที่ดีให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกฝนให้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมทั้งทักษะใหม่สำหรับการเรียนรู้ของเยาวชนในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ใช้ทักษะเหล่านี้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยมากที่สุด โซนที่ 3: อุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาชุมชน การแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากนักวิชาการผ่านกระบวนการวิจัยและบริการวิชาการ นำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านกระบวนการ มีส่วนร่วมให้กับชุมชนก่อเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ของวิถีชีวิต การสร้างอาชีพและการเป็นชุมชนต้นแบบแห่งการเรียนรู้ โซนที่ 4 : Social Innovation, Social Enterprise and Entrepreneurship แสดงถึงนวัตกรรมทางสังคมที่สร้างขึ้นโดยสถาบันอุดมศึกษาของไทย ทำให้ผู้เข้าชมได้เห็นตัวอย่างและเข้าใจคำว่า Social Innovation รวมทั้งบทบาทของอุดมศึกษาไทย ในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม ผ่านการใช้นวัตกรรมทางสังคม ซึ่งจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศอย่างยั่งยืน โซนที่ 5 : University Innovation Ecosystem เรื่องราวของความเชื่อมโยงกันในสังคม โดยสถาบันอุดมศึกษาเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความพร้อมทางด้านสภาพแวดล้อม ได้แก่ บุคลากร สถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ กิจกรรมและบริการที่สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาประเทศไปสู่โมเดล Thailand 4.0 อย่างแท้จริง โซนที่ 6 : SMEs & Start Up ต้นแบบของนวัตกรรมสร้างสรรค์ที่นักศึกษาพัฒนาขึ้น อีกทั้งยังได้ร่วมชมการแข่งขันการนำเสนอผลงานนวัตกรรมของนักศึกษาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต โซนที่ 7 : Innovation Hubs โครงการ Innovation Hubs ออกแบบมาเพื่อปิดช่องว่างที่มีอยู่ของระบบวิจัยไทยที่ไม่สามารถผลักดันให้งานวิจัยจากสถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยสนับสนุนมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้วยการส่งเสริมให้มีเครื่องมือขนาดใหญ่ที่จะขยายผลงานสู่ระดับต้นแบบ ทุนพัฒนานวัตกรรมต่อยอดงานวิจัย และส่งเสริมผู้ประกอบการเดิมและสร้างผู้ประกอบการใหม่ โซนที่ 8 : นิทรรศการความร่วมมือและการรวมของกลุ่มมหาวิทยาลัย เข้าถึง และเข้าใจในระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาปีการศึกษา 2561 Thai university Central Admission System (TCAS) ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อให้นักเรียนอยู่ในห้องเรียนให้ครบระยะเวลาการเรียนการสอน รวมทั้งสามารถค้นหาคณะที่เรียนแล้ว "ปัง" ด้วย AIผ่านทาง www.mycareer.ai และเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษาทั้ง 9 ภูมิภาคในประเทศไทย โซนที่ 9 : นิทรรศการความร่วมมือมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ตัวอย่างกิจกรรมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ทั้งด้านวิชาการ งานวิจัยและกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา โดยคัดเลือกโครงการเด่นๆ ที่ตอบสนอง 4.0 ได้แก่ โครงการด้านอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีทางการแพทย์ โครงการด้านปัญญาประดิษฐ์ ดิจิทัลเทคโนโลยีหุ่นยนต์ สมองกลฝังตัว และโครงการด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม ในรูปแบบ interactive เพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการสามารถสืบค้นได้ด้วยตัวเอง โซนที่ 10: นิทรรศการมหาวิทยาลัยเอกชน จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนกับโอกาสทางการศึกษา, ความร่วมมือของสถาบันกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และ บทบาทในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของปทระเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 "การจัดงาน University Expo" มหกรรมอุดมศึกษา : อุดมศึกษา – พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 (Universities, the driver of Thailand 4.0) ของ ทปอ. ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดรั้วมหาวิทยาลัยให้บุคคลภายนอกได้เห็นถึงศักยภาพ งานนวัตกรรม งานเทคโนโลยี งานวิจัย ที่มหาวิทยาลัยได้คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ พัฒนา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทุกมหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะรวมพลังกันอย่างเต็มที่ย่อมเป็นแรงผลักดันให้ประเทศก้าวข้าม กับดักความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องนโยบายภาครัฐ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ