แคมเปญ “อาร์ต ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์” ฉลอง 70 ปียูนิเซฟประเทศไทย ร่วมมือ 16 ศิลปินถ่ายทอดปัญหาเด็กผ่านผลงานสตรีทอาร์ตทั่วกรุงฯ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 24, 2018 18:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--เวเบอร์ แชนวิค มีเด็กในประเทศไทยจำนวนมาก ที่ตกอยู่ในภาวะเปราะบาง ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ความยากจน สถานะทางกฎหมาย การไร้สัญชาติ การอยู่ในที่ห่างไกล การถูกละเมิดทำร้าย ถูกทอดทิ้ง หรือเกิดจากความทุพพลภาพทางร่างกาย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ การพรากโอกาสในชีวิตไปจากเด็กๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การขาดโอกาสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ หรือ สิ่งต่างๆ ที่จะช่วยให้ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีได้...ในโอกาสครบรอบ 70 ปีในการดำเนินงานของยูนิเซฟในประเทศไทย จึงจัดแคมเปญพิเศษ "อาร์ต ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์" (Art for The Future) คุณ..เปลี่ยนอนาคตเด็กให้ดีขึ้นได้ ถ่ายทอดปัญหาของเด็กในประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยเชิญ 16 ศิลปินรังสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ เพื่อสะท้อนปัญหา 4 ด้าน ได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, ปัญหาการล่วงละเมิดและความรุนแรงต่อเด็ก, ปัญหาการเข้าไม่ถึงปัจจัยสำหรับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย, และปัญหาของวัยรุ่น ที่จะปรากฏทั่วกรุงเทพฯ เพื่อร่วมรณรงค์และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในประเทศไทย นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า "ยูนิเซฟทำงานเพื่อเด็กในประเทศไทยมายาวนานกว่า 70 ปี กับทุกภาคส่วน ตั้งแต่พัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อให้เด็กได้มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ได้รับการปกป้องดูแล จนถึงได้รับการศึกษาและเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ แต่ทว่ายังพบว่ามีเด็กที่ยังขาดโอกาสเพราะความเหลื่อมล้ำ โดยมากเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่ยากจน ซึ่งเรื่องความเหลื่อมล้ำนี้ฝังรากเหง้าอยู่ในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ยูนิเซฟและพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนไม่เคยหยุดยั้งความช่วยเหลือและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ในโอกาสครบรอบ 70 ปีของการดำเนินงานของยูนิเซฟในประเทศไทย เราจึงจัดแคมเปญรณรงค์ ครั้งใหญ่ "อาร์ต ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์" (Art for The Future) คุณ..เปลี่ยนอนาคตเด็กให้ดีขึ้นได้เพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาต่างๆ ของเด็ก ในประเทศไทยผ่านผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบที่จะทยอยตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยฝีมือของ 16 ศิลปินชาวไทยที่ยูนิเซฟเชิญมาเปล่งเสียงแทนเด็กๆ ซึ่งศิลปะแต่ละชิ้นมีนัยยะสะท้อนถึงปัญหาของเด็กๆ อย่างลึกซึ้ง ทุกคนในประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมในผลงานเหล่านี้ได้ด้วยการร่วมกันลงชื่อเพื่อแสดงพลังการรับรู้และตระหนักในปัญหาเหล่านี้เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย และชื่อของคุณก็จะปรากฏอยู่บนผลงานศิลปะทั้ง 16 ชิ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนอนาคตเด็กให้ดีขึ้นได้" สำหรับผลงานศิลปะทั้ง 16 ชิ้น จะจัดแสดงอยู่ตามจุดสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร อาทิ ย่านเจริญกรุง, พระนครบาร์, เยโล่ เฮาส์, วูฟแพ็ค, แอร์พอร์ต เรลลิงค์ มักกะสัน โดย 16 ศิลปินที่มาสร้างสรรค์ไอเดียด้วยสองมือและหัวใจรณรงค์ปัญหาดังกล่าว ได้แก่คุณสยาม เนียมนำ, ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา,ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา, พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล, ดริสา ริเอธี การพจน์, น้ำน้อย-ปรียศรี พรหมจินดา, เหนือ- จักรกฤษณ์ อนันตกุล, ชาญณรงค์ ขลุกเอียด, ศุภิสรา เปรมกมลมาศ , ทศพร เหมือนสุวรรณ, Jayoto อุทิศ โพธิ์คำ, ปกรณ์ ธนานนท์, ปรัชญพร วรนันท์, พีรเวทย์ กระแสโสม, ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล, พิเชฐ รุจิวรารัตน์ และสำหรับการร่วมลงชื่อเพื่อแสดงพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้น สามารถทำได้โดยเข้าไปที่ www.unicef.or.th/70years ภายในวันที่ 14 พฤศจิกายน และชื่อของทุกท่านจะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะทั้ง 16 ชิ้น นอกจากการรณรงค์ปัญหาผ่านผลงานศิลปะแล้ว ยูนิเซฟยังจัดทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นชุดพิเศษ 4 เรื่อง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ที่เด็กในประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ให้เด่นชัดยิ่งขึ้นในรูปแบบ แอนิเมชั่นสื่อสารเรื่องความรุนแรงในเด็กจากคนใกล้ตัว, การศึกษาของเด็กชายขอบ, การตั้งท้องก่อนวัย อันควรของวัยรุ่น และความยากจนของเด็กไทย ซึ่งสามารถติดตามภาพยนตร์แอนิเมชั่นทั้ง 4 เรื่องนี้ได้ทาง เฟซบุคยูนิเซฟ ประเทศไทยได้ตลอดเดือนตุลาคมนี้ https://www.facebook.com/unicefthailand/ "ไม่ว่าประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้าไปเพียงใด ก็ยังมีปัญหาเรื้อรังที่เด็กๆ ต้องเผชิญอยู่อีกมากมาย ตราบใดที่ไม่สามารถกำจัดรากเหง้าของความเหลื่อมล้ำ ตราบนั้นเด็กๆ ก็ยังคงตกอยู่ในวงจรปัญหาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่สิ้นสุด เด็กๆ ไม่สามารถส่งเสียงถึงปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่ได้ ศิลปะจึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารและถ่ายทอดปัญหาออกมาในรูปแบบที่มองเห็นและจับต้องได้ เสียงของทุกคนมีพลังมากกว่าที่คุณคิดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ และสังคมได้" นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การ ยูนิเซฟ กล่าวทิ้งท้าย
แท็ก ศิลปิน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ