“เซียงหยาง” ต้นแบบการพัฒนาเมืองในเขตภาคกลางของจีน

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 19, 2017 13:05 —Asianet Press Release

เซียงหยาง, จีน--19 ก.ย.--ซินหัว-เอเชียเน็ท/อินโฟเควสท์ เวลาผ่านไป 5 ปี นับจากวันที่เมืองเซียงหยางในมณฑลหูเป่ยของจีน ได้เริ่มโครงการพัฒนาตัวเมือง โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้ลงทุนเป็นเงินกว่า 1.40 แสนล้านหยวน (2.13 หมื่นล้านดอลลาร์) ในการสร้างเมืองใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเมือง โดยมีการก่อสร้างสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างระบบขนส่งมวลชนและสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมใหม่ๆ ซึ่งทำให้ชาวเมืองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้น และมีสุขภาพที่ดี โครงการก่อสร้างสะพานแขวน "ผังกง" มูลค่า 1.13 พันล้านหยวน เป็นโครงการความร่วมมือแรกระหว่างรัฐบาลและชุมชน มีความยาว 2.7 กม. ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในเมืองได้เป็นอย่างดี เฉิน หลง ชาวเซียงหยาง กล่าวว่า "การขับรถในเมืองจะมีความสนุกสนานมากขึ้น" รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ขนาด 600 หมู่ (40 เฮกตาร์) ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่มูลค่าของที่ดินได้พุ่งขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นรัฐบาลจึงมีทางเลือกเพียงสองทาง คือทำตามแผนการเดิมหรือใช้ที่ดินเพื่อจุดประสงค์ในการควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรัฐบาลเลือกอย่างแรก โดยลงทุนเพิ่มอีก 200 ล้านหยวน เพื่อสร้างสวนขนาด 4 แสนตารางเมตรบนพื้นที่ทำเลทองดังกล่าว ส่วนพื้นที่อีกแห่งซึ่งอยู่ทางใต้นั้น สามารถเดินทางได้สะดวกและมีสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่น เดิมรัฐบาลมีแผนที่จะสร้างอาคารที่พักอาศัยของข้าราชการท้องถิ่นบนพื้นที่แห่งนี้ แต่คณะผู้ว่าการเมืองได้ตัดสินใจยกเลิกแผนการดังกล่าวเพื่อสร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมสำหรับประชาชนแทน เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่สายน้ำในแม่น้ำลำคลองหลายสายได้ไหลผ่านเมืองเซียงหยาง ดังนั้นรัฐบาลท้องถิ่นจึงตัดสินใจริเริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพและอนุรักษ์แม่น้ำ 9 สายที่ทำให้ภูมิทัศน์ของเมืองแห่งนี้มีความโดดเด่นและน่าหลงใหล นอกจากโครงการสิ่งปลูกสร้างต่างๆแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับด้านวัฒนธรรมในฐานะส่วนสำคัญของการพัฒนาเมืองอีกด้วย โดยท่าเทียบเรือหลายแห่งซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากประวัติศาสตร์ด้านการขนส่งทางเรืออันเกาแก่ของเมือง ก็ได้รับการบูรณะในฐานะประตูสู่วัฒนธรรมอันโดดเด่นและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ขณะที่รูปแกะสลักที่บอกเล่าถึงการละเล่นพื้นบ้านและกิจกรรมสันทนาการในอดีต เช่น การเล่นลูกข่าง การชนไก่ และการเดินบนไม้ต่อขา ก็ปรากฏให้เห็นอยู่เรียงรายบนถนนสายหลักและสวนสาธารณะของเมือง นอกเหนือจากรถประจำทาง 5 สายที่ตกแต่งด้วยรูปสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นเอกลักษณ์ของเมือง ซึ่งปรากฏสู่สายตาผู้คนทั้งกลางวันและกลางคืนแล้ว ถังขยะที่ตั้งอยู่ริมถนนสายหลัก สวนสาธารณะ ที่จอดรถ และบนสะพาน ก็ล้วนมีการพิมพ์เป็นรูปโบราณสถานต่างๆของเมือง ซึ่งสามารถถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยาวนานของเซียงหยางได้เป็นอย่างดี การผสมผสานองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองเข้ากับสิ่งปลูกสร้างของเมืองสมัยใหม่นั้น ถือเป็นแนวทางที่รัฐบาลท้องถิ่นได้ยึดถือปฏิบัติเรื่อยมา เพื่อให้แน่ใจว่า อาคารต่างๆจะสามารถกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมและแลนด์มาร์คของเมือง ขณะเดียวกันก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชาวเมืองได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จึงได้รับการออกแบบและก่อสร้างอย่างพิถีพิถัน โดยวัดวาอาราม รูปแกะสลัก และประตูโบราณ ล้วนได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีในฐานะประจักษ์พยานความรุ่งเรืองของเซียงหยางในอดีตกาล นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เร่งกระบวนการบูรณะโบราณสถานต่างๆ เพื่อโปรโมทเซียงหยางในฐานะเมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง ต้นปี 2014 รัฐบาลเมืองเซียงหยางได้ประกาศแผนการที่จะเนรมิตเมืองเซียงหยางให้เป็นเมืองสีเขียว โดยที่การวางแปลนพื้นที่สีเขียวและปลูกต้นไม้ถือเป็นงานสำคัญลำดับต้นๆในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของเมือง ผู้คนจะสามารถพบเห็นพื้นที่สีเขียวได้ภายในระยะ 500 เมตร หรือพบสวนหย่อมทุกๆ 1,000 เมตร และแม่น้ำลำธารทุกๆ 2 กม. ตามสโลแกนระบบนิเวศสีเขียวของเมือง สำหรับระบบการจราจรภายในเมืองก็มีความทันสมัยเช่นกัน ด้วยโครงการสร้างสะพานหลายแห่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง นอกจากนี้รัฐบาลยังเดินหน้าก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งยกระดับโครงข่ายถนนและระบบการจราจรให้มีความครอบคลุม โครงการก่อสร้างสะพานและทางหลวงเส้นใหม่ๆได้ดำเนินการแล้วเสร็จอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ถนนวงแหวนรอบนอกสามารถบรรเทาความหนาแน่นของการจราจรในตัวเมืองได้เป็นอย่างดี โดยจากสถิติพบว่า รัฐบาลได้สร้างหรือบูรณะถนนเส้นต่างๆ รวม 135 เส้น รวมความยาว 205 กม. โดยที่ถนน 15 เส้นสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบจราจรภายในเมือง นอกจากนี้ยังมีการสร้างทางเดินลอยฟ้า 10 แห่งและทางเดินใต้ดินอีก 2 แห่ง และมีการปรับปรุงสถานีรถกว่า 100 แห่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย รัฐบาลเมืองเซียงหยางได้ดำเนินการบูรณะเมืองเก่าและสร้างเมืองใหม่ไปพร้อมๆกัน โดยนับจนถึงปี 2016 รัฐบาลท้องถิ่นสามารถทำข้อตกลงกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนกว่า 90% ได้แล้ว โดยพื้นที่เหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วยสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า และตึกสำนักงานในอนาคต และด้วยเครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อเมืองเซียงหยางกับเมืองต่างๆทั่วประเทศจีน จะทำให้เซียงหยางสามารถต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากพื้นที่ห่างไกลได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ที่มา: รัฐบาลเมืองเซียงหยาง ลิงค์รูปภาพ: http://asianetnews.net/view-attachment?attach-id=296697 AsiaNet 70131

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ