การใช้หลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลบริการทางการเงินสำหรับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Principles for Product Transparency and Disclosure on Cross-Border Trade Settlement)

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 27, 2015 15:17 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 2/2558

ธนาคารกลาง 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้จัดตั้งคณะทำงานด้านระบบการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Central Banks’ Working Committee on Payment and Settlement Systems: WC-PSS) ขึ้นเมื่อปี 2553 เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการชำระเงินของแต่ละประเทศในกลุ่มให้พร้อมรองรับการรวมตัวทางการเงินของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)

คณะทำงานคณะทำงานด้านระบบการชำระเงินในอาเซียน (The ASEAN Central Banks’ Working Committee on Payment and Settlement Systems) ได้จัดทำหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลบริการทางการเงินสำหรับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (หลักเกณฑ์ฯ) (Principles for Product Transparency and Disclosure on Cross-Border Trade Settlement) เพื่อให้การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและการให้บริการของสถาบันการเงินในภูมิภาคที่เกี่ยวกับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศมีความโปร่งใส

หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใช้บริการทางการเงินที่ทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ มีข้อมูลสำคัญที่ชัดเจน และเข้าถึงได้ง่าย ที่จะใช้เปรียบเทียบในการตัดสินใจเลือกใช้บริการจากสถาบันการเงิน โดยธนาคารพาณิชย์ในไทยได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตามประกาศ ธปท. ที่ สนส. 80/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ส่วนลดค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับสำหรับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ฯ นี้ ทั้งนี้ ประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย จะนำร่องใช้หลักเกณฑ์ฯ นี้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ขณะที่ประเทศในกลุ่มที่เหลือ ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม จะใช้หลักเกณฑ์ฯ นี้ภายในปี 2558

นอกจากการใช้หลักเกณฑ์ฯ นี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกรรมการชำระดุลธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศในอาเซียนแล้ว คณะทำงานฯ ยังได้ศึกษาแนวทางสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่น เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคในเรื่องดังกล่าวด้วย

คณะทำงานฯ ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินของกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการรวมตัวทางการเงินของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกเป็นสำคัญที่จะสนับสนุนให้บริการด้านการชำระเงินระหว่างประเทศมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม : ฝ่ายนโยบายระบบการชาระเงิน

โทรศัพท์ : 0-2283-5077

E-mail : WipasaK@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ