มูลนิธิเวิลด์ไวด์เว็บเผยดัชนีเว็บประจำปี ชี้เสรีภาพในการใช้เว็บลดลง

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 11, 2014 16:33 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

ลอนดอน--11 ธ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ - ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี ผู้คิดค้นเวิลด์ไวด์เว็บ เรียกร้องให้โลกยอมรับอินเทอร์เน็ตในฐานะสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกแทรกแซงทางการค้าและการเมือง มูลนิธิเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web Foundation) ได้เปิดเผยดัชนีเว็บประจำปี 2557-58 ซึ่งเป็นดัชนีแรกของโลกที่ชี้วัดบทบาทของเว็บที่มีต่อความก้าวหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมใน 86 ประเทศทั่วโลก รายงานระบุว่า - ผู้ใช้เว็บมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะถูกสอดแนมโดยรัฐบาล เนื่องจากกฎหมายป้องกันการสอดแนมมวลชน (mass surveillance) มีความอ่อนแอหรือไม่มีเลยในกว่า 84% ของประเทศทั้งหมดที่ทำการศึกษา เพิ่มขึ้นจาก 63% ในปี 2556 - มีการเซนเซอร์ออนไลน์มากขึ้น โดยมีการเซนเซอร์เว็บในระดับปานกลางหรือระดับสูงใน 38% ของประเทศทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 32% ในปี 2556 - การรวมตัวบนโลกออนไลน์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกออฟไลน์ แม้ว่าภาพรวมของเสรีภาพสื่อจะย่ำแย่ลงในเกือบทุกประเทศที่ทำการศึกษา แต่เว็บและโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเคลื่อนไหวของพลเมืองของ 3 ใน 5 ประเทศ ขณะเดียวกันในกว่า 60% ของประเทศทั้งหมด ผู้หญิงใช้เว็บเพื่อแสดงสิทธิของตนเองในระดับปานกลางหรือระดับสูง - ความเป็นกลางในการให้บริการอินเทอร์เน็ต (net neutrality) อย่างแท้จริงยังคงหาได้ยาก โดยในการประเมินครั้งแรกของโลกพบว่า มีเพียง 1 ใน 4 ของประเทศทั้งหมดที่มีการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางการเมืองและการค้าในการบริหารทราฟฟิกอินเทอร์เน็ต - ความรุนแรงซึ่งมีพื้นฐานมาจากเรื่องเพศ (Gender-based violence) บนโลกออนไลน์ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใน 74% ของประเทศทั้งหมดในดัชนีเว็บ ซึ่งหลายประเทศมีรายได้สูงนั้น พบว่าศาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายประสบความล้มเหลวในการดำเนินการอย่างเหมาะสม เมื่อมีการใช้ข้อมูลสารสนเทศบนเว็บก่อความรุนแรงทางเพศ - เกือบ 60% ของประชากรโลกไม่สามารถออนไลน์ได้ ขณะที่ครึ่งหนึ่งของผู้ใช้เว็บอาศัยอยู่ในประเทศที่จำกัดสิทธิ์ออนไลน์อย่างรุนแรง โดยประชากรโลก 4.3 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงเว็บได้ ขณะที่ประชากรอีกอย่างน้อย 1.8 พันล้านคนเผชิญกับการละเมิดสิทธิ์ขั้นรุนแรงในเรื่องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ และอีก 225 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ความสามารถในการชำระเงินเป็นปัจจัยกำหนดการเข้าถึงคอนเทนต์และบริการ เซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี ผู้คิดค้นเว็บและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเวิลด์ไวด์เว็บกล่าวว่า “ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในราคาย่อมเยา รวมถึงให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทางการค้าหรือการเมือง ตลอดจนปกป้องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของผู้ใช้เว็บโดยไม่คำนึงว่าผู้ใช้อาศัยอยู่ที่ใด” ทั้งนี้ การคำนวณดัชนีเว็บมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลประเทศแบบปีต่อปีได้ อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียกลับมาครองอันดับต้นๆอีกครั้ง โดยประเทศที่มีระดับความมั่งคั่งสูง ความไม่เท่าเทียมกันต่ำ และมีการปกป้องเสรีภาพพลเมืองอย่างแข็งขัน เช่นประเทศในอันดับต้นๆอย่างเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมจากเว็บมากที่สุด อันดับดัชนีเว็บประจำปี 2557-58 ประเทศรายได้สูง ประเทศรายได้ปานกลาง ประเทศรายได้ต่ำ 1. เดนมาร์ก 1. ฮังการี 1. เคนย่า 2. ฟินแลนด์ 2. อาร์เจนติน่า 2. บังกลาเทศ 3. นอร์เวย์ 3. คอสตาริกา 3. ยูกันดา สามารถดูรายงานดัชนีเว็บประจำปี 2557-58 ได้ที่ http://www.thewebindex.org พร้อมภาพประกอบและข้อมูลเพิ่มเติมครบถ้วน แหล่งข่าว มูลนิธิเวิลด์ไวด์เว็บ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ