การลงนามเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (The Arms Trade Treaty: ATT)

ข่าวการเมือง Wednesday November 12, 2014 15:05 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการลงนามเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (The Arms Trade Treaty: ATT)

2. อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแต่งตั้งผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม (Full Power) ในการลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ

สาระสำคัญของเรื่อง

สมช. รายงานว่า

1. สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (The Arms Trade Treaty: ATT) เกิดจากแนวคิดระหว่างประเทศในการกำหนดมาตรฐานที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการควบคุมการนำเข้า ส่งออก และการส่งผ่าน/ถ่ายลำอาวุธ โดยเริ่มต้นกระบวนการจัดทำสนธิสัญญาฯ ในกรอบสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2549 มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อจัดทำสนธิสัญญาฯ (Preparatory Committee: PrepCom) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 4 ครั้ง เพื่อนำไปสู่การประชุมสหประชาชาติเพื่อจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (2012 UN Conference on Arms Trade Treaty) แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อยุติได้เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมยังมีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับองค์ประกอบของร่างสนธิสัญญาฯ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อจัดทำสนธิสัญญาฯ จึงได้จัดให้มีการประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธครั้งสุดท้าย (Final UN Conference on the Arms Trade Treaty) ระหว่างวันที่ 18 – 28 มีนาคม 2556 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการให้ฉันทามติ โดยซีเรีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน ไม่ให้ความเห็นชอบ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้นำผลการประชุมเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 67 ต่อไป

2. สาระสำคัญหลักของสนธิสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เป็นการสร้างมาตรการและปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าอาวุธระหว่างประเทศ ป้องกันและลดจำนวนการค้าขายอาวุธที่ผิดกฎหมาย โดยมุ่งหวังให้เกิดสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพระหว่างประเทศและภูมิภาค ลดสาเหตุการทุกข์ทรมานของมนุษย์ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้อาวุธ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบระหว่างประเทศภาคีสมาชิกในการค้าขายอาวุธระหว่างประเทศ ด้วยการสร้างความมั่นใจระหว่างรัฐภาคี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ