ธพว.ประกาศยืนเคียงข้างช่วยเหลือผู้ประกอบการใต้ประสบภัยพายุ “ปาบึก” ออกมาตรการพักหนี้คู่เติมทุนฟื้นฟูธุรกิจ อำนวยความสะดวกยื่นกู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 7, 2019 10:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--ธพว. ธพว. พร้อมยืนเคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใต้ ถูกผลกระทบจากพายุ "ปาบึก" คลอด 2 มาตรการช่วยเหลือ ทั้งพักหนี้ และเติมทุนดอกเบี้ยพิเศษ ใช้หมุนเวียนฟื้นฟูธุรกิจ อำนวยความสะดวกยื่นกู้ผ่านแอปพลิเคชัน SME D Bank ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) เปิดเผยว่า ตามที่หลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้อาจได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "ปาบึก" ซึ่งจะมีผลให้เกิดอุทกภัย ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจในภาคใต้ได้รับความเสียหาย และประสบปัญหาทางตรงและทางอ้อมด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งธนาคารมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ออก 2 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ได้แก่ 1.มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) พักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วนสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) ออกมาตรการช่วยเหลือพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน และ 2.มาตรการ วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ลูกค้าธนาคารที่ได้รับความเสียหาย มีเงินทุน นำไปฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0.415% ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญา วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท 2.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และ3.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อน และสามารถใช้หลักประกัน บสย. ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท นอกจากนั้น สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว ธนาคารได้เตรียมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษไว้รองรับ สำหรับใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ และหมุนเวียน เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ครอบคลุมสนับสนุนกลุ่มเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน ผู้ประกอบการใหม่ มีนวัตกรรม กลุ่มค้าส่งค้าปลีก ร้านโชห่วย ร้านค้าชุมชน ร้านธงฟ้า ผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ บุคคลธรรมดาปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน และนิติบุคคล จะมีอัตราดอกเบี้ยถูกลงไปอีก ปีที่ 1-3 เพียง 0.25% ต่อเดือน อีกทั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ธนาคารพร้อมให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม 'SME D Bank' แอปพลิเคชัน สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ภายใต้รหัส 24x7 หมายถึง ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น เมื่อผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ จากนั้นภายใน 3 วัน เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายให้หน่วยรถม้าเติมทุนฯ เข้าไปพบ เพื่อขอดูข้อมูลเชิงประจักษ์การดำเนินธุรกิจจริง สามารถรู้ผลการพิจารณาสินเชื่อได้ใน 7 วัน ขณะเดียวกัน พนักงานของธนาคาร ทำงานภายใต้รหัส 8-8-7 หมายถึง 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม (8:00-20:00 น.) ตลอด 7 วัน อีกทั้ง ได้เปิด "ศูนย์บริหารรถม้าเติมทุน" (Operation Center) ที่ชั้น 11 สำนักงานใหญ่ SME Development Bank ทำหน้าที่ติดตามการทำงานของหน่วยรถม้าเติมทุนฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามเป้าหมายที่วางไว้ นายมงคล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ธนาคารจากส่วนกลาง และเจ้าหน้าที่สาขาในพื้นที่เข้าเยี่ยมเยือนและสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือได้ทันท่วงที และเปิด Call Center หมายเลข 1357 ไว้คอยรับแจ้งขอความช่วยเหลือ ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้ มั่นใจได้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือและดูแลจาก ธพว. อย่างใกล้ชิด ทั่วถึง และทันท่วงที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ