การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบธุรกิจเพิ่มเติมและมีสำนักงานสาขา

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday August 2, 2000 10:34 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                27  กรกฎาคม  2543เรียน  ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส. (12) ว. 1681 / 2543 เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบธุรกิจเพิ่มเติมและมีสำนักงานสาขา
ตามที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีนโยบายในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจเพิ่มเติม และมีสำนักงานสาขา (SuperFinance) ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขออนุญาตประกอบธุรกิจเพิ่มเติมและมีสำนักงานสาขา ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2540 โดยในขณะนั้นมีบริษัทเงินทุนที่ได้ยื่นคำขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย 3 บริษัท คือ บริษัทเงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด(มหาชน) และบริษัทเงินทุนสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว และออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขออนุญาตจัดตั้งธนาคารที่จำกัดขอบเขตธุรกิจ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2541 แทน ทั้งนี้ บริษัทเงินทุนทั้ง 3 แห่ง กล่าวคือ บริษัทเงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) ได้เปลี่ยนมายื่นคำขอจัดตั้งธนาคารที่จำกัดขอบเขตธุรกิจแทน บริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) จะคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนส่วนบริษัทเงินทุนสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) ยังคงยืนยันที่จะขอให้กระทรวงการคลัง และ ธนาคาร แห่งประเทศไทยพิจารณาตามคำขอที่ได้ยื่นไว้แล้ว
บัดนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาคำขอของบริษัทเงินทุนสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) แล้ว จึงแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 มาตรา 20(6) และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุญาตและให้ความเห็นชอบให้บริษัทเงินทุนสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจเพิ่มเติมและมีสำนักงานสาขาได้ ดังต่อไปนี้
(1) การเปิดบัญชีรับฝากเงินแบบออมทรัพย์และประจำโดยใช้สมุดคู่ฝาก
(2) การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ
(3) การมีสำนักงานสาขาในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 2 ฉบับ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดบัญชีรับฝากเงินแบบออมทรัพย์และประจำโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัท เงินทุน ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2543 และเรื่อง การกำหนดระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการรับฝากเงินแบบออมทรัพย์และประจำโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2543 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 117 ตอนที่ 59 ง ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2543
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล)
รองผู้ว่าการ (เสถียรภาพสถาบันการเงิน)
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดบัญชีรับฝากเงินแบบ ออมทรัพย์และประจำโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2543
2.ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการรับฝากเงินแบบออมทรัพย์และ ประจำโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุนลงวันที่ 15 มิถุนายน 2543
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5304, 283-5303, 283-5868
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ……….. ณ …………
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว00-กส31002-25430727ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดบัญชี
รับฝากเงินแบบออมทรัพย์และประจำ โดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน
_________________________________________
อาศัยอำนาจตามมาตรา 20(6) มาตรา 27 และมาตรา 30 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดบัญชีรับฝากเงินแบบออมทรัพย์และประจำโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้ “บริษัทเงินทุน” หมายความว่า บริษัทเงินทุนที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้รับฝากเงินจากประชาชนโดยใช้สมุดคู่ฝากได้ และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบัญชีเงินฝากได้
ข้อ 2 วิธีปฏิบัติในการรับฝากเงินจากประชาชนโดยใช้สมุดคู่ฝาก และการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบัญชีเงินฝาก
2.1 ให้บริษัทเงินทุนรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ โดยวิธีออกสมุดคู่ฝากได้
การรับฝากเงินข้างต้นบริษัทเงินทุนต้องออกสมุดคู่ฝากเป็นหลักฐานการรับฝากเงิน และไม่ใช้เช็คในการถอน
2.2 ให้บริษัทเงินทุนประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบัญชีเงินฝากได้ คือ
(1) โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝาก
(2) รับเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝาก
(3) จ่ายชำระค่าบริการสาธารณูปโภค
(4) จ่ายชำระเงินกู้ยืมตามบัตรเครดิต และเงินกู้ยืมอื่น ๆ
2.3 เมื่อบริษัทเงินทุนได้รับฝากเงินและออกสมุดคู่ฝากแก่ผู้ฝากแล้ว บริษัทเงินทุนจะให้ผู้ฝากถอนเงินหรือฝากเงินที่สำนักงานซึ่งออกสมุดคู่ฝากนั้น หรือสำนักงานอื่นของบริษัทเงินทุนนั้นก็ได้
2.4 ห้ามมิให้บริษัทเงินทุนรับเงินหรือให้ถอนเงินฝากนอกสำนักงานและนอกเวลาทำการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
2.5 ให้บริษัทเงินทุนแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนประกอบธุรกิจรับฝากเงินโดยออกสมุดคู่ฝากและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบัญชีเงินฝาก
ข้อ 3 การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย หรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรือเรียกได้ ให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝากแบบออมทรัพย์หรือประจำ โดยใช้สมุดคู่ฝาก ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และที่จะแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2543
(ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการรับฝากเงิน
แบบออมทรัพย์และประจำ โดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน
_________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 ตรี แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบควบคุมภายใน เพื่อให้บริษัทเงินทุน ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดบัญชีรับฝากเงินแบบออมทรัพย์และประจำ โดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน ฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2543 ถือปฏิบัติต่อไปนี้
ข้อ 1 ระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการรับฝากเงินโดยออกสมุดคู่ฝาก
1.1 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีระเบียบและวิธีการจัดเก็บรักษา และการเบิกใช้เอกสารสำคัญรวมทั้งแบบพิมพ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ เช่น สมุดคู่ฝาก คำขอเปิดบัญชี แผ่นถ่ายทอดลายมือชื่อ(Transparent Paper) เป็นต้น พร้อมกับจัดทำทะเบียนควบคุมให้เป็นปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่และจำนวนที่ได้รับจากโรงพิมพ์ วันที่และจำนวนที่เบิกใช้และยอดคงเหลือ
1.2 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการเบิกเอกสารสำคัญและแบบพิมพ์ (ตามข้อ 1.1) ในการเบิกจ่ายทุกครั้งต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบลงนามไว้เป็นหลักฐานร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการเก็บรักษา
1.3 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีการตรวจนับยอดคงเหลือของเอกสารสำคัญ และแบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้ใช้เปรียบเทียบกับทะเบียนควบคุม (ตามข้อ 1.1) อย่างน้อยเดือนละครั้ง
1.4 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดพนักงานซึ่งมีสิทธิทำรายการหรืออนุมัติรายการประเภทต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชี การปิดบัญชี การฝากถอนบัญชีที่ขาดการติดต่อ การฝากถอนต่างสาขาในกรณีที่บัญชีมีเงื่อนไขต้องผ่านการอนุมัติจากผู้มีอำนาจสาขาที่ให้เปิดบัญชี เป็นต้น รวมทั้งกำหนดวงเงินที่เจ้าหน้าที่แต่ละระดับมีสิทธิทำรายการฝากถอนเงินและโอนเงิน
1.5 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดวงเงินสดสูงสุดในมือที่พนักงานรับเงิน (Teller) สามารถถือได้และกำหนดมาตรการควบคุมการเบิกและส่งมอบเงินสดกับผู้รักษาเงิน (Cashier)
1.6 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบและแยกบัญชีที่ขาดการติดต่อไว้ต่างหาก และมีการควบคุมการทำรายการของบัญชีที่ขาดการติดต่ออย่างรัดกุม
1.7 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของรายการทั้งก่อนและหลังแก้ไขหรือปรับปรุง การอนุมัติรายการโดยผู้มีอำนาจและการจัดเก็บเอกสารขั้นต้นไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงในภายหลัง
1.8 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีรายงานพิเศษสำหรับใช้ควบคุมและตรวจสอบโดยผู้บริหาร เช่น การทำรายการที่มีจำนวนเงินสูง การทำรายการสำคัญที่ต้องผ่านการอนุมัติรายการ การแก้ไขรายการที่ไม่เป็นตัวเงิน เป็นต้น
1.9 ในการเปิดบัญชีเงินฝาก ให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติดังนี้
(1) ตรวจสอบเอกสารทางราชการที่แสดงชื่อและที่อยู่ของผู้ฝาก รวมทั้งจัดให้มีสำเนาเอกสารหลักฐานดังกล่าวและบัตรตัวอย่างลายมือชื่อเก็บรักษาไว้ที่บริษัทอย่างปลอดภัย
(2) ควบคุมการเบิกจ่ายสมุดคู่ฝากให้เป็นไปตามลำดับของหมายเลขสมุดคู่ฝากที่โรงพิมพ์ได้จัดพิมพ์ไว้ล่วงหน้า และหากมีการยกเลิกสมุดคู่ฝากเล่มใด ต้องประทับตรา “ยกเลิก” ในสมุดคู่ฝากทุกหน้า และให้จัดเก็บไว้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและตรวจสอบต่อไป
(3) ตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของคำขอเปิดบัญชี การทำรายการเปิดบัญชีที่รัดกุม เช่น รายการเปิดบัญชีห้ามทำต่างสาขา ห้ามเปิดบัญชีเลขที่ซ้ำทั้งเลขที่บัญชีที่ปิดไปแล้ว และที่ยังไม่ปิด เป็นต้น
(4) ตรวจสอบว่ามีผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติการเปิดบัญชี
1.10 ในการรับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน และปิดบัญชีเงินฝาก ให้บริษัทเงินทุน ถือปฏิบัติดังนี้
(1) ตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของข้อมูลเอกสาร การทำรายการฝาก ถอน โอนเงิน และปิดบัญชี ตลอดจนการอนุมัติรายการโดยมีผู้มีอำนาจ
(2) ตรวจสอบเอกสารหลักฐานทางราชการที่แสดงชื่อ หรือที่อยู่ของผู้ถอนเงินฝากและผู้ที่ขอปิดบัญชี
(3) ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของลายมือชื่อผู้ที่เปิดบัญชี ในการถอนเงินฝากและปิดบัญชี
(4) ตรวจนับเงินสดคงเหลือในมือของพนักงานรับเงิน (Teller) และกระทบยอดกับยอดรวม Teller Total อย่างน้อยทุกสิ้นวันทำการ
(5) พิสูจน์ยอดรวมจำนวนรายการฝากและจำนวนเงินที่ฝากทั้งหมดกับใบสรุปยอดนำฝากทั้งหมดทุกสิ้นวัน
1.11 การจ่ายคืนเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ให้บริษัทจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมเข้าบัญชีของผู้ฝากเงิน (Account Payee Only) หรือโอนเงินเข้าบัญชีผู้ฝากเงินโดยผ่านบริการบาทเนตของธนาคารแห่งประเทศไทย
การจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ ให้บริษัทนำเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ฝากเงินทุกสิ้นงวดการบัญชี
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2543
(ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป00-กส31002-25430727ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ