ผลสำรวจชี้ อนาคตของการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สระดับองค์กร บทความโดยกอร์ดอน ฮาฟฟ์, ผู้เชี่ยวชาญด้านคลาวด์, เร้ดแฮท อิงค์

ข่าวเทคโนโลยี Thursday April 25, 2019 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง เราไม่จำเป็นต้องถามว่าองค์กรต่างๆ กำลังใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สอยู่หรือเปล่า เรารู้ว่าใช้เพราะเร้ดแฮทได้มีส่วนร่วมและกำลังช่วยให้หลายองค์กรใช้ประโยชน์จากระบบโอเพ่นซอร์สอยู่ในปัจจุบัน แต่ประเด็นสำคัญก็คือ องค์กรเหล่านี้คิดอย่างไรเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์ส เหตุใดพวกเขาจึงเลือกใช้โอเพ่นซอร์ส และมีแผนที่จะทำอะไรต่อไปในอนาคต ทั้งหมดนี้คือคำถามที่ทำให้เราทำการสอบถามผู้บริหารฝ่ายไอทีในหัวข้อ "The State of Enterprise Open Source" ซึ่งจัดทำโดย Illuminas ภายใต้การสนับสนุนของเร้ดแฮท ความเป็นมา ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สแทรกซึมเข้าสู่แวดวงเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งผู้บริโภคก็อาจใช้งานเทคโนโลยีซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในหลายกรณีโดยไม่รู้ตัว เช่น การจองเที่ยวบิน การถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม หรือการโทรศัพท์ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อเราพูดถึงซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์แทบจะไม่มีรายการใดไม่เกี่ยวเนื่องกับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเลย เร้ดแฮทต้องการที่จะศึกษาเจาะลึกมากกว่านี้ โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญๆ เช่น องค์กรต่างๆ มีความเห็นเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์สในลักษณะที่ต่างออกไปหรือไม่ในเมื่อปัจจุบันโอเพ่นซอร์สได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น, องค์กรต่างๆ คิดว่าโอเพ่นซอร์สเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบไอทีหรือว่าองค์กรเหล่านั้นได้ทำการพัฒนาโอเพ่นซอร์สในลักษณะที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และเราต้องการทราบว่าโดยมากแล้วองค์กรมองว่าโอเพ่นซอร์สจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและทดแทนซอฟต์แวร์แบบปิดในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง หรือองค์กรพิจารณาว่าโอเพ่นซอร์สระดับองค์กรเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวหน้า เราจึงทำแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารฝ่ายไอทีที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีภายในองค์กร เพื่อค้นหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้และคำถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เราไม่ประหลาดใจกับผลลัพธ์ที่ออกมา เราพูดคุยกับลูกค้า พันธมิตร และเหล่าผู้ชื่นชอบโอเพ่นซอร์สมากมาย ซึ่งทำให้เราเห็นภาพว่าโอเพ่นซอร์สจะได้รับความนิยมมากขึ้น ในขณะที่มีการใช้ซอฟต์แวร์แพร่หลายมากขึ้น โอเพ่นซอร์สก็มีบทบาทสำคัญต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการมอบคุณประโยชน์ให้แก่ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ผลการสำรวจความคิดเห็นที่น่าสนใจใน The State of Enterprise Open Source: A Red Hat Report มีดังนี้ โอเพ่นซอร์ส: ความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อองค์กร สิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องมากขึ้นคือ องค์กรมองว่าโอเพ่นซอร์สมีความสำคัญเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของค์กรหรือไม่ เราทราบว่ามีการใช้โอเพ่นซอร์สอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น มีการใช้ลีนุกซ์ (Linux) แทนที่ยูนิกซ์ (Unix) ซึ่งเป็นระบบปิดอย่างมากมาย แต่นั่นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ โดยทั่วไปแล้วองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องใช้ระบบอีเมลและระบบปฏิทินในการดำเนินงาน แต่ทุกคนก็ไม่ได้คิดว่าระบบดังกล่าวก็เป็นเครื่องมือหลักที่จะช่วยให้บริษัทเอาชนะคู่แข่งได้ แต่ในกรณีของโอเพ่นซอร์สระดับองค์กร ผู้บริหารฝ่ายไอที 950 คนจากทั่วโลกที่ตอบแบบสอบถามลงความเห็นว่า โอเพ่นซอร์สมีความสำคัญอย่างมากต่อกลยุทธ์ด้านซอฟต์แวร์โครงสร้างพื้นฐานโดยรวมขององค์กร โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 69 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าโอเพ่นซอร์สมีความสำคัญอย่างมากหรือมากที่สุด และมีเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่คิดว่าไม่มีความสำคัญเลย ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ผู้บริหารฝ่ายไอทีเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการใช้งานโอเพ่นซอร์สขึ้นมาอีกระดับ และคาดว่าจะดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ หรือ 68 เปอร์เซ็นต์ ใช้งานโอเพ่นซอร์สระดับองค์กรเพิ่มมากขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 59 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะยังคงทำเช่นนั้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่คาดว่าจะลดการใช้งานอยู่ในระดับตัวเลขหนึ่งหลักเท่านั้น โอเพ่นซอร์สมีสมรรถนะมากกว่าใช้ทดแทนยูนิกซ์เท่านั้น แต่เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้พบว่ามีการใช้โอเพ่นซอร์สทดแทนซอฟต์แวร์แบบปิดอย่างกว้างขวาง เช่นการเปลี่ยนจากระบบยูนิกซ์ไปสู่ระบบลีนุกซ์เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความยืดหยุ่น (มีตัวเลือกฮาร์ดแวร์และผู้ขายที่หลากหลาย) อย่างไรก็ตาม โอเพ่นซอร์สระดับองค์กรในปัจจุบันสามารถใช้แทนที่ซอฟต์แวร์แบบปิดเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างได้หลากหลาย ตั้งแต่การทำเวอร์ชวลไลเซชั่น ไปจนถึงส่งข้อความและแอปพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์ นอกจากนี้ โอเพ่นซอร์สยังช่วยกำหนดและสร้างแนวทางใหม่ๆ ให้กับโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่การสร้างคอนเทนเนอร์ ไปจนถึงสตอเรจที่กำหนดด้วยซอฟต์แวร์ และระบบเครือข่าย เมื่อรวมสิ่งต่างๆ ทั้งหมดนี้ไว้ภายใต้หัวข้อ "การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้ทันสมัย" เราพบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 53 เปอร์เซ็นต์กำลังใช้โอเพ่นซอร์สระดับองค์กรเพื่อจุดประสงค์นี้ ซึ่งในสหราชอาณาจักร ตัวเลขดังกล่าวจะน้อยกว่านี้เล็กน้อย และในละตินอเมริกา จะสูงกว่านี้เล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สไม่ได้เป็นเพียงแค่การนำโครงสร้างพื้นฐานรุ่นเก่าออก และติดตั้งรุ่นที่ทันสมัยกว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 42 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าองค์กรของตนกำลังใช้โอเพ่นซอร์สเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงองค์กรเพื่อรองรับการปรับใช้เทคโนโลยีสารสนเทศควบคู่กันไป หรือแม้กระทั่งใช้แทนที่ระบบโรงงานแบบเก่าหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ติดตั้งไว้ในทางกายภาพ ความแตกต่างระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัยกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลนับว่ามีความสำคัญ เพราะอาจหมายถึงความแตกต่างระหว่างการดำเนินธุรกิจตามปกติอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกับการสร้างโอกาสใหม่ๆ บริการใหม่ๆ และคุณประโยชน์ที่แปลกใหม่ให้กับลูกค้า แน่นอนว่าการลดค่าใช้จ่ายอาจช่วยสร้างการเปลี่ยนผ่านในรูปแบบหนึ่ง เช่นการบริการตนเองในรูปแบบต่างๆ แต่ยังมีความแตกต่างขั้นพื้นฐานของวิธีคิดระหว่างการประหยัดค่าใช้จ่ายกับการสำรวจหาโอกาสและความเป็นไปได้ โอเพ่นซอร์สเป็นกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรม คุณลักษณะต่างๆ เช่น ความปลอดภัย และการสนับสนุนด้านเทคนิคและอื่นๆ มีความสำคัญต่อผู้ซื้อผลิตภัณฑ์โอเพ่นซอร์สระดับองค์กร ซึ่งจะว่าไปแล้วก็สำคัญทั้งต่อซอฟต์แวร์ระดับองค์กรและซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส อย่างไรก็ดี เรายังพบว่า 29 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า "การเข้าถึงนวัตกรรมล่าสุด" เป็นหนึ่งในสามเหตุผลที่สำคัญที่สุดในการใช้โอเพ่นซอร์สระดับองค์กร ประเด็นนี้สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความแตกต่างโดยพื้นฐานระหว่างโอเพ่นซอร์สกับซอฟต์แวร์แบบปิด แน่นอนว่าซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สระดับองค์กรอาจได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี และมีความปลอดภัยและเสถียรภาพมากกว่า แต่สิ่งเดียวกันนี้ก็อาจเป็นคุณสมบัติของซอฟต์แวร์แบบปิดจากผู้ผลิตหลายรายด้วยเช่นกัน หนึ่งในคุณสมบัติที่โดดเด่นของโอเพ่นซอร์สก็คือ จะช่วยให้บุคคลและองค์กรสามารถประสานงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยมีปัญหาด้านโครงสร้างและอุปสรรคอื่นๆ น้อยที่สุด ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่รองรับการพัฒนามีความแตกต่างโดยพื้นฐานจากซอฟต์แวร์แบบปิด ดังจะเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์ประเภทใหม่ๆ จำนวนมากได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์ส เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), โครงสร้างพื้นฐานที่กำหนดด้วยซอฟต์แวร์ และแพลตฟอร์มแบบคลาวด์เนทีฟ หรืออาจกล่าวได้ว่า นวัตกรรมจำนวนมากในโลกของซอฟต์แวร์ในปัจจุบันเกิดขึ้นได้ด้วยโอเพ่นซอร์ส และองค์กรที่พึ่งพาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจก็ต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดังกล่าว บทสรุป อ่านเอกสารฉบับเต็มเพื่อศึกษาผลสำรวจอีกหลายประการได้ที่ "The State of Enterprise Open Source: A Red Hat Report" ข้อมูลในรายงานฉบับนี้ครอบคลุมสถานการณ์ของซอฟต์แวร์โดยทั่วไป และเจาะลึกรายละเอียดเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สระดับองค์กร พร้อมทั้งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรต่างๆ ที่ปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในช่วงแรก รวมถึงบริษัทที่สร้างสรรค์นวัตกรรมในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา และในปี 2562 เป็นที่ชัดเจนว่าองค์กรต่างๆ ลงทุนในซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลง แทนที่จะถูกมองว่าเป็นภาระที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายต่อองค์กร และซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สระดับองค์กรจะกลายเป็นองค์ประกอบหลักที่อยู่ตรงจุดศูนย์กลางในโลกของซอฟต์แวร์ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ไม้ประดับที่แอบซ่อนอยู่ในมุมมืดอีกต่อไป
แท็ก ลาว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ