ไอบีเอ็ม เปิดศูนย์วิจัยแห่งใหม่ในประเทศแอฟริกาใต้

ข่าวต่างประเทศ Monday February 9, 2015 17:13 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

โจฮันเนสเบิร์ก--9 ก.พ.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ - ศูนย์วิจัยแห่งใหม่ในเมืองโจฮันเนสเบิร์กพร้อมสนับสนุนภารกิจหลักของประเทศแอฟริกาใต้ และผลักดันนวัตกรรมด้วยการใช้บิ๊กดาต้า คลาวด์ และโมบายล์เทคโนโลยี ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM ) ประกาศขยายการดำเนินงานของไอบีเอ็ม รีเสิร์ช แอฟริกา ด้วยการเปิดศูนย์วิจัยแห่งใหม่ในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนเมษายน 2558 ศูนย์วิจัยแห่งใหม่นี้จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาบิ๊กดาต้า คลาวด์ และโมบายล์เทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนกิจการสำคัญระดับชาติ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยอาศัยนวัตกรรม รูปภาพ - http://photos.prnewswire.com/prnh/20150205/173900 รูปภาพ - http://photos.prnewswire.com/prnh/20150205/173972 โลโก้ - http://photos.prnewswire.com/prnh/20090416/IBMLOGO ศูนย์วิจัยแห่งใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงทุนระยะเวลา 10 ปีผ่านทางกรมการค้าและอุตสาหกรรม และได้รับความร่วมมือจากกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์วิจัยจะตั้งอยู่ในบริเวณของมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์ (University of Witwatersrand: Wits) ดร. จอห์น อี. เคลลี่ ที่ 3 รองประธานอาวุโสของไอบีเอ็ม โซลูชั่นส์ พอร์ทโฟลิโอ แอนด์ รีเสิร์ช กล่าวว่า "ในการตัดสินใจเลือกสถานที่ก่อสร้างศูนย์วิจัยแห่งใหม่ ทางไอบีเอ็มได้คำนึงถึงปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่ การเข้าถึงผู้มีทักษะความสามารถระดับเวิลด์คลาส และศักยภาพในการทำงานภายใต้แรงกดดันทางธุรกิจและความท้าทายทางสังคม ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย แอฟริกาใต้มีความน่าสนใจจนเราตัดสินใจขยายเครือข่ายศูนย์วิจัยมายังประเทศนี้ คณะนักวิจัยของเราซึ่งประจำการอยู่ในแอฟริกาถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนักวิทยาศาสตร์ไอบีเอ็มที่กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนอนาคตของบริษัทและทำให้บริษัทยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของแวดวงการค้นพบทางวิทยาศาสตร์" นาเลดี ปันดอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของแอฟริกาใต้ ระบุว่า "แอฟริกาใต้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากที่สุดในโลก ถึงกระนั้นก็ยังจำเป็นต้องเพิ่มกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและสนับสนุนการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เรายินดีต้อนรับไอบีเอ็ม รีเสิร์ช สู่แอฟริกาใต้ และจะให้การสนับสนุนด้วยบุคลากรที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์สูงสุด เพื่อรับประกันความสำเร็จในระยะยาว" การส่งเสริมนวัตกรรม คณะนักวิจัยประจำศูนย์แอฟริกาใต้ของไอบีเอ็มจะทำงานร่วมกับบรรดามหาวิทยาลัยในท้องถิ่น สถาบันวิจัย ศูนย์นวัตกรรม บริษัทเกิดใหม่ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในแอฟริกาใต้ และช่วยพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยียุคใหม่ โดยไอบีเอ็มได้ทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัย Wits, กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (DST) รวมถึงสภาวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม (CSIR) เพื่อร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยและร่วมกันพัฒนาทักษะต่างๆต่อไป ศาสตราจารย์อดัม ฮาบิบ รองอธิการบดีและผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย Wits กล่าวว่า "การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จนั้น ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแอฟริกาใต้ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก การที่ไอบีเอ็มตัดสินใจเปิดศูนย์วิจัยในเมืองโจฮันเนสเบิร์กจะเป็นแรงผลักดันผู้ที่อยู่ในแวดวงโปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ นักพัฒนา ผู้ประกอบกิจการ และบริษัทเกิดใหม่ได้เป็นอย่างดี" ศูนย์วิจัยแห่งใหม่จะตั้งอยู่ในเขต Tshimologong Precinct ในบราอัมฟอนทีน ซึ่งเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมที่กำลังฟื้นตัวขึ้นมาในฐานะเขตที่มีความคึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ดร. โซโลมอน แอสซีฟา อดีตนักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยของศูนย์วิจัยโธมัส เจ. วัตสัน ของไอบีเอ็ม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตยอร์กทาวน์ไฮท์ส รัฐนิวยอร์ก จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะนักวิจัยของศูนย์วิจัยไอบีเอ็มในแอฟริกาใต้ ดร.แอสซีฟาได้ร่วมเขียนบทความทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 50 ชิ้น และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรถึง 45 รายการ ในปี 2554 นิตยสาร MIT's Technology Review ได้จัดอันดับให้เขาเป็นหนึ่งในสุดยอดนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ของโลกที่อายุต่ำกว่า 35 ปี นอกจากนี้ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ยังยกย่องให้เขาเป็นผู้นำรุ่นใหม่ของโลก และเมื่อปีที่แล้ว เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งเอธิโอเปียด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจระดับชาติที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนส่งเสริมความเป็นผู้นำในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของแอฟริกาใต้ ศูนย์วิจัยแห่งใหม่จึงมุ่งเน้นไปที่ การฟื้นฟูเมืองดิจิตอล สถานที่ตั้งของศูนย์วิจัยซึ่งอยู่ในพื้นที่แออัดจะช่วยให้คณะนักวิจัยชุดใหม่ของไอบีเอ็มสามารถสร้าง “Living Lab” เพื่อสำรวจบทบาทของเทคโนโลยีดิจิตอลขั้นสูงและการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าที่มีต่อการฟื้นฟูเมืองได้ ปัจจุบัน โมบายล์เทคโนโลยี ระบบระบุตำแหน่งที่ใช้ได้ทั่วโลก กล้อง และเซ็นเซอร์ มีให้เห็นทั่วไปในเมืองต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่บริการต่างๆ อาทิ การขนส่ง พลังงาน และความปลอดภัย เป็นต้น คณะนักวิจัยและองค์กรพันธมิตรของไอบีเอ็มจะเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นโดยใช้การสร้างแบบจำลองจากคอมพิวเตอร์ รวมถึง Internet of Things และ Cognitive System เพื่อให้เข้าถึงคนในชุมชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมของเมืองทั้งในแอฟริกาใต้และทั่วโลก การฟื้นฟูด้านสาธารณสุข คณะนักวิจัยของไอบีเอ็มที่ประจำศูนย์วิจัยในแอฟริกาใต้ จะคิดค้นวิธีการใหม่ๆด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าและการคำนวณโดยใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อยกระดับศักยภาพ ความสามารถในการประเมินผล และประสิทธิภาพของการดูแลสุขภาพในพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด ทั้งในแอฟริกาใต้และทั่วทวีปแอฟริกา ไอบีเอ็ม รีเสิร์ช ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวัณโรคและเอชไอวี ควาซูลู-นาตัล ( KwaZulu-Natal Research Institute for Tuberculosis and HIV: K-RITH ) เพื่อวิจัยวิธีการใหม่ๆในการรักษาวัณโรค ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าในการทดสอบพันธุกรรมแบคทีเรียและความอ่อนไหวต่อยาปฏิชีวนะ ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับกลไกของจีโนมิกส์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ บิ๊กดาต้าเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ คณะนักวิจัยชุดใหม่ของไอบีเอ็มจะดำเนินโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Square Kilometer Array (SKA) เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับจุดกำเนิดของจักรวาล ในภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยปรากฏ ทางคณะนักวิทยาศาสตร์จากแอฟริกาใต้จะทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากแอสตรอน ( ASTRON ) สถาบันดาราศาสตร์วิทยุของเนเธอร์แลนด์ และไอบีเอ็ม รีเสิร์ช ซูริก เพื่อเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าจำนวนมหาศาลจากห้วงอวกาศ ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลย้อนหลังไปจนถึงการเกิดบิ๊กแบงเมื่อกว่า 1.3 หมื่นล้านปีก่อน ไอบีเอ็มดำเนินงานในแอฟริกามาเกือบ 100 ปีแล้ว และปัจจุบันมีกิจการกระจายอยู่ใน 24 ประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ โมร็อกโก อียิปต์ ไนจีเรีย กานา แองโกลา เคนยา และแทนซาเนีย นอกจากนี้ ไอบีเอ็ม รีเสิร์ช แอฟริกา ยังถือเป็นองค์กรวิจัยเชิงพานิชย์แห่งแรกในภูมิภาคที่ทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาสำคัญๆของแอฟริกาอย่างลึกซึ้งและครอบคลุม พร้อมทั้งนำเสนอนวัตกรรมเชิงพานิชย์ที่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ศูนย์วิจัยแห่งแรกของไอบีเอ็มในแอฟริกาอยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อปี 2556 สำหรับศูนย์วิจัยแห่งใหม่ในแอฟริกาใต้จะสนับสนุนโครงการ Equity Equivalent Investment Programme (EEIP) ของไอบีเอ็ม และยึดหลักปฏิบัติสากลในการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีอย่างยั่งยืนโดยร่วมมือกับกรมการค้าและอุตสาหกรรม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไอบีเอ็มได้ทุ่มทุนเพื่อพัฒนาศูนย์บริการลูกค้าไอบีเอ็ม ศูนย์นวัตกรรม ศูนย์บริการ รวมถึงสำนักงานและศูนย์ข้อมูลหลายแห่งทั่วแอฟริกาใต้ ไอบีเอ็ม รีเสิร์ช กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 70 และยังคงเดินหน้าสร้างอนาคตแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับบรรดานักวิจัยมากกว่า 3,000 ชีวิต ในศูนย์วิจัย 12 แห่งทั่ว 6 ทวีป เหล่านักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็ม รีเสิร์ช สามารถผลิตผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 6 รายการ, เหรียญรางวัลเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐ 10 รายการ, เหรียญรางวัลวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ 5 รายการ, รางวัลทัวริง (Turing Awards) 6 รายการ อีกทั้งยังมีนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์ระดับชาติ 19 ท่าน และมีชื่อจารึกอยู่ในหอเกียรติยศนักประดิษฐ์แห่งชาติของสหรัฐ 14 ท่าน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าบริษัทใดๆทั้งสิ้น รับชมภาพศูนย์วิจัยใหม่ของไอบีเอ็มในแอฟริกาใต้ได้ที่ https://flic.kr/s/aHsk7AwKW9 ติดต่อ: โจนาธาน แบตตี้ ไอบีเอ็ม โกลบอล แล็บส์ อีเมล: JonathanB@uk.ibm.com โทร. +44 7880 086571 เจมส์ เซียเลส ไอบีเอ็ม สหรัฐอเมริกา อีเมล: sciales@us.ibm.com โทร. + 914-447-6202

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ