แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 1 ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2012 11:31 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 08/2555

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่ชะลอลง เป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวเนื่องจากการลดลงของราคามันสำปะหลังและยางพาราเป็นสำคัญ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.93 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ หดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 โดยดัชนีราคาพืชสำคัญหดตัวร้อยละ 4.2 เป็นผลจากการลดลงของราคามันสำปะหลังและราคายางพาราที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงเนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างไรก็ตาม ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและอ้อยยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.9 จากผลผลิตอ้อยโรงงาน มันสำปะหลังและยางพารา

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.9 ตามการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลทรายดิบเนื่องจากมีผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานมากขึ้น ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการ ส่วนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) กลับเข้าสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับภาวะปกติหลังจากอุทกภัยในภาคกลางคลี่คลายลง

ภาคการค้า ดัชนีการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงของการค้าในทุกหมวด เนื่องจากปัญหาการส่งมอบสินค้าหลังประสบอุทกภัยในภาคกลางในช่วงปลายปีส่งผลให้การค้ายานยนต์ การค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และวัสดุก่อสร้างชะลอลง แต่การค้ากลับมาขยายตัวในเดือนกุมภาพันธ์

การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.0 จากระยะเดียวกันของปีก่อนชะลอลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย สะท้อนจากองค์ประกอบทุกตัวที่ชะลอลงทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ยอดจดทะเบียนรถยนต์ถึงแม้จะชะลอลงแต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนไตรมาสนี้ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 6.0 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 จากการที่ผู้ประกอบการรอดูผลกระทบจากต้นทุนที่มีการปรับเพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน พลังงาน และวัตถุดิบ เป็นต้น สำหรับการใช้ไฟฟ้าของภาคการค้าและอุตสาหกรรมชะลอลง ในขณะที่ยอดการขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีในประเภทอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

การใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.3 โดยงบประจำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49.7จากรายจ่ายในหมวดเงินเดือนและเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยเฉพาะจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม งบลงทุนลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 53.9 เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งล่าช้ากว่าปีก่อน

เสถียรภาพราคาเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.93 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ น้ำตาลและอาหารสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าราคาในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างเริ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.44 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน

ภาวะการจ้างงาน การจัดหางานของรัฐในภาคมีผู้สมัครงานจำนวน 27,483 คน ชะลอตัวร้อยละ 0.3 ขณะที่ตำแหน่งงานว่างมีจำนวน 17,211 อัตรา และการบรรจุงานจำนวน 13,921 คน หดตัวร้อยละ 1.5 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ ส่วนแรงงานไทยที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 19,621 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เดินทางไปยังประเทศไต้หวัน เกาหลีและสิงคโปร์ โดยจังหวัดที่มีแรงงานไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ อุดรธานี นครราชสีมา และขอนแก่น

เงินฝากธนาคารพาณิชย์ เงินฝากขยายตัวจากไตรมาสก่อน โดยขยายตัวจากเงินฝากทุกประเภทโดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์ที่เร่งตัว ผลจากเงินฝากของส่วนราชการและฐานสูงจากการเร่งระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินเชื่อขยายตัวจากไตรมาสก่อน ภายหลังจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลงทำให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้คล่องตัวขึ้นส่งผลให้สินเชื่อการค้าปลีก สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

เงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เงินฝากขยายตัวจากไตรมาสก่อนจากเงินฝากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากของส่วนราชการประเภทออมทรัพย์ที่นำมาฝากหลังได้รับจัดสรรงบประมาณ ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน จากสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่ขยายตัวตามสินเชื่อในนโยบายโครงการรับจำนำข้าวเป็นสำคัญธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ