วว. สร้างรายได้วิสาหกิจชุมชนด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการเกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมได้มากกว่า 900 ล้านบาท/ปี ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30%

ข่าวทั่วไป Thursday March 7, 2019 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำความเชี่ยวชาญนวัตกรรมที่ผ่านการวิจัยพัฒนาและจัดระเบียบองค์ความรู้ ถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area based) มุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศได้มากกว่า 900 ล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว.นำความเชี่ยวชาญนวัตกรรมที่ผ่านการวิจัยพัฒนาและจัดระเบียบองค์ความรู้แล้ว ไปถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area based) ที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านการดำเนินงานโครงการสำคัญ อาทิ โครงการยกระดับโอทอปในพื้นที่ 10 จังหวัดยากจน โครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป และโครงการบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นต้น โดยการดำเนินงานของ วว. ให้ความสำคัญในการบูรณาการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ขับเคลื่อนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ให้มีช่องทางเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการเชิงพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ผ่านการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กลไกประชารัฐ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันอาชีวศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาในพื้นที่ สถาบันการเงิน ห้างร้านจำหน่ายสินค้า มากกว่า 20 เครือข่าย ตลอดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดและค้าขายได้จริง อันนำไปสู่การพัฒนางานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) อย่างต่อเนื่อง "...วว.เสริมสร้างความรู้ทางนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการ (Innovative Literacy) โดยมีจำนวนผู้เข้ารับการถ่ายทอดความรู้และเรียนรู้ด้าน วทน. ในปี 2561 จำนวน 2,895 ราย จำนวนประชาชนในชนบทได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี 2,803 ราย ถ่ายทอดเทคโนโลยีทักษะเข้มข้น (Skill Intensive) ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน จำนวน 430 ราย มีมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area based) จากการประเมินโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถด้านวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์กระบวนการ มาตรฐาน และเครื่องจักร ตลอดจนประชาชนที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีเชิงสังคม สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศได้มากกว่า 900 ล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ของปีที่ผ่านมา และสรุปผลการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ของโครงการยกระดับโอทอป 10 จังหวัดยากจน คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 2,946.2267 ล้านบาท SROI = 1 : 7.75 (1 บาท ได้คืน 7.75 บาท) ส่งผลให้ GDP 10 จังหวัดขยายตัว 0.92% ต่อปี…" ผู้ว่าการ วว.กล่าวถึงความสำเร็จในการดำเนินการสร้างรายได้วิสาหกิจชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวต่อว่า การสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและชุมชนในระดับฐานราก วว. มุ่งเน้นแนวคิดการแปรรูปผลิตผลจากทรัพยากรท้องถิ่นให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นเอกลักษณ์เป็นของตนเองที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมในท้องถิ่น โดยได้นำนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เข้าไปมีส่วนสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ดังนี้ 1.ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีพร้อมใช้อย่างทั่วถึง เพื่อพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และความสามารถในการผลิตสินค้าโอทอป โดยบูรณาการหลายหน่วยงานให้ดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนา เทคโนโลยีมุ่งเป้าเพื่อแก้ไขปัญหารายพื้นที่ และรายผลิตภัณฑ์ 2.พัฒนาและยกระดับด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้การรับรองมาตรฐาน (Product Certification) เพื่อสร้างความแตกต่างและยกระดับผลิตภัณฑ์ ด้วยการให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพและมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และ 3.พัฒนาด้านบริหารจัดการโดยช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการรวมกลุ่มร่วมผลิต ร่วมจำหน่ายสินค้า เชื่อมต่อการเข้าแหล่งทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา ช่องทางการตลาดเพื่อขยายโอกาสทางการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายช่องทางการตลาดใหม่ๆ เช่น การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) และ e-Market ทั้งนี้ วว. ได้ต่อยอดขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และระดับพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยมีการจัดกิจกรรม Roadshow ในจังหวัดเป้าหมาย ดำเนินงานจับคู่ความต้องการกับนักวิจัย วว. และนักวิจัยภายใต้เครือข่ายความร่วมมือวิจัย ตลอดจนมีการส่งต่อผู้ประกอบการที่ได้รับพัฒนา จนสามารถยกระดับมาตรฐานและขยายโอกาสจนมีความพร้อมสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ 2.พัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ 3.พัฒนาและออกแบบกระบวนการผลิต 4.พัฒนาระบบมาตรฐาน 5.พัฒนาและออกแบบเครื่องจักร และ 6.พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบต้นน้ำ สำหรับเป้าหมายในอนาคตของ วว. ในการสร้างรายได้วิสาหกิจชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และความคาดหวังในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เสริมแกร่งเศรษฐกิจของประเทศในยุค Thailand 4.0 วว. มุ่งเน้นการขยายพื้นที่ดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยทั้ง 77 จังหวัด โดยการใช้ วทน. เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อเสริมแกร่งเศรษฐกิจของประเทศในยุค Thailand 4.0 ในการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมาตรการต่างๆ ทั้งการพัฒนาการดำเนินธุรกิจ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาด้านการตลาด ดังนี้ 1.ปัจจุบัน วว. ดำเนินโครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และจังหวัดน่าน 2.ปี 2563 มุ่งดำเนินโครงการฯ ให้ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัด และ 3.ปี 2564 มุ่งดำเนินโครงการฯ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ