สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนมกราคม ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2011 13:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 4/2554

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนมกราคม 2554 โดยรวมชะลอลง แม้ว่าในภาคการผลิต ทั้งผลผลิตเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลงก็ตาม เนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่เป็น ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงขยายตัวตามรายได้ของเกษตรกรที่อยู่ในระดับสูงจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญทั้งยางและปาล์มน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการลงทุนด้านการก่อสร้าง และจำนวนเงินลงทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การท่องเที่ยวและการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตภาคการเกษตรลดลง ทั้งผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันไม่เพียงพอกับความต้องการส่งผลให้ดัชนีราคาพืชผลเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนร้อยละ 64.8 โดยราคายางและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66.3 และ 123.4 ทำให้รายได้เกษตรกรปรับเพิ่มขึ้น ทางด้านผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 5.8 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ผลผลิตลดลงร้อยละ 10.3 เนื่องจากการผลิตยางแปรรูป และถุงมือยางที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเร่งตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่น้ำมันปาล์มดิบ และอาหารทะเลแช่แข็งยังคงลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องจากปริมาณวัตถุดิบลดลง

ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่าน ด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.9 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 ทั้งการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน และภาคใต้ชายแดน ผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวตามรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามจากการที่ระดับระดับราคาสินค้าโดยทั่วไป และราคาน้ำมันที่โน้มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย เห็นได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มและหมวดยานยนต์ชะลอลง

การลงทุนภาคการก่อสร้างขยายตัว จากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.9 และจำนวนเงินลงทุนรวมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.3

การส่งออก ขยายตัวร้อยละ 30.3 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าส่งออกยางพาราเป็นสำคัญ รวมทั้งถุงมือยาง น้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำมันดิบ ด้านการนำเข้าขยายตัวสูงร้อยละ 91.5 ตามมูลค่าการนำเข้าแท่นผลิตก๊าซ และแท่นเจาะ เป็นสำคัญ รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสัตว์น้ำแช่แข็ง

การค้าผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ส่งออกเร่งตัวขึ้นร้อยละ 31.9 โดยเฉพาะสินค้าหมวดยางพาราเร่งขึ้นร้อยละ 50.6 ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 จากสินค้าสื่อบันทึกข้อมูล และเครื่องประมวลผลข้อมูลเป็นสำคัญ

แม้ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่เงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัวร้อยละ 12.9 ทั้งสินเชื่อเพื่อธุรกิจและสินเชื่อการอุปโภคบริโภค ขณะที่เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 8.5 จากการขยายฐานเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ตามราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 โดยเฉพาะผักและผลไม้ อาหารสำเร็จรูป ที่มีราคาสูงขึ้น ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.96 จากการลดลงของไฟฟ้า และประปา ซึ่งเป็นผลจากการลดค่า Ft ต่อหน่วยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : สมถวิล ศิริบูรณานนท์

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4346 e-mail : Somtawis@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ