ร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 22, 2012 10:40 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

และร่างระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

1. ร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

1.1 กำหนดให้ข้าราชการซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรจะมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างลาได้ไม่เกิน 15 วันทำการ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเป็นการลาภายใน 30 วันแรก นับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตรจะมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างลา แต่ถ้าเป็นการลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ภายหลังจากที่พ้น 30 วันแรก นับแต่วันที่ภริยาได้คลอดบุตรจะมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างลาหรือไม่ ให้เป็นไปตามที่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดีหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปพิจารณาเห็นสมควร(ร่างมาตรา 3)

1.2 กำหนดให้ข้าราชการที่ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างลา(ร่างมาตรา 4)

1.3 กำหนดให้ข้าราชการผู้ใดซึ่งยังไม่เคยอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเว้นแต่เป็นการอุปสมบทโดยไม่ถือเป็นวันลาตามมติคณะรัฐมนตรี หรือยังไม่เคยประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ แล้วแต่กรณี ให้ลาโดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา ได้ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน(ร่างมาตรา 5)

1.4 กำหนดให้ข้าราชการซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาเพื่อไปฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างลาได้ไม่เกินสิบสองเดือน (ร่างมาตรา 6)

2. ร่างระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.1 กำหนดให้ลูกจ้างประจำซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรจะมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างลาได้ไม่เกิน 15 วันทำการ โดยมีเงื่อนไขว่า หากเป็นการลาภายใน 30 วันแรก นับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตรจะมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างลา แต่ถ้าเป็นการลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ภายหลังจากที่พ้น 30 วันแรกนับแต่วันที่ภริยาได้คลอดบุตรจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างลาหรือไม่ ให้เป็นไปตามที่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดีหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปพิจารณาเห็นสมควร (ร่างข้อ 3)

2.2 กำหนดให้ลูกจ้างประจำผู้ใดซึ่งยังไม่เคยอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เว้นแต่เป็นการอุปสมบทโดยไม่ถือเป็นวันลาตามมติคณะรัฐมนตรี หรือยังไม่เคยประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ แล้วแต่กรณี ให้ลาโดยได้รับค่าจ้างระหว่างลาได้ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน (ร่างข้อ 4)

2.3 กำหนดให้ลูกจ้างประจำซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาเพื่อไปฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพมีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างลาได้ไม่เกินสิบสองเดือน (ร่างข้อ 5)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ