มาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557 — 2561)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2013 06:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ตามที่ คปร. เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2557 — 2561) ทั้งมาตรการบริหารจัดการอัตรากำลังปกติ มาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และแนวทางการนำมาตรการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ

2. ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) รับไปพิจารณาปรับปรุงแนวทางการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการให้เหมาะสมให้ได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ มี Attitude มี Service Mind และพิจารณาแนวทางการสอบคัดเลือกในภาพรวมข้าราชการพลเรือน ภาคต่าง ๆ องค์กรอิสระให้มีบรรทัดฐานเดียวกันในระยะยาว

สาระสำคัญของเรื่อง

คปร. รายงานว่า

เพื่อให้การบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนายุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2561) รวมทั้งตอบสนองต่อบริบทการบริหารราชการและสภาพกำลังคนภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการกำลังคนของส่วนราชการอันจะนำไปสู่การพัฒนากำลังคนภาครัฐให้มีขีดสมรรถนะสูง ประกอบกับเพื่อให้มีกลไกสำหรับควบคุมอัตรากำลังและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลให้เหมาะสมกับภารกิจของรัฐ คปร. ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 มีมติเห็นชอบมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557-2561) ดังต่อไปนี้

1. หลักการ

1.1 การบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐต้องมีความสอดคล้องกับความจำเป็นในการปฏิบัติภารกิจในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต

1.2 การบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐต้องเน้นทั้งเชิงปริมาณ (จำนวนและความพอเพียง) และเชิงคุณภาพ (ขีดสมรรถนะและศักยภาพ) ของบุคลากรภาครัฐ

1.3 การบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐต้องคำนึงถึงผลิตภาพ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐ

1.4 การบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐต้องมีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ ปัญหาและสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของส่วนราชการ

2. เป้าหมาย

2.1 ส่วนราชการในสังกัดฝ่ายบริหารมีกำลังคนที่เหมาะสมสำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย พันธกิจและยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงบริบทการบริหารราชการในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ

2.2 ส่วนราชการในสังกัดฝ่ายบริหาร สามารถบริหารและพัฒนากำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า โดยมีอัตรากำลังและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลที่เหมาะสมกับภารกิจ

2.3 กำลังคนภาครัฐในสังกัดฝ่ายบริหารได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสามารถที่พร้อมรองรับการปฏิบัติภารกิจ มีแรงจูงใจและมีความสุขในการปฏิบัติงาน

3. ขอบเขต

มาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557 — พ.ศ. 2561) ครอบคลุมกำลังคนภาครัฐ ได้แก่ ข้าราชการ (ไม่รวมข้าราชการทหาร) พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำและกำลังคนประเภทอื่นในส่วนราชการสังกัดฝ่ายบริหารที่ใช้งบประมาณงบบุคลากรจากงบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน

4. มาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ

4.1 มาตรการบริหารจัดการอัตรากำลังปกติ

1) การเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่

(1.1) ไม่ให้เพิ่มอัตราตั้งใหม่ในภาพรวมสำหรับข้าราชการทุกประเภท ยกเว้นกรณีจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

(1.2) ในกรณีที่ส่วนราชการมีการขออัตราข้าราชการตั้งใหม่ ให้ฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. ร่วมกับส่วนราชการหรือองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคล ศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมภารกิจ อัตรากำลังทุกประเภท และค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของส่วนราชการ พร้อมทั้งเหตุผลความจำเป็น เสนอ คปร. พิจารณา และหาก คปร. พิจารณาเห็นควรให้มีการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

2) การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการ

(2.1) ไม่ยุบเลิกอัตราข้าราชการในภาพรวม และจัดสรรอัตราข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการตำรวจ จากผลการเกษียณอายุคืนในภาพรวมของกระทรวงหรือองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อให้ อ.ก.พ. กระทรวงหรือองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลสามารถเกลี่ยอัตรากำลังให้สอดคล้องกับความจำเป็นตามภารกิจของส่วนราชการ ได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น

(2.2) ให้ส่วนราชการที่มีตำแหน่งข้าราชการเกษียณอายุในแต่ละปี แจ้งตำแหน่งที่เห็นสมควรยุบเลิกเท่ากับจำนวนตำแหน่งที่เกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณไปยัง อ.ก.พ. กระทรวงหรือองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อให้พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ คปร.กำหนด

(2.3) ให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคล พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงหรือองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ คปร. กำหนด

(2.4) เมื่อพิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ ให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลแล้วแต่กรณีแจ้งผลการดำเนินการให้ คปร. ทราบ

4.2 มาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์

1) ยุทธศาสตร์การวางแผนบริหารกำลังคนให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Strategic Workforce Planning and Management)

1.1) เป้าประสงค์

  • ส่วนราชการสามารถจัดอัตรากำลังให้สอดคล้องกับความจำเป็นตามภารกิจ และพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทการบริหารราชการ
  • ส่วนราชการมีแนวทางในการติดตาม ตรวจสอบ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้กำลังคนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

1.2) ตัวชี้วัด (ภายในปี พ.ศ. 2561)

  • ร้อยละ 80 ของส่วนราชการมีแผนกำลังคนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารราชการ
  • ร้อยละ 80 ของส่วนราชการมีแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้อัตรากำลัง

2) ยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนและสร้างความพร้อมเชิงกลยุทธ์ (Develop Workforce Strategic Readiness)

(2.1) เป้าประสงค์

(1) กำลังคนภาครัฐได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมทั้งด้านความรู้ ความสามารถ และทักษะ (Skill Set) รวมทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสม (Mindset) ในการปฏิบัติงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

(2) ส่วนราชการมีกำลังคนคุณภาพเพียงพอสำหรับการเป็นผู้นำขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ

(3) ส่วนราชการมีความพร้อมรองรับการสูญเสียอัตรากำลังจากแนวโน้มการเกษียณอายุ เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการบริหารราชการ

(4) ผู้บริหารและนักทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการมีสมรรถนะในการปฏิบัติงานในฐานะเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner)

(2.2) ตัวชี้วัด (ภายในปี พ.ศ. 2561)

(1) ร้อยละ 100 ของข้าราชการได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะ ตามแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

(2) สัดส่วนของกำลังคนคุณภาพเทียบกับจำนวน ตำแหน่งระดับสูงในแต่ละส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 100

(3) ร้อยละ 80 ของส่วนราชการมีการจัดทำแผนสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Planning) หรือแผนสืบทอดตำแหน่งเพื่อสร้างความต่อเนื่องในการบริหารราชการ (Succession Plan)

(4) ร้อยละ 80 ของผู้บริหารและนักทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการผ่านหลักสูตรการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Professional) ของสำนักงาน ก.พ. หรือที่องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลกำหนด

4) ยุทธศาสตร์การดึงดูดและรักษากำลังคนที่มีคุณภาพในภาครัฐ

3.1) เป้าประสงค์

(1) ส่วนราชการสามารถดึงดูดและรักษากำลังคนที่มีคุณภาพไว้ในระบบราชการ

(2) กำลังคนภาครัฐมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีแรงจูงใจในการสร้างและพัฒนาผลงาน

3.2) ตัวชี้วัด (ภายในปี พ.ศ. 2561)

(1) ร้อยละ 50 ของส่วนราชการมีแผนปฏิบัติการปรับปรุงองค์กรไปสู่การเป็น Employer of Choice เพื่อดึงดูดกำลังคนรุ่นใหม่

(2) ร้อยละ 80 ของข้าราชการในแต่ละส่วนราชการ มีความเชื่อมั่นต่อระบบการบริหารผลงานและการประเมินผลการปฏิบัติงาน

(3) ร้อยละ 80 ของข้าราชการในแต่ละส่วนราชการ มีความพึงพอใจต่อแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของส่วนราชการ

4.3 แนวทางการนำมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐไปสู่การปฏิบัติ

(1) ให้สำนักงาน ก.พ. (สำหรับกรณีข้าราชการพลเรือนสามัญ) และองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคล (สำหรับกรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการตำรวจ) ดำเนินการดังนี้

(1.1) จัดทำแนวปฏิบัติและคู่มือแนวทางการดำเนินการในเรื่องต่างๆ (Guidelines) ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557 — 2561) ทั้งมาตรการบริหารจัดการอัตรากำลังปกติ และมาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้ส่วนราชการสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม

(1.2) ร่วมกับส่วนราชการแต่ละแห่งในการวิเคราะห์ว่าเรื่องใดในยุทธศาสตร์การบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557 — 2561) มีความจำเป็นหรือมีผลกระทบสูงต่อการบริหารราชการ และสนับสนุน ส่งเสริม ให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ส่วนราชการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม หากจำเป็นอาจจัดให้มีการทดลองนำร่องการดำเนินการในบางเรื่องก่อนก็ได้

กรณีที่เห็นว่ามีเรื่องซึ่งมีผลกระทบสูงต่อส่วนราชการในภาพรวมและจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ อาจประสาน/แจ้งสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อพิจารณากำหนดให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดผลการปฏิบัติราชการ ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการต่อไป

(1.3) ชี้แจงทำความเข้าใจกับ อ.ก.พ. กระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร หน่วยงานการเจ้าหน้าที่ และข้าราชการทุกระดับ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญต่อการนำมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557 — 2561) ไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

(1.4) ติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557 — 2561) เป็นประจำทุกสิ้นปีงบประมาณ และรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคให้ ก.พ. คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แล้วแต่กรณี และ คปร. ทราบ

(2) ให้องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับส่วนราชการพิจารณาผ่อนคลายหรือปรับปรุงกฎระเบียบด้านการบริหารกำลังคน เพื่อให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการตามมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557 — 2561) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

(3) ให้ฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. สื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ ให้กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานในสังกัดองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลอื่นๆ รวมทั้งอาจจัดให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารและพัฒนากำลังคน เพื่อให้การควบคุมอัตรากำลังและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐมีความครอบคลุมและเกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น

(4) ให้ คปร. รายงานผลการดำเนินการตามมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557 — 2561) พร้อมปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อมาตรการสิ้นสุดลง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ