การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (DFQF)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 19, 2013 17:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอดังนี้

1. การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries L : LDCs) โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Dufy Free / Quota free : DFQF) รวมเป็นสินค้าทั้งสิ้น 6,998 รายการ คิดเป็นร้อยละ 73.21 ของรายการสินค้าทั้งหมด

2. มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนประกาศการดำเนินโครงการ DFQF ของไทยอย่างเป็นทางการ ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 3-6 ธันวาคม 2556 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อไป

3. แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันผลกระทบอันเนื่องจาก “การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา” เพื่อพิจารณาดำเนินการระงับสิทธิ การใช้มาตรการปกป้องภายใต้โครงการฯ การทบทวนมาตรการป้องกันผลกระทบ การทบทวนโครงการฯ และกำกับดูแลโครงการฯ ในภาพรวม โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังนี้

องค์ประกอบ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้า โดยมีผู้อำนวยการกองสิทธิประโยชน์ทางการค้า เป็นกรรมการและเลขานุการ

อำนาจหน้าที่

(1) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการระงับสิทธิพิเศษภายใต้โครงการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา รวมทั้งกำหนดมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อป้องกันผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการภายใน

(2) พิจารณาระงับสิทธิพิเศษภายใต้โครงการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตาเป็นรายประเทศหรือเฉพาะรายการสินค้าภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการระงับสิทธิพิเศษตาม (1) หรือกรณีตรวจพบความฉ้อฉลทางการค้าโดยการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้า หรือเหตุอื่นใด

(3) แจ้งผลการพิจารณาระงับสิทธิพิเศษตาม (2) แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

(4) เชิญส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อมูลข้อคิดเห็น ส่งเอกสารหลักฐาน รายงานผลการดำเนินงาน หรือให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการตามที่ได้รับการร้องขอ

(5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของคณะกรรมการตามความจำเป็นและเหมาะสม

(6) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาทบทวนโครงการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตาเมื่อครบตามระยะเวลาดำเนินโครงการที่กำหนดไว้ สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมคณะกรรมการ พ.ศ. 2547 โดยเบิกจ่ายจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ