“สมาพันธ์หัวใจโลก” เรียกร้องรัฐบาลนานาประเทศใส่ใจแก้ปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด

ข่าวต่างประเทศ Friday September 23, 2016 08:08 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

นิวยอร์ก--23 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation: WHF) ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกเพิ่มความพยายามในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่อนที่จะถึงวันหัวใจโลก 29 กันยายนนี้ สมาพันธ์หัวใจโลกได้ส่งคำเรียกร้องไปยังรัฐบาลทั่วโลก เพื่อให้มีการบังคับใช้ระบบติดตามและเฝ้าระวังโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยให้สามารถป้องกัน รักษา และควบคุมโรคร้ายนี้ได้ดียิ่งขึ้น โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก โดยคร่าชีวิตผู้ป่วยราว 17.5 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตาม กว่า 80% ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้[1] ด้วยการแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค รวมถึงการรักษาด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อนหลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหลอดเลือดสมองตีบตัน ในวันนี้ (22 ก.ย.) ที่ประชุม Global Hearts Initiative ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ส่งสารไปยังรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายนานาประเทศ ให้ร่วมมือกันบังคับใช้มาตรการทั้งในระดับประชากรและระดับการรักษา เพื่อลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สมาพันธ์หัวใจโลกได้นำเสนอแนวทาง 3 ขั้นตอนที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้เก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพื่อนำไปกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1. ยกระดับระบบจดทะเบียนชีพและระบบจัดเก็บสาเหตุการเสียชีวิต 2. เพิ่มข้อมูลการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในระบบข้อมูลสุขภาพที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 3. จัดเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างย่อยของประชากร ว่าด้วยความครอบคลุมและคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงจัดเก็บข้อมูลเป็นระยะๆ เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมและการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย (เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การมีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง และไขมันในเลือดสูง) รวมถึงตัวแปรที่นำไปสู่ความเสี่ยงเหล่านี้ เช่น การโฆษณาอาหาร บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องในวันหัวใจโลกที่จะถึงนี้ ทางสมาพันธ์หัวใจโลกยังเตรียมเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการกำหนดนโยบาย ที่ชี้ให้เห็นช่องว่างและความจำเป็นในการบังคับใช้ระบบติดตามและเฝ้าระวังโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วโลก ดร.ซาลิม ยูซูฟ ประธานสมาพันธ์หัวใจโลก กล่าวว่า "เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบติดตามและเฝ้าระวังคือกุญแจสำคัญที่จะบอกได้ว่า นโยบายและกลยุทธ์ที่ใช้นั้นสามารถลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้หรือไม่ ซึ่งประเทศที่ใช้ระบบนี้มักจะประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากที่สุด" "เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เพิ่มความตั้งใจในการป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นเพื่อให้การติดตามและเฝ้าระวังประชากรของตนมีประสิทธิภาพมากขึ้น" ท่านสามารถมีส่วนร่วมในวันหัวใจโลกได้ด้วยการทวีตมายัง @worldheartfed โดยใส่แฮชแท็ก #HealthyHeartSelfie สามารถอ่านข้อเรียกร้องที่สมาพันธ์หัวใจโลกส่งไปถึงรัฐบาลทั่วโลก เพื่อให้มีการบังคับใช้ระบบติดตามและเฝ้าระวังโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เชื่อถือได้และตรงตามวัตถุประสงค์ รวมถึงดาวน์โหลดเทมเพลตจดหมายเรียกร้องของสมาพันธ์หัวใจโลกได้ที่ http://worldheartday.org/category/news/ http://www.worldheartday.org อ้างอิง 1. http://www.world-heart-federation.org/what-we-do/world-heart-day/about-world-heart-day/ ที่มา: The World Heart Federation (WHF)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ